ตาก - สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระดมทุกภาคส่วนจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองคู่แฝด ไทยกับ สปป.ลาว-พม่า และกัมพูชา
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในการพัฒนาอุตสาหกรรม ได้ระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมสัมมนาจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่เมืองคู่แฝด ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่โรงแรมเซ็นทาราแม่สอดฮิลล์รีสอร์ท อ.แม่สอด จ.ตาก โดยมีนายวุฒิ สิทธิสุราษฎร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานฯ พร้อมด้วยตัวแทนจากจุฬาลงกรมหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, กรมโยธาและผังเมือง, การนิคมแห่งประเทศไทย, สำนักงานส่งเสริมการลงทุน, สภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก, หอการค้าจังหวัดตาก ผู้ประกอบการในพื้นที่อำเภอแม่สอด หัวหน้าส่วนราชการ และภาคเอกชน เข้าร่วมคับคั่ง
น.ส.วรรณา ทองเจริญศิริกุล ผู้อำนวยการส่วนยุทธศาสตร์ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เพื่อให้ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่เมืองคู่แฝด ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ให้สอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลก เตรียมรับมือกับสภาวะผันผวนจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ และวางรากฐานการเจริญเติบโตที่มั่นคงยั่งยืน จึงต้องศึกษาสถานภาพ ตลอดจนปัญหา อุปสรรค ผลกระทบในด้านต่างๆ
รวมทั้งผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานโครงการเมืองคู่แฝด ตามแนวทางการพัฒนาเมืองเศรษฐกิจชายแดนต้นแบบ ที่มีการเสนอโดยภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ด้าน ดร.วิโรจน์ มโนพิโมกข์ คณบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี หัวหน้าโครงการร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมกับเมืองคู่แฝดอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กับเมืองเมียวดี สาธารณรัฐสหภาพเมียนมาร์ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจทั้ง กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และไทย 5 ประเทศ ได้ลงนามร่วมกันเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2546 ณ เมืองพุกาม เพื่อร่วมกันลดช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิก และยังเป็นการส่งเสริมความเจริญอย่างยั่งยืนในอนุภูมิภาค
โครงการเมืองคู่แฝดเป็นหนึ่งในโครงการที่กำหนดขึ้นเพื่อยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป้าหมายคือ เชื่อมโยงธุรกิจ บริการ การค้า ธุรกรรมการเงิน ขนส่ง ตลาดกลางสินค้าเกษตรร่วม รวมไปถึงเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว เขตประกอบการอุตสาหกรรม เขตการผลิตร่วม เน้นอุตสาหกรรมใช้แรงงาน และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน เพื่อสร้างความเข้มข้นในการประสานงานในโครงการความร่วมมือระหว่างกัน ให้เป็นไปโดยราบรื่น
“เมืองคู่แฝด ถือเป็นกลไกสำคัญในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาพื้นที่ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ให้เป็นเมืองเชื่อมโยงการพัฒนาระหว่างกัน โดยเป็นรากฐานการผลิตด้านอุตสาหกรรม การค้า การลงทุน สนับสนุนการย้ายฐานการผลิตด้านอุตสาหกรรมจากประเทศไทย ไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้อุตสาหกรรมภูมิภาคของไทย” ดร.วิโรจน์กล่าว