xs
xsm
sm
md
lg

ก.อุตฯ ดัน 5 แนวทางหนุนอุตฯ อาหารรับมือภาวะผันผวนตลาดโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รมว.การกระทรวงอุตสาหกรรม
รมว.อุตสาหกรรมดัน 5 แนวทางส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารรับมือการเปลี่ยนแปลงของโลก ชี้มั่นใจประเทศไทยมีศักยภาพด้านอาหารสูงสุดในอาเซียน พร้อมผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าอาหารแปรรูป และศูนย์กลางในการวิจัย และพัฒนาอาหารครบวงจร โดยมีแผนที่จะดึง Hyper market เป็นตลาดสำรองกระจายสินค้าไปทั่วโลก

ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายในงานปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ยุทธศาสตร์ภาครัฐเพื่อผลักดันอุตสาหกรรมอาหารไทยก้าวสู่ผู้นำอาเซียน” ว่า การที่ประเทศไทยจะก้าวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงด้านอุตสาหกรรมอาหารของโลก ผู้ประกอบการจะต้องมีการปรับตัว โดยในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะที่เป็นหน่วยงานด้านส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหาร ได้เตรียมรับมือ และกำหนดทิศทางเพื่อก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกไว้ดังนี้ 1. ไทยจะเป็นประเทศที่นักลงทุนต่างชาติเข้ามาตั้งฐานการผลิตอาหารแปรรูปโดยใช้วัตถุดิบในประเทศไทย 2. แหล่งวิจัยและพัฒนาอาหารให้หลากหลายและรองรับความต้องการของผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม 3. มีการควบคุมมาตรฐานสินค้าทั้งระดับในประเทศและส่งออกเป็นมาตรฐานเดียว และเทียบเท่าระดับสากล 4. มีระบบตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของทุกองค์ประกอบที่นำมาผลิตสินค้าตั้งแต่วัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์ และทรัพยากรอื่นๆ 5. มีตราสัญลักษณ์รับรองอาหารปลอดภัยที่เป็นที่ยอมรับ

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังมีแผนที่จะประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคเลือกซื้ออาหารที่มีตราสัญลักษณ์รับรองอาหารปลอดภัย อีกทั้งยังส่งเสริมให้ผู้ประกอบการผลิตอาหารได้มาตรฐาน และให้ความสำคัญต่อระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งยังมีแผนกำหนดบทบาทของประเทศไทยสำหรับการพัฒนาเพื่อก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าอาหารแปรรูป และเป็นศูนย์กลางในการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารครบวงจรในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงการดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนร่วมกับผู้ประกอบการในประเทศ จ้างผลิตและส่งออกสินค้าอาหารโดยมี Hyper market เป็นตลาดสำรองในการกระจายสินค้าจากประเทศไทยไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก

“หากมองในภาพรวมของการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประเทศไทยถือว่ามีศักยภาพในหลายด้าน ทั้งการเป็นศูนย์กลางของระบบเศรษฐกิจของภูมิภาค เนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งของประเทศที่อยู่กึ่งกลางภูมิภาค และมีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านมากกว่าทุกประเทศใน AEC ระดับการพัฒนาเศรษฐกิจสูงกว่าประเทศส่วนใหญ่ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ คุณภาพของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ เงินบาทยังได้รับการยอมรับในการซื้อขายในหลายประเทศ อย่างไรก็ตาม อุปสรรคที่อาจทำให้ไทยไม่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่หรือเสียโอกาส คือ ขาดความรู้และความตระหนักถึงความสำคัญ ผลกระทบ และความจำเป็นในการเตรียมความพร้อม อุปสรรคอีกประการหนึ่งคือ ต้นทุนการทำธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนแรงงาน ต้นทุนด้านพลังงาน และต้นทุนลอจิสติกส์ การที่อาเซียนจะรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนคงมีผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ทั้งในด้านบวกและด้านลบ จึงทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องมีการเตรียมตัวรองรับควบคู่ไปกับการดำเนินการเชิงรุกเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากการรวมตัวนี้ให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะในเรื่องของการใช้โอกาสจากตลาดทุนในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร อันจะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้การดำเนินงานบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งนำมาสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ”
กำลังโหลดความคิดเห็น