โดย...ไม้ เมืองขม
สถานการณ์ความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ความสำเร็จ หรือความล้มเหลวของ กอ.รมน.ในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา วัดได้ชัดเจนจากเหตุการณ์เมื่อวันศุกร์ที่ 28 กันยายน ที่ผ่านพ้น ซึ่งในวันนั้นแม้จะไม่มี “คาร์บอมบ์” เกิดขึ้นในพื้นที่ แต่การที่ผู้คนโดยเฉพาะแม่ค้า พ่อค้า เจ้าของร้าน เจ้าของธุรกิจ รวมถึงผู้ประกอบการรถโดยสาร จำนวนกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ในพื้นที่ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ต่างปิดร้าน หยุดเดินรถ หยุดการค้าขาย และการทำมาหากิน หลังจากที่มีการปล่อยข่าวข่มขู่จาก “แนวร่วม” ขบวนการบีอาร์เอ็นโคออดิเนตให้หยุดการค้าขาย และกิจการอื่นๆ ในวันศุกร์ และใครที่ไม่เชื่อฟัง ให้ดูจาก “คาร์บอมบ์” ที่ตลาดเทศบาลตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เมื่อวันศุกร์ที่ 21 กันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งในวันนั้น มีผู้เสียชีวิต 6 ราย บาดเจ็บอีก 50 กว่าราย ที่เกิดจาก “คาร์บอมบ์” ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความล้มเหลวของอำนาจรัฐ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยข้อเท็จจริง เรื่องในทำนองนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2552 ในครั้งนั้นมีการปล่อยข่าวจาก “แนวร่วม” ให้ผู้ที่เป็น “มุสลิม” หยุดงานในวันศุกร์ หากใครไม่เชื่อฟังจะมีการ “ตัดหู” เพื่อเป็นการลงโทษ ซึ่งในครั้งนั้น ผู้คนในพื้นที่ 3 จังหวัดก็หวาดผวาอย่างหนัก และมีการหยุดกิจการต่างๆ ในทุกวันศุกร์เป็นเวลาหลายเดือน ก่อนที่เหตุการณ์จะคลี่คลายสู่ปกติ คือ เมื่อไม่เห็นใครถูก “ตัดหู” ตามคำขู่ ก็เลิกหวาดกลัวไปเอง และกลับมาทำมาค้าขายกันตามปกติ
เหตุการณ์หยุดงาน “วันศุกร์” ที่ “แนวร่วม” ใช้ในการข่มขู่ผู้เป็น “มุสลิม” ในพื้นที่ในครั้งนี้ มิใช่เพียง “มุสลิม” เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่ “ไทยพุทธ” ที่ทำมาค้าขายอยู่ในพื้นที่ต่างได้รับผลกระทบ และหวาดกลัว จนส่วนมากต้องหยุดทำมาหากินเช่นกัน เพราะทุกคนไม่มั่นใจว่าหากทำมาหากินตามปกติจะถูกฆ่า หรือถูกยิงถล่มร้านค้า หรือจะมีการ “คาร์บอมบ์” อย่างที่เกิดขึ้นที่ตลาดตะลุบัน อ.สายบุรี หรือไม่ ดังนั้น ผู้คนจำนวนมากจึงยอมรับการข่มขู่ด้วยการยอมที่จะทำตามคำขู่ไว้ก่อน เพื่อรักษาชีวิต และทรัพย์สินเอาไว้
แน่นอน ความสำเร็จ หรือชัยชนะเหนือมวลชนของ “บีอาร์เอ็นฯ” ด้วยการใช้วิธีการข่มขู่ หรือกรรโชกไม่ใช่ชัยชนะที่ถาวร เพราะมวลชนส่วนใหญ่ที่ยอมทำตามคำขู่เพราะ “กลัว” มากเพราะเชื่อฟัง หรือเห็นด้วย แต่การที่มวลชนส่วนใหญ่กลัวและยินยอมทำตามคำสั่งที่ไม่มี “ตัวตน” ยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงความล้มเหลวของอำนาจรัฐในพื้นที่ และเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้ความคุ้มครองประชาชนไม่ได้
วันนี้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีอัตราเจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย รักษาความปลอดภัยให้แก่ประชาชนในอัตรา 1 ต่อ 8 หมายถึง เจ้าหน้าที่ 1 คน ดูแลประชาชน 8 คน แต่ยังไม่สามารถที่จะให้ประชาชนเชื่อมั่นในอำนาจรัฐได้ ในขณะที่ “กองโจร” มีเพียงหยิบมือเดียวตามที่กองทัพกล่าวอ้าง แต่ยังไม่สามารถที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนได้ รวมทั้งหลังจากการถูกข่มขู่จาก “แนวร่วม” ติดต่อกันมาถึง 3 สัปดาห์ การทำความเข้าใจกับประชาชนของ กอ.รมน. ยังถูกเมินจากประชาชน แสดงให้เห็นว่า นโยบายของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยังเข้าไม่ถึงประชาชน
ดังนั้น กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้องกลับไปทบทวนหาวิธีการอื่นๆ เพื่อให้สร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนให้ได้ มิฉะนั้นแล้ว ประชาชนจะตกอยู่ภายใต้การชี้นำ และสั่งการจาก “บีอาร์เอ็นฯ” ไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่เป็นผลดีกับการแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ก็ไม่มีทางชนะทางด้านมวลชน
