ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-สถานการณ์การก่อการร้ายใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยิ่งนานวันยิ่งน่าห่วง ประชาชนยิ่งรู้สึกว้าเหว่ต่อการแก้ปัญหาของรัฐบาลและของกองทัพ เพราะขนาดที่สถานการณ์ความรุนแรงในเดือนรอมฎอนเพิ่งผ่านพ้นไปได้เพียง 10 วัน ในขณะที่กำลังทหาร ตำรวจ และพลเรือนยังรักษาความสงบกันเต็มพื้นที่เพื่อป้องกันการก่อเหตุใน 7 หัวเมืองและ 13 เมืองหลัก ตามคำสั่งของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายรัฐมนตรีแต่สุดท้ายคำสั่งดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้เจ้าหน้าที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันแต่อย่างใด
เพราะเหตุการณ์ป่วนเมือง 102 เหตุการณ์ ใน 4 จังหวัดซึ่งเกิดขึ้นในค่ำคืน วันที่ 31 ส.ค. คือ คำตอบที่ดีที่สุดถึงความไม่มีประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ใน 4 จังหวัด ที่มีสายข่าวในพื้นที่ แต่สุดท้ายสายข่าว และงานการข่าวทั้งของกองทัพบก นาวิกโยธิน ตำรวจสันติบาล ตำรวจ ศชต. ตำรวจท้องที่ ตำรวจ ตชด. รวมทั้งบรรดานักการข่าวจากสำนักนายกฯ จากสำงานข่าวกรองและ สภาความมั่นคงแห่งชาติ ไม่มีหน่วยงานไหนที่พอจะระแคะระคายว่า “อาร์เคเค” จะดำเนินการ “ป่วนเมือง” โดยวิธีการ “ตบหน้า” หน่วยงานของรัฐ ด้วยการก่อกวนทาง “สัญลักษณ์” ใช้ธงชาติประเทศมาเลเซีย ใบปลิว รวมทั้งระเบิดจริงและระเบิดปลอมสร้างสถานการณ์ให้เป็นข่าวไปทั่วโลก ถึงการก่อการร้ายเพื่อแบ่งแยกดินแดนของจังหวัดชายแดนภาคใต้
และห่างกันเพียงค่ำคืนเดียวเจ้าหน้าที่ยังปล่อยให้ “โจร” ลักลอบเข้าไปวางระเบิดในห้างซูเปอร์สโตร์ที่ใหญ่ที่สุด และเหลือรอดจากการก่อการร้ายอยู่แห่งเดียวกลางใจเมืองนราธิวาส ซึ่งเป็นพื้นที่ 1ใน 7 หัวเมือง ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและผู้ใหญ่ทั้งหลายของบ้านเมือง กำชับให้เฝ้าระวังอย่าให้เกิดเหตุร้าย
เหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั้งหมด เป็นเพราะที่ผ่านมาการวิเคราะห์สถานการณ์ของหน่วยข่าวผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า นับตั้งแต่การก่อเหตุในห้วง รอมฎอนหรือถือศีลอดที่เกิดขึ้นถี่ยิบ ต่างวิเคราะห์สาเหตุว่าเกิดจากการปลุกระดมของ “อุสตาส” ต่อ “อาร์เคเค” เพื่อที่จะได้บุญ จากการก่อการร้าย เข่นฆ่า ศัตรู มากกว่าในเวลาปกติถึง 10 เท่า ดังนั้น หน่วยงานความมั่นคงจึงเชื่อว่าหลังเดือนรอมฎอน สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะลดลงในอยู่ในเกณฑ์ปกติที่ผ่านมา นั่นคือมีเหตุการณ์ร้ายวันละไม่ต่ำกว่า 3 เหตุการณ์
ทว่า หลังเดือนรอมฎอนสถานการณ์การก่อการร้ายใน จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่องเช่นการก่อเหตุร้ายใน จ.นราธิวาส วันละ 4-5 เหตุการณ์ และการก่อเหตุร้ายใน จ.ปัตตานี วันละ 6-7 ครั้ง โดยเฉพาะการก่อวินาศกรรมโชว์รูมรถยนต์ฮอนด้า ที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 23 ส.ค.จนโชว์รูมและรถยนต์ป้ายแดง15 คัน วอดวายในกองเพลิงซึ่งเป็นธุรกิจของ นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล เจ้าของโรงแรมซี.เอส. ปัตตานี ซึ่งก็เพิ่งถูก “คาร์บอมบ์” เมื่อวันที่ 31 ก.ค. รวมทั้งการขว้างระเบิดใส่บ้านชาวไทยพุทธที่หมู่บ้านทุ่งคม อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส ต่อเนื่องมาจนกระทั่งเหตุป่วนตลอดทั้งวันและคืนของวันที่ 31 ส.ค.ดังที่ปรากฏ
หลังเกิดเหตุป่วนเมืองทั่ว 3 จังหวัดชายแดนใต้ครั้งล่าสุด ผู้หลักผู้ใหญ่ระดับเสนาบดี และแม่ทัพนายกองต่างประสานเสียงว่า เหตุร้ายที่เกิดไม่มีความเสียหายร้ายแรงเพราะเป็นเพียงการปักธงเพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ในวันก่อตั้งขบวนการ “เบอร์ซาตู” ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มี “บีอาร์เอ็นฯ” เป็นหัวขบวน แต่บรรดาเสนาบดีและแม่ทัพนายกองไม่ได้คิดให้ไกลออกไปอีกหน่อยว่า ถ้าในคืนวันที่ 31 ส.ค. ที่ผ่านมา คนร้ายใช้ระเบิดจริงทั้ง 102 จุด สิ่งที่เกิดขึ้นจะหนักหนาสาหัสเพียงไหน
