xs
xsm
sm
md
lg

สป.เตรียมพร้อมรุก-รับยางพาราสู่เออีซี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการ - สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเวทีสัมมนาเตรียมความพร้อมมาตรการเชิงรุก-เชิงรับ สำหรับสินค้าเกษตรยางพาราสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เตือนรัฐบาลเร่งทำความชัดเจนเรื่องกฎหมายและภาษี หวั่นเปิดเสรีนำเข้ายางเพื่อเพิ่มมูลค่าการผลิตอาจกระทบต่อเกษตรชาวสวนยางของไทย

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานคณะทำงานเศรษฐกิจมหภาค การเงินการคลัง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) เปิดเผยภายหลังจากกการเป็นประธานจัดงานสัมมนา มาตรการเชิงรุก-เชิงรับ สำหรับสินค้าเกษตร (ยางพารา) เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ที่สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯ ว่า ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทย และเป็นผู้ผลิตส่งออกอันดับหนึ่งของโลก ทำรายได้เข้าประเทศประมาณ 678,000 ล้านบาท มีประชาชนเกี่ยวข้องกับยางพาราไม่น้อยกว่า 6 ล้านคน ดังนั้น ข้อตกลงใดๆ ที่มีผลกระทบต่อการผลิตการค้ายางพารา ย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจส่วนรวมของประเทศและประชาชนจำนวนมาก ดังนั้นจึงต้องศึกษา วิเคราะห์ผลกระทบ และหามาตรการต่างๆ เพื่อเตรียมรับมือ

นายอุทัย กล่าวว่า ไทยจะได้รับประโยชน์จากการเป็นประชาคมอาเซียนมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัว หากไทยสามารถปรับทันได้ก่อนย่อมสร้างความได้เปรียบ แต่หากไม่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่พ้น ซึ่งขณะนี้ประชากรส่วนใหญ่ของไทยประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม หากไม่ศึกษาวิเคราะห์เพื่อกำหนดมาตรการพัฒนาด้านการเกษตรที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ เราอาจเป็นฝ่ายเสียประโยชน์จากการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน

นายอุทัยกล่าวเพิ่มเติมว่า การมองประชาคมอาเซียนควรมองว่า AEC มีด้วยกัน 10ประเทศ เป็นตลาดใหญ่ในเอเชียรองจากประเทศจีน อินเดีย ถ้ามีการรวมกลุ่มที่เหนียวแน่นจะเป็นฐานอำนาจการต่อรองในการค้า ซึ่งสินค้ายางพาราหากมีการรวมตัวกันจะมีผลผลิตมากที่สุดในเอเซีย ดังนั้น AEC จึงเป็นโอกาสในการรวมตัวกันเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ตลาด และฐานการพัฒนาการเกษตรร่วมกัน รวมทั้งร่วมทำธุรกิจ หาพันธมิตร หาเพื่อนร่วมหุ้นโดยที่ประเทศไทยเราเป็นศูนย์กลาง

นอกจากนี้ ยังต้องหาทางลดปัญหาอุปสรรค ลดต้นทุน และต้องเพิ่มผลผลิต เพิ่มมูลค่าวัตถุดิบ เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีเรื่องยางไปแพ้มาเลเซีย แต่เราจะต้องร่วมมือกัน 10 ประเทศ เพื่อต่อรองราคา เราควรเป็นศูนย์กลางยางพาราโลก เพราะเราอยู่ตรงกลางระหว่างทะเลจีนใต้กับทะเลอันดามัน เราควรเสาะแสวงหาทางเพิ่มมูลค่าการผลิต เพราะเทคโนโลยีและฝีมือแรงงานของเราเหนือกว่าประเทศอื่นอยู่แล้ว

“เราควรเสริมจุดแข็ง ลดจุดอ่อนเรื่องสินค้ายางพาราโดยเฉพาะจุดแข็ง คือองค์ความรู้ ทักษะ คุณภาพสินค้าที่ผูกมัดใจผู้ซื้อ ส่วนจุดอ่อนต้นทุน การผลิต แรงงาน ขนส่ง การควบคุมมาตรฐานสินค้า เราต้องให้รัฐบาลสนับสนุน”

นอกจากนั้น การเตรียมความพร้อมสู่ AEC ที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งก็คือ เรื่องกฎหมาย หากเปิด AEC การส่งออกยาง จะเก็บภาษีในการส่งออกอะไรบ้าง ในเรื่องเงินภาษีเงิน CESS ต้องมีความชัดเจน ส่วนการนำเข้าวัตถุดิบ ต้องกำหนดขอบเขตให้ชัดเจนทั้งยางแผ่น ยางก้อนถ้วย และน้ำยางสด รวมถึงยางแท่งยางรมควัน จะอนุมัติให้นำเข้าหรือไม่อย่างไร และถ้าอนุมัตินำเข้าจะต้องมีภาษีหรือไม่ และหากลงทุนทำโรงงาน ทำสวนยางในประเทศไทยจะต้องกำหนดกฎเกณฑ์อย่างไร หรือแม้แต่ผู้ประกอบการยางในประเทศไทย ต้องการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น รัฐบาลจะสนับสนุนหรือไม่ ซึ่งมีข้อสังเกตว่า ถ้ามีการนำเข้ายางเพื่อเพิ่มมูลค่าแล้วเกษตรกรไทยจะได้รับผลกระทบ รัฐบาลจะต้องเตรียมความพร้อมในการแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น