xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

รถไฟฟ้า 10 สาย วงเงินแสนล้านสะดุดไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- การประชุมคณะรัฐมนตรี วันก่อน “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธาน ก่อนที่รับทราบผลการดำเนินงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในปีงบประมาณ 2554 นโยบายของคณะกรรมการและโครงการและแผนงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยในอนาคต ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ

นายกฯคงเพิ่งรู้ว่า “รถไฟฟ้า”สายไหนเสร็จปีไหนบ้าง เช่น

1. โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ระยะทาง 23 กิโลเมตร เริ่มงานก่อสร้างเดือนพฤศจิกายน2552 กำหนดเปิดให้บริการเดือนตุลาคม 2558

2. โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ระยะทาง รวม 27 กิโลเมตร เริ่มงานก่อสร้างเดือนเมษายน 2554 กำหนดเปิดให้บริการเดือนธันวาคม 2559

3. โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต -สะพานใหม่ ระยะทางรวม 12 กิโลเมตร จะเริ่มก่อสร้างเดือนพฤษภาคม 2556 กำหนดเปิดให้บริการเดือนเมษายน 2560

4. โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทางรวม13 กิโลเมตร จะเริ่มก่อสร้างเดือนกุมภาพันธ์ 2555 กำหนดเปิดให้บริการเดือนเมษายน 2560

5. โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 36 กิโลเมตร จะดำเนินการคัดเลือกผู้รับเหมาและที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงาน โดยเริ่มก่อสร้างเดือนธันวาคม 2557 กำหนดเปิดให้บริการเดือนมีนาคม 2562

6. โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-มีนบุรี ระยะทาง 37.5 กิโลเมตร จะดำเนินการศึกษา ออกแบบ และประกวดราคา โดยเริ่มก่อสร้างเดือนมิถุนายน 2557 กำหนดเปิดให้บริการเดือนกุมภาพันธ์ 2562

7. โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 20 กิโลเมตร จะดำเนินการศึกษา ออกแบบและประกวดราคา โดยเริ่มก่อสร้างเดือนพฤศจิกายน 2557 กำหนดเกิดให้บริการเดือนมิถุนายน 2562

8. โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว -สำโรง ระยะทาง 31.9 กิโลเมตร จะดำเนินการศึกษาวิเคราะห์โครงการ โดยเริ่มก่อสร้างเดือนมีนาคม 2558 กำหนดเปิดให้บริการเดือนมิถุนายน 2562

ขณะเดียวกัน ยังอนุมัติปรับกรอบวงเงินลงทุนและจัดหาแหล่งเงินเพิ่มเติม สำหรับโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต ตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 4 (ฝ่ายเศรษฐกิจ) ซึ่งมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

โดยรับทราบสถานการณ์ดำเนินการประกวดราคาโครงการฯในสัญญาที่ 1-3โดยกิจการร่วมค้า STEC-UNIQ (SU) เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดในสัญญาที่ 1 (งานก่อสร้างงานโยธา สถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง)

วันเดียวกัน ยังเพิ่มกรอบวงเงินค่าก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต ของการรถไฟแห่งประเทศไทย สัญญา 1 (งานโยธาสำหรับสถานีกลางบางซื่อ และศูนย์ซ่อมบำรุง)

วงเงิน 29,826 ล้านบาท ซึ่งไม่เกิน 10% จากกรอบวงเงินเดิม 27,134 ล้านบาท ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ หลังจากกลุ่มกิจการร่วมค้า SU ซึ่งประกอบด้วย บมจ.ซิโนไทย-เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ซึ่งเสนอราคาต่ำสุดที่ 34,650 ล้านบาทยอมปรับลดราคาลง

ล่าช้ามากว่า 2 ปี เพราะ ร.ฟ.ท.ได้เปิดประกวดราคาสัญญา 1 รถไฟสายสีแดงตั้งแต่เดือนธันวาคม 2553

โดยผู้เสนอราคาต่ำสุดคือกลุ่ม SU แต่เกินกรอบวงเงิน จนล่าสุดเจราจาต่อรองเหลือ 29,826 ล้านบาท หรือลดลงประมาณ 4,800 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับระเบียบการจ้างที่ปรับวงเงินไม่เกิน 10%

ในขณะที่ ร.ฟ.ท.ได้ให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบังเข้ามาช่วยประเมินราคาค่าก่อสร้างก่อนยื่นซอง 28 วัน (เดือน พ.ย. 53) อยู่ที่ 29,828 ล้านบาท

เมื่อได้เงินได้งานความคืบหน้า ครม.ก็เลยเห็นชอบให้ย้ายคนให้โตขึ้น โดยเฉพาะตำแหน่งของ “นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์” ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ขึ้นเป็น รองปลัดกระทรวงคมนาคม ฝ่ายอำนวยการ
คนที่รับไม้ ดูแลรถไฟฟ้าแทน ก็ตกมาที่ อดีตรองผอ. สนข. “นายจุฬา สุขมานพ”ที่ถูกโยกไปเป็น ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ได้กลับนั่งเป็น “ผอ.สนข.”เต็มตัว ถือเป็นเจ้าพ่อระบบโลจิสติคส์ อีกคนหนึ่งในวงการ

