“ศูนย์วิจัยกสิกร” ชี้ปัญหาวิกฤตอุทกภัยไม่ควรเกิดซ้ำซาก เพราะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น และภาคการผลิต เตือนระวังอุตฯ รถยนต์ หากเจอปัญหาอีกครั้ง กระทบ “ส่งออก” เสียแชมป์ยอดขายสูงสุด ทำให้ปัญหาเรื่องการส่งมอบรถล่าช้าที่ยังสะสมอยู่ทวีความรุนแรงขึ้น
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวถึงผลกระทบวิกฤตอุทกภัยต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ของไทย โดยระบุว่า ปัญหาน้ำท่วมทั้งปีนี้และในระยะข้างหน้า แม้ภาครัฐและหลายฝ่ายจะมองว่าผลกระทบในปีนี้จะไม่รุนแรงมากเช่นปีที่ผ่านมา แต่หากเกิดซ้ำกันหลายครั้ง และส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตรถยนต์ในประเทศ ย่อมส่งผลเสียต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติอย่างไม่อาจเลี่ยง โดยเฉพาะช่วงที่กระแสการย้ายฐานการผลิตเพื่อหาแหล่งผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนที่เหมาะสมตอบสนองต่อตลาดอาเซียนที่กำลังจะเปิดเสรีเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
แม้ว่าในช่วงโค้งสุดท้าย (ไตรมาสที่ 4) ของตลาดรถยนต์ในประเทศปี 2555 จะมีปัจจัยบวกมากมายที่จะช่วยให้ตลาดเติบโตต่อเนื่องได้ดี เช่น ผลของนโยบายรถยนต์คันแรก การกระตุ้นตลาดของค่ายรถด้วยการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ๆ รวมถึงการทำไมเนอร์เชนจ์ในรถยนต์รุ่นต่างๆ การเร่งกำลังการผลิตเพื่อส่งมอบรถยนต์และอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อรถยนต์ที่ยังคงรักษาระดับต่ำ เป็นต้น จะส่งผลให้ตลาดรถยนต์ไทยปีนี้สามารถทำสถิติยอดขายสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ 1.32-1.37 ล้านคัน ขยายตัวร้อยละ 66-72
ทั้งนี้ ปัญหาน้ำท่วมก็ยังเป็นเรื่องที่ยังคงต้องเป็นกังวลจากสภาวะปัจจุบันที่มีปัญหาน้ำท่วมเกิดขึ้นแล้ว ในหลายพื้นที่และฤดูมรสุมของไทยก็ยังไม่ผ่านพ้นไป โดยในกรณีเลวร้ายที่สุด หากเกิดปัญหาน้ำท่วม เช่นปีที่แล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าอาจจะส่งผลต่อยอดขายรถยนต์ในประเทศของไทย ทำให้ลดลงเหลือเพียงประมาณ 1.15 ล้านคัน หรือเหลือขยายตัวเพียงร้อยละ 45 สำหรับกรณีนี้อาจเกิดขึ้นได้ยาก จากการเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
ส่วนทิศทางตลาดรถยนต์ไทยปี 2556 นั้น คาดว่าจะยังคงได้รับปัจจัยหนุนเช่นเดิมต่อเนื่องจากปีนี้ โดยเฉพาะการทยอยส่งมอบรถยนต์ที่มีการสั่งจองระหว่างปี 2555 และยังคงค้างส่ง จากทั้งกำลังการผลิตรถยนต์ที่ไม่สามารถตอบสนองต่อตลาดได้ทัน และจากนโยบายรถยนต์คันแรกที่อนุมัติให้จองได้จนถึงสิ้นปี 2555
อย่างไรก็ตาม หากเกิดปัญหาน้ำท่วมปีนี้อีกคาดว่าน่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์โดยรวม ทำให้ปัญหาเรื่องการส่งมอบรถล่าช้าที่ยังสะสมอยู่ทวีความรุนแรงขึ้น แต่การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมน่าจะดำเนินไปได้อย่างรวดเร็วกว่าที่ผ่านมา เนื่องจากภาคเอกชนมีการตระหนักและเตรียมแผนรับมือกับปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวแล้ว
นอกจากนี้ อัตราภาษีต่างๆ ก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องให้ความสนใจ ซึ่งปัจจุบันโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ที่กำหนดให้เก็บตามค่าการปล่อยควันเสียและความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงที่เป็นที่ถกเถียงกันอยู่นี้
โดยหลักการแล้วต่างก็เห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยน เพื่อให้เข้ากับทิศทางการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมรถยนต์โลกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงานมากขึ้น เนื่องจากไทยนอกจากจะผลิตรถยนต์เพื่อขายในประเทศแล้ว ในอนาคตสัดส่วนการส่งออกรถยนต์จะต้องเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องมีการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ภายในประเทศ เพื่อให้ตอบรับต่อตลาดโลกมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อทั้งอุตสาหกรรมโดยรวมมากอาจจำเป็นต้องให้เวลาผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องระยะหนึ่ง ซึ่งจะเป็นระยะเวลาเท่าไรนั้น ภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะต้องร่วมหารือกัน