สสปน.ประเดิมใช้พื้นที่ศูนย์ประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติฯเชียงใหม่ จัด “ไมซ์ซัมมิต” ก่อนเปิดเป็นทางการต้นปีหน้ารับ Year of MICE ปี 2556 พร้อมร่วมเมืองเชียงใหม่ หน่วยงานในพื้นที่ร่างแผนยุทธศาสตร์ไมซ์ร่วมกัน ด้านทิก้าติงการใช้ข้อมูลโครงสร้างศูนย์ในเชิงลึกยังมีน้อย ออแกไนซ์ทำงานยาก
นายธงชัย ศรีดามา กรรมการปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. กล่าวว่า ในปลายเดือน พ.ย.ศกนี้ สสปน.เตรียมร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ และองค์กรภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องจัดงาน “ไมซ์ซัมมิต” โดยจะจัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นการซอฟต์โอเพนนิ่งศูนย์ประชุมในคราวเดียวกัน
ในการประชุมครั้งนี้ประเด็นหลักคือ ร่วมกันจัดทำเวิร์กชอปเพื่อให้ทุกภาคส่วนได้เตรียมความพร้อมสู่การเป็นนครแห่งไมซ์ และการเข้าสู่โครงการ Year of MICE ปี 2556 ตามนโยบายที่รัฐบาลประกาศไว้ เป้าหมายคือ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะสามารถดำเนินการและบริหารจัดการกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับไมซ์ได้ทั้งหมด โดยไม่จำเป็นต้องนำบุคลากรมาจากกรุงเทพฯ นอกจากนั้น สสปน.จะต้องร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ศูนย์ประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งจะเริ่มเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเต็มรูปแบบได้ในต้นปีหน้าแน่นอน
รูปแบบการทำงานจากนี้ไป ในส่วนของ สสปน.จะร่วมกับเมืองเชียงใหม่ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จังหวัดเชียงใหม่ นำข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนและผู้ที่เกี่ยวข้องมาจัดทำร่างแผนแม่บทการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้โครงการพัฒนาภาคไมซ์สู่สากลของจังหวัดเชียงใหม่ ผ่านกลยุทธ์ 4 ด้านหลัก ได้แก่ การบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ การปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐาน การปรับปรุงระบบการขนส่งคมนาคม และการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการและบุคคลากรในอุตสาหกรรมไมซ์
**ศูนย์ประชุมฯ ดันไมซ์เชียงใหม่โต 15%****
อย่างไรก็ตาม การเปิดบริการของศูนย์ประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติฯ และ นโยบายผลักดันเชียงใหม่เป็นนครแห่งไมซ์ จะส่งเสริมให้อุตสาหกรรมไมซ์ของเชียงใหม่เติบโตมากกว่าปกติที่จะโตเฉลี่ยปีละ 7-10% ก็จะเติบโตเป็นปีละไม่น้อยกว่า 10-15% จากปี 2554 เชียงใหม่มีการจัดงานด้านไมซ์จำนวน 427 ครั้ง มีจำนวนนักเดินทางกว่า 6 หมื่นคน สร้างรายได้คิดเป็นมูลค่ากว่า 3.35 พันล้านบาท แบ่งเป็น กลุ่มไมซ์ในประเทศกว่า 1.9 หมื่นคน มูลค่ากว่า 82 ล้านบาท นักเดินทางไมซ์จากต่างประเทศกว่า 4.07 หมื่นคน สร้างรายได้กว่า 3.27 พันล้านบาท
***ใช้งานโลคัลประเดิมปีแรก****
ทางด้านนายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมตลาดในประเทศ สสปน. กล่าวว่า ในปี 2556 นอกจากการมาร่วมทำงานกับคณะทำงานด้านไมซ์ของเชียงใหม่ เพื่อผลักดันให้เป็นนครแห่งไมซ์ในด้านการส่งเสริมการจัดงาน ได้เตรียมประสานไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อติดต่อให้เดินทางมาจัดประชุมที่เมืองเชียงใหม่ ซึ่งแต่ละครั้งจะมีผู้เข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 1-1.6 หมื่นคน นอกจากนั้นยังวางแผนกับผู้จัดงานเอ็กซโป เช่น มอเตอร์โชว์ และงานหัตถกรรมต่างๆ มาจัดแสดงที่เชียงใหม่เช่นกัน เบื้องต้นคาดว่าจะมีงานใหญ่ในปีหน้าไม่น้อยกว่า 4 งาน นอกจากนั้น ในส่วนของฝ่ายอุตสาหกรรมการประชุมของ สสปน. ยังเชิญชวนผู้ซื้อ ซึ่งเป็นตัวแทนจากสมาคมต่างๆ เป็นสมาชิกของสมาคมระดับโลก อย่างเช่น สมาคมแพทย์แผนต่างๆ มาร่วมชมพื้นที่จริงของศูนย์ประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติฯ เพื่อจะได้ไปนำเสนอให้ประเทศไทยและใช้พื้นที่ของศูนย์ประชุมแห่งนี้ในการจัดประชุมสมาชิกจากทั่วโลก
***ทิก้าชี้ข้อมูลศูนย์ยังไม่ลึก****
ทางด้านนางสุกัญญา จันทร์ชู อุปนายกสมาคมส่งเสริมการจัดประชุมนานาชาติ(ไทย) หรือทิก้า กล่าวว่า การเปิดศูนย์ประชุมนานาชาติฯ เชียงใหม่ที่ล่าช้าไปกว่า 1 ปี ประกอบกับที่ถึงขณะนี้ยังไม่มีแผนการทำตลาดที่ชัดเจนและยังไม่ได้เริ่มทำการตลาดย่อมทำให้เสียโอกาสทางการตลาดไปมากพอสมควร เพราะการวางแผนจัดงานระดับใหญ่ผู้จัดต้องเตรียมการล่วงหน้านาน 2 ปีขึ้นไป ทำให้เบื้องต้นคงดึงงานได้แต่ งานประชุม แต่ก็ยอมรับว่าหากเป็นการประชุมระดับสมาคมที่มีเครือข่ายสมาชิกทั่วโลก ก็ย่อมเป็นการประชุมระดับนานาชาติได้
อย่างไรก็ตาม จากการนำเสนอข้อมูลของศูนย์ประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติฯ ถึงวันนี้ยังเป็นการนำเสนอข้อมูลโดยผิวเผิน เช่น ฟังก์ชันของแต่ละห้องประชุม พื้นที่ใช้สอย เป็นต้น อาจทำให้ออแกไนซ์ต้องทำงานลำบากขึ้น เพราะในความเป็นจริงผู้จัดงานหรือผู้ขายต้องการรู้ข้อมูลลึกกว่านี้ เช่น ความสามารถในการรองรับน้ำหนักต่อตารางเมตรของศูนย์ และสิ่งอำนวยความสะดวก เป็นต้น เพราะการจัดเอ็กซิบิชันบางงานต้องมีการแสดงสินค้าที่มีน้ำหนักมาก มีการขนย้าย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันศูนย์ประชุมและนิทรรศการที่มีอยู่แล้วในเชียงใหม่เพียงพอต่อความต้องการ แม้จะมีการจัดงานขนาดใหญ่ 1-2 พันคนก็รองรับได้ แต่การมีศูนย์ประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติฯ เกิดขึ้นจะช่วยเติมเต็มซัปพลายที่มีอยู่ และเป็นการเตรียมเพื่อการขยายตัวของตลาดในอนาคต 2-3 ปีข้างหน้ารองรับกลุ่มประเทศ GMS, BIMSTEC และ AEC