อดีตผู้สื่อข่าวหนังสือ“สตาร์ ซอคเกอร์” คนนี้เป็นลูกหม้อของ สนข.ที่จับรถไฟฟ้า ตั้งแต่เป็น หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม

ดูฝีมือว่าจะมาปัดฝุ่นรถไฟฟ้าสิบกว่าสาย ให้เสร็จทันรัฐบาลชุดนี้ได้กี่สาย

อีกด้านที่ต้องจับตาและเกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในปีงบประมาณ 2554 และตามนโยบายของคณะกรรมการและโครงการและแผนงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยในอนาคต โดยตรง!

โดยเฉพาะกระบวนการสรรหา “ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)”คนใหม่ หลังจากก่อนหน้ามีข่าวว่า “ประภัตร จงสงวน”อดีตผู้ว่าสนข. สมาชิกพรรคเพื่อไทย และยังมีรายชื่อเป็นแคนิเดต ผู้สมัครผู้ว่ากทม. ของพรรคเพื่อไทย จะเข้ามาร่วมสมัคร แต่ก็พับฐานไป เพราะตำแหน่งผู้ว่า กทม. น่าสนใจกว่า ผู้ว่า รฟม.เยอะนั้นเอง

ล่าสุดคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการ รฟม.ที่มี “นายถวัลย์รัฐ อ่อนศิระ” กรรมการบอร์ด และอดีตอธิบดีกรมเจ้าท่า(จท.) เป็นประธาน ได้ชงผลการสรรหาผู้ว่าการ รฟม.คนใหม่ ให้คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ที่มีนางสาวรัชนี ตรีพิพัฒน์กุล ประธานแล้ว

โดยผู้ที่ได้รับคะแนนอันดับ 1 คือ นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีวิชัยกุล อดีตผู้บริหารบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด(มหาชน) หรือที่เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) อันดับ 2 คือ นายรณชิต แย้มสอาด ที่ปรึกษา รฟม.และอดีตรักษาการผู้ว่าการ รฟม. และอันดับ 3 คือ นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ซึ่งภายหลังนำเสนอบอร์ดพิจารณาแล้วก็ขึ้นอยู่กับว่าบอร์ดจะพิจารณาแต่งตั้งใครให้เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ รฟม.คนใหม่

แต่ใครว่าจะแบร์เบอร์ไฟเขียวให้ “อดีตผู้บริหารบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด(มหาชน)” และแว่วๆว่าใกล้ชิดตระกูลผู้นำประเทศเข้ามานั่งได้ แว่วว่า ขณะนี้ มีการขอให้ตรวจสอบคุณสมบัตินายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีวิชัยกุล ต่อ “นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแล้ว

ข้อหาที่มีการร้องเรียน คือ “เนื่องจากอาจจะไม่เคยดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารสูงสุดในองค์กร ซึ่งไม่เป็นไปตามตามประกาศสรรหาของ รฟม. ข้อ 3.2.1”

จากรายงานข่าวพบว่า จากการตรวจสอบแบบแสดงรายการของมูลประจำปีของ บ.ชินแซทเทิลไลท์และ บ.ไทยคมที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และคำนิยามได้ระบุถึงโครงสร้างผู้บริหารสูงสุดว่า คือ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ต่อมาคือ กรรมการผู้อำนวยการ ส่วนนายยงสิทธิ์วางเป็นผู้บริหารลำดับ 4 ซึ่งการยื่นให้มีการตรวจสอบเพื่อให้เกิดความชัดเจนและเป็นการพิทักษ์สิทธิ์ของผู้สมัครทุกราย
เรื่องกระบวนการสรรหา ผู้ว่า รฟม.คนใหม่ ก็ยังคาราคาซังอยู่ที่ “กระทรวงคมนาคม”ต่อไป

ความคืบหน้ารถไฟฟ้าทั้งใหม่ ทั้งเก่าคืบมาได้ส่วนหนึ่ง ในส่วนข้าราชการก็ได้ผอ.สนข.คนใหม่แล้ว แต่ผู้ว่ารฟม. ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญยังไม่ได้ตัว เชื่อว่ากระบวนการภาครัฐ และกำลังภายในนอกประเทศ ต้องผลักดัน ให้ได้ในเร็วๆนี้แน่

เพราะ “โครงการและแผนงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยในอนาคต”ถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย

โครงการที่เร่งด่วน อย่างโครงการรถไฟฟ้า 10 สาย วงเงินกว่าแสนล้านบาท จะสะดุดเพราะแค่เรื่องจิ๊บๆไม่ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น