สิ่งที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้องเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วนคือ การสร้างความเชื่อมั่นในอำนาจรัฐให้เกิดขึ้นแก่คนในพื้นที่ ต้องดึงผู้นำศาสนาให้เข้ามามีส่วนร่วมในการอธิบายความของการหยุดงานวันศุกร์ใน “มิติ” ของศาสนาให้ประชาชนเข้าใจอย่างถ่องแท้ อย่าให้ “แนวร่วม” นำหลักคำสอนของศาสนามา “บิดเบือน” เพื่อสร้างเหตุผลใหม่ และในด้านยุทธการ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้องมียุทธวิธีป้องกันเหตุร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นตามคำขู่กรรโชกของ “แนวร่วม” ให้ได้ เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจต่อเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ และต่ออำนาจรัฐที่จะต้องเหนือกว่าอำนาจของ “แนวร่วม”
และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า อย่าได้มีแนวคิดว่ายิ่ง “แนวร่วม” สร้างความเดือดร้อนให้คนทุกภาคส่วน และยิ่ง “แนวร่วม” ฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์มากเท่าไหร่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จะชนะทาง “ยุทธศาสตร์” เพราะหลักคิดอย่างนี้ใช้ได้ในพื้นที่อื่นๆ เช่น สงขลา พัทลุง ตรัง แต่ใช่ไม่ได้กับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะไม่สามารถแปรความโกรธ เกลียดให้กลายเป็นแค้น เพื่อให้ประชาชนหันมาร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ หรือลุกขึ้นมาต่อสู้กับ “แนวร่วม” ในพื้นที่อย่างที่หลายฝ่ายต้องการ เพราะภายในการโกรธเกลียดนั้น คนใน 3 จังหวัดมีความกลัวที่มากกว่า ดังนั้น คนเหล่านี้จึงยอมรับการข่มขู่ และการสั่งการของ “แนวร่วม” มาโดยตลอด เพราะมีความกลัวเป็นที่ตั้ง
แน่นอนว่า นโยบาย “พาคนกลับบ้าน” ของ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการนำ “แนวร่วม” ส่วนหนึ่งที่ต้องการยุติการเป็น “แนวร่วม” ได้กลับบ้าน แต่ก็ต้องพิจารณาว่า “แนวร่วม” เหล่านั้นคือกำลังพล “เสื่อม” ของ “บีอาร์เอ็น” หรือไม่ เพราะถ้าเป็นพวกกำลังพลเสื่อม “บีอาร์เอ็นฯ” คงจะดีใจด้วยซ้ำที่ไม่ต้องดูแลคนเหล่านั้น และสามารถให้กลับสู่บ้านเกิดอย่างปลอดภัย และก็ยังเชื่อไม่ได้ว่าในจำนวนทั้งหมดจะไม่มี “สปาย” แอบแฝงอยู่หรือไม่
แต่สิ่งที่ กอ.รมน. ยังทำไม่สำเร็จคือ การนำเอา “แนวร่วม” ที่เป็นคนอายุระหว่าง 20-30 ปี ที่ถูก “บ่มเพาะ” เป็นรุ่นๆ เป็นผู้ก่อการร้ายรุ่นใหม่ออกมามอบตัว และยังทำไม่สำเร็จคือ การหยุดการสร้าง “เซลล์” รุ่นใหม่ ที่เกิดขึ้นทุกวันของ “บีอาร์เอ็นฯ” เพื่อเข้าสู่ขบวนการการก่อการร้าย ตรงนี้ต่างหาก ที่ทุกฝ่ายไม่ว่าฝ่ายปกครอง พลเรือน และกองทัพจะต้องร่วมมือกัน เพื่อให้เกิดมรรคผลของการยุติ การเกิดขึ้นใหม่ของกลุ่มก่อการร้าย
“ยุทธศาสตร์” ในการดับไฟใต้ที่ชัดเจนที่สุด ที่ทุกฝ่ายควรเห็นตรงกันคือ ชัยชนะต้องมาจากหมู่บ้าน เนื่องจากจุดแตกหักอยู่ที่หมู่บ้าน ซึ่งถ้าเอาตามยุทธศาสตร์นี้ ฝ่ายปกครองคือ นายอำเภอในแต่ละอำเภอต้องเป็น “พระเอก” โดยมีผู้นำท้องถิ่น คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องที่ คือ อบต., เทศบาล, อบจ. เป็นผู้ช่วยที่เข้มแข็ง ฝ่ายปกครองต้องกำหนดเป้าหมาย กำหนดยุทธศาสตร์ของการมีชัยชนะที่หมู่บ้านทุกแห่ง และต้องมีอำนาจสั่งการกำลังทหาร ตำรวจในแต่ละอำเภอได้ ในฐานะของ ผอ. กอ.รมน.อำเภอ อย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นกันแบบ “ปลอมๆ” อย่างที่เป็นอยู่
แต่ถ้า “ยุทธศาสตร์” การดับไฟใต้ยังเป็นนโยบายที่มาจากกองทัพ โดยใช้ กอ.รมน. เป็นผู้ขับเคลื่อน มีการรวบรวมภารกิจของพลเรือนเอาไว้อย่าง “บริบูรณ์” อย่างที่เป็นอยู่ แม้กองทัพจะยึดถนนได้ทุกสาย จะซ่อมเรือเหาะที่ใช้ไม่ได้ หรือจะซื้อเรือเหาะเพิ่มอีกกี่ลำ ก็ยังพ่ายแพ้ที่หมู่บ้าน แพ้แม้กระทั่งคำขู่ที่ไร้ “ตัวตน” และไร้เหตุผล เพื่อใช้หยุดงานวันศุกร์อย่างที่เกิดขึ้นในขณะนี้