สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรมจับมือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดเวทีเสวนา Top Executive Seminar for Food Sector “ตีแตก...จุดอ่อนอุตสาหกรรมอาหารไทยในตลาด AEC” ยันไทยมีศักยภาพเป็นศูนย์กลางระบบเศรษฐกิจในภูมิภาค ชี้ต้นทุนแรงงาน พลังงาน และลอจิสติกส์ยังเป็นอุปสรรคที่ต้องรีบปลดล็อก เตรียมดันไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าอาหารแปรรูป
ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม แสดงปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ยุทธศาสตร์ภาครัฐเพื่อผลักดันอุตสาหกรรมอาหารไทยก้าวสู่ผู้นำอาเซียน” ว่า ได้มีการกำหนดทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยเพื่อให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกไว้ดังนี้ 1) ไทยจะเป็นประเทศที่นักลงทุนต่างชาติเข้ามาตั้งฐานการผลิตอาหารแปรรูปโดยใช้วัตถุดิบในประเทศไทย 2) มีแหล่งวิจัยและพัฒนาอาหารให้หลากหลายและรองรับความต้องการของผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม 3) มีการควบคุมมาตรฐานสินค้าทั้งระดับในประเทศและส่งออกเป็นมาตรฐานเดียว และเทียบเท่าระดับสากล 4) มีระบบตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของทุกองค์ประกอบที่นำมาผลิตสินค้าตั้งแต่วัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์ และทรัพยากรอื่นๆ 5) มีตราสัญลักษณ์รับรองอาหารปลอดภัยที่เป็นที่ยอมรับ ขณะเดียวกันก็ผลักดันให้ผู้บริโภคเกิดค่านิยมในการเลือกซื้ออาหารที่มีตราสัญลักษณ์รับรองอาหารปลอดภัย และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ
ทั้งนี้ เพื่อให้ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยระยะยาว เป็นอุตสาหกรรมอาหารที่มีระบบการผลิตอย่างยั่งยืนภายในปี 2593 โดยเป็นระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งจะต้องมีการควบคุมคุณภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มและเพิ่มช่องทางการตลาด และมีการวางแผนในหลายระยะทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยจะผลักดันให้มีการกำหนดตำแหน่งบทบาทของประเทศไทยสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารในประชาคมอาเซียน โดยให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าอาหารแปรรูป และเป็นศูนย์กลางในการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารครบวงจรในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งจะเป็นแหล่งรวมนักวิจัยด้านอาหารที่ศึกษาวิจัยและพัฒนาสินค้าตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงการดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนร่วมกับผู้ประกอบการในประเทศจ้างผลิตและส่งออกสินค้าอาหาร โดยมี Hyper market เป็นตลาดสำรองในการกระจายสินค้าจากประเทศไทยไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก
นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การเปิด AEC ที่จะถึงในปี 2558 จะส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมอาหารไทยใน 2 ประเด็นใหญ่ๆ คือ 1) อุตสาหกรรมอาหารภายในประเทศไทยมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นจากการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ ทั้งนักลงทุนในและนอกภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพและปัจจัยดึงดูดการลงทุนที่เหนือกว่าประเทศคู่แข่งหลายด้าน เช่น ทำเลที่ตั้งเหมาะสม ตลาดที่มีขนาดใหญ่ กฎระเบียบ รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานอยู่ในเกณฑ์ดี ปัจจัยการผลิตมีศักยภาพ (แรงงาน วัตถุดิบ อุตสาหกรรมสนับสนุน) ต้นทุนทางธุรกิจที่ได้เปรียบประเทศอาเซียนจากการลดอัตราภาษีนิติบุคคลมาอยู่ในอัตราต่ำที่ 20% ในปี 2556 ซึ่งตลาดอาหารภายในประเทศจะมีการแข่งขันรุนแรงขึ้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเตรียมการรับมือ
ทั้งนี้ คาดว่าในช่วงที่จะเปิด AEC จะมีเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารของไทยรวมทั้งอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องเพิ่มขึ้นเกินกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี จากเดิมที่มีเม็ดเงินลงทุนเฉลี่ยกว่า 9,000 ล้านบาทต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และมีการจ้างงานเกือบ 6,000 คนต่อปี โดยการเข้ามาลงทุนของต่างชาติส่วนหนึ่งจะส่งผลทำให้การส่งออกอาหารของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งในตลาดอาเซียนและนอกอาเซียน โดยสถาบันอาหารคาดว่าการส่งออกอาหารของไทยในอีก 5 ปีข้างหน้า (ปี 2560) จะมีมูลค่า 1.6 ล้านล้านบาท โดยเป็นการส่งออกไปอาเซียนมูลค่า 388,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 24.3% เพิ่มขึ้นจาก 22.4% ในปี 2555
และ 2) อุตสาหกรรมอาหารไทยที่มีศักยภาพจะขยายการค้าการลงทุนไปสู่ประเทศอาเซียนเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ถือเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพจะเน้นเข้าไปลงทุนในต่างประเทศ (Outward Foreign Direct Investment : Outward FDI) โดยการตั้งโรงงานผลิตและจัดจำหน่ายเอง ในช่วงที่ผ่านมา Outward FDI ในธุรกิจอาหารยังมีไม่มากนัก โดยมีมูลค่าหลักร้อยล้านบาทหรือพันล้านบาทต่อปีเท่านั้น ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ผู้ประกอบการมักเข้าไปลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจน้ำตาล อาหารแปรรูป เกษตรและอาหารสัตว์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ภายใต้ AEC อุตสาหกรรมอาหารของไทยจะเข้าไปมีสัดส่วนในห่วงโซ่การผลิตระดับภูมิภาคและระดับโลกมากขึ้น นั่นหมายความว่า หากอุตสาหกรรมอาหารของอาเซียนเติบโต ไทยซึ่งเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานก็จะมีแนวโน้มเติบโตตามไปด้วย จากข้อมูลล่าสุดในปี 2553 อาเซียนส่งออกสินค้าอาหารไปยังตลาดโลกมูลค่า 93,000 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 9.2% ของมูลค่าการค้าอาหารโลก เพิ่มขึ้นจากสัดส่วนประมาณ 7% ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา