xs
xsm
sm
md
lg

นักผังเมืองชี้รัฐไม่หยุดรุกล้ำชุมชน กำหนดพื้นที่เกษตร จ.ชุมพร เป็นแหล่งรองรับโรงไฟฟ้า-อุตสาหกรรมหนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - คนละแมรำลึก 2 ปีไล่ กฟผ. นักวิชาการผังเมืองเผยรัฐยังไม่หยุดรุกล้ำวิถีชุมชน กรมโยธาธิการและผังเมืองกำหนดให้ จ.ชุมพร เป็นพื้นที่รองรับเมกะโปรเจกต์ แปรพื้นที่สีเขียวซึ่งเป็นแหล่งอาหาร และพืชผลการเกษตร เป็นอุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมปิโตรเคมี โรงไฟฟ้า

เมื่อช่วงเช้าวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่ศาลาประชาคมอำเภอละแม อำเภอละแม จังหวัดชุมพร สมาคมประชาสังคมจังหวัดชุมพร ร่วมกับเครือข่ายรักษ์ละแม จัดเวทีร่วมสร้างละแมน่าอยู่ : แลกเปลี่ยนเรียนรู้ของดีๆ ที่ละแม “ครบ 2 ปี การตื่นรู้ฐานทรัพยากรและพลังงาน” โดยมีส่วนราชการ นักวิชาการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นักศึกษา และชาวบ้านในอำเภอละแม และใกล้เคียง เข้าร่วมประมาณ 150 คน
นายวิเวก อมตเวทย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายรักษ์ละแม
นายวิเวก อมตเวทย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายรักษ์ละแม ชี้แจงว่า เครือข่ายรักษ์ละแม และภาคีเครือข่ายต่างๆ ต้องการรำลึกครบรอบ 2 ปีของการต่อสู้กับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่มีแผนสร้างในอำเภอละแม โดยเหตุการณ์คุกรุ่นเมื่อปี 2553 จนชาวบ้านรวมตัวกันจัดเวทีใหญ่ทำสัญญาประชาคม และสามารถไล่เจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้สำเร็จ

“ทั้งนี้ เพื่อสร้างการเรียนรู้เรื่องดีๆ ของอำเภอละแม ร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งส่วนราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ละแมน่าอยู่ พร้อมรับมือกับการเปิดประชาคมอาเซียนในปี 2558 ส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่มีอาชีพมั่นคง สุขภาพดี มีการศึกษาดี สิ่งแวดล้อมดี อยู่ในสังคมสงบสุข พร้อมกระตุ้นจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม ขับเคลื่อนสอดคล้องไปกับสถาบันครอบครัว ศาสนา สถาบันการศึกษา พลังชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) อาสาสมัคร และสื่อมวลชน ภายใต้บริบทของการบริหารจัดการชุมชนท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วม การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การดูแลสุขภาพ เกษตรยั่งยืน การเรียนรู้เพื่อเด็กและเยาวชน เศรษฐกิจชุมชน ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมท้องถิ่น และแนวทางเพื่อสร้างละแมน่าอยู่” นายวิเวกกล่าว
นางสาวภารนี สวัสดิรักษ์ นักผังเมืองอิสระ เครือข่ายผังเมืองเพื่อสังคม
น.ส.ภารนี สวัสดิรักษ์ นักผังเมืองอิสระ เครือข่ายผังเมืองเพื่อสังคม ชี้แจงว่า จังหวัดชุมพรถูกกรมโยธาธิการและผังเมือง กำหนดทั้งในผังประเทศ 2600 ผังเมืองรวมอนุภูมิภาคอ่าวไทย ผังเมืองรวมจังหวัดชุมพร ผังเมืองรวมเมืองหลังสวน โดยในผังประเทศ 2600 ระบุว่า อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กครบวงจร มีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง มีท่าเรือน้ำลึก และถนนเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดชุมพร ฝั่งอ่าวไทย กับจังหวัดระนอง ฝั่งทะเลอันดามัน

ทั้งนี้ ร่างผังเมืองรวมจังหวัดชุมพร พ.ศ. ... ซึ่งอยู่ในขั้นตอนเตรียมประกาศใช้ในพระราชกฤษฎีกา ระบุเอกสารแนบท้ายว่า พื้นที่สีเขียว (พื้นที่เกษตรกรรมในจังหวัดชุมพร) สามารถพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมปิโตรเคมี โรงไฟฟ้าได้ อีกทั้งผังเมืองรวมเมืองหลังสวน ผังเมืองรวมชุมชนปากน้ำหลังสวน ผังเมืองรวมเมืองชุมพร ก็หมดอายุ ซึ่งอาจถูกลักไก่ก่อสร้างโรงไฟฟ้า หรืออุตสาหกรรมเหล็กก็ได้

“เอกสารแนบท้าย ร่างผังเมืองรวมจังหวัดชุมพร พ.ศ. ... ระบุว่า ลำดับที่ 49 โรงงานกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม โรงงานจำพวกที่ 3 สามารถสร้างในที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม พื้นที่อนุรักษ์และเกษตรกรรม ลำดับที่ 59 โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการถลุงเหล็ก ผลิตเหล็ก หรือเหล็กกล้าในขั้นต้น โรงงานจำพวกที่ 3 สามารถสร้างในที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม พื้นที่อนุรักษ์และเกษตรกรรม ลำดับที่ 88 โรงงานผลิต ส่ง หรือจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า โรงงานจำพวกที่ 3 สามารถสร้างในที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม พื้นที่อนุรักษ์และเกษตรกรรม และลำดับที่ 89 โรงงานผลิตก๊าซ ซึ่งมิใช่ก๊าซธรรมชาติ ส่ง หรือจำหน่ายก๊าซ โรงงานจำพวกที่ 3 สามารถสร้างในที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม พื้นที่อนุรักษ์และเกษตรกรรม” น.ส.ภารนี สวัสดิรักษ์ นักผังเมืองอิสระ กล่าว


รายงานโดย ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ ศูนย์สื่อสังคมภาคใต้
ภาพประกอบโดย อริสมันต์ ยูโซะ

กำลังโหลดความคิดเห็น