เพราะในเมื่อ “โจร” สามารถนำธงชาติมาเลเซียมากมายรวมทั้งระเบิดปลอมและวัตถุต้องสงสัยมาวางทั้งในเมืองนอกเมืองได้ “โจร” ก็ย่อมวางระเบิดจริงได้เช่นกัน ดังนั้น ความเสียหายที่ไม่มาก กล่าวคือมี ทหารบาดเจ็บจากระเบิดเพียง 6 นาย น่าจะเกิดจากความ “กรุณา” ของ “โจร” ที่ต้องขอบคุณมันด้วยซ้ำที่มีเจตนาเพียง “เยาะเย้ย” มากกว่าจะจะเอาจริง
ความล้มเหลวที่ชัดเจนที่สุดจากกรณี “ป่วนใต้” 102 จุด ครั้งนี้คือความล้มเหลวในงาน “การข่าว” เพราะการเคลื่อนไหวและลงมือสร้างสถานการณ์คืนเดียว 102 จุดในพื้นที่ถึง 4 จังหวัด “โจร” ต้องใช้เวลาในการเตรียมการวางแผน ใช้ผู้คนทั้ง “แนวร่วม” ในพื้นที่นอกพื้นที่ รวมทั้งการเตรียมอุปกรณ์ที่นำมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งหากใน 4 จังหวัด 30 อำเภอ ที่เกิดเหตุหน่วยงานของรัฐมีงาน “การข่าว” ที่ดีเพียงคนเดียวก็ควรจะได้ข่าวความเคลื่อนไหวของขบวนการ
และหากในพื้นที่ 30 อำเภอ มี “มวลชน” มีผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ซึ่งเป็นของ “ราชการ” อยู่บ้าง ข่าวสารความเคลื่อนไหวของ “แนวร่วม” ในพื้นที่ 30 อำเภอ จะคงถูกส่งถึงมือถึงหูของเจ้าหน้าที่บ้าง สักหนึ่งจุดหรือสองจุด เพราะในแต่ละพื้นที่ซึ่งมีการก่อกวนล้วนมีกองกำลังของเจ้าหน้าที่ประจำอยู่
การที่ “ข่าว” ไม่ถึงมือถึงหูหรือผ่านตาเจ้าหน้าที่ แสดงว่า 8 ปี ที่ผ่านมาความร่วมมือจากประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐยังอยู่ในระดับศูนย์ เงินงบประมาณที่ใช้ทุ่มเทกับงาน การมีส่วนร่วมที่กองทัพทุ่มเทเป็นจำนวนมหาศาล และโครงการการมีส่วนร่วมในทุกรูปแบบที่ผ่านมาจำเป็นจะต้องทบทวนกันใหม่ เพราะโครงการทำทำกันนั้นมีแต่ “มือล่าง” แต่ไม่มี “มือบน”ให้เห็นแต่อย่างใด
สถานการณ์การก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในปี 2555 มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับสถานการณ์ปี 2551 ซึ่งเป็นช่วงที่มีเหตุร้ายเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 9 ศพ มีการทิ้งใบปลิวขับไล่ชาวไทยพุทธออกจากพื้นที่ ซึ่งขณะนี้ในพื้นที่ 4 จังหวัดก็มีใบปลิวขับไข่ชาวไทยพุทธขนานใหญ่อีกครั้งหนึ่ง และครั้งนี้นอกจากจะเป็นการทิ้งใบปลิวขับไล่คนไทยพุทธแล้ว ยังมีการมุ่งทำลายเศรษฐกิจของชาวไทยพุทธ และชาวไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่อย่างรุนแรง
ตั้งแต่การวาง “คาร์บอมบ์” บริษัทโปร์คอมพิวตอร์ที่กลางเมืองสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาสการทำ “คาร์บอมบ์”โรงแรมซี.เอส ปัตตานี การวางเพลิงเผาโชว์รูมรถยนต์ที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี และการวางระเบิดห้างสรรพสินค้าซุปเปอร์สโตร์ ที่ใหญ่ที่สุดและเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวกลางใจเมือง นราธิวาส และแน่นอนว่า ณ วันนี้ทั้งสถาบันการเงิน ทั้งบริษัท ห้างร้าน ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่มีใครอยู่อย่างเป็นสุข เพราะไม่รู้ว่า “คาร์บอมบ์” จะเกิดกับกิจการของตนวันไหน ไม่รู้ว่าห้างหรือร้านค้าของตนจะถูกวางเพลิงเมื่อไหร่ และที่ “ว้าเหว่” ยิ่งนักคือไม่รู้ว่าจะหันหน้าไปพึ่งใครนอกจากพึ่งตนเอง และอ้อนวอนพระผู้เป็นเจ้าให้คุ้มครอง
สิ่งที่น่าสังเกตในวันนี้คือพื้นที่ของ จ.สงขลาใน 7 อำเภอ ตั้งแต่ อ.เทพา, จะนะ, สะบ้าย้อย, นาทวี, หาดใหญ่, สะเดา และ อ.เมือง คือพื้นที่ไม่ปลอดภัย เพราะในการก่อกวนในวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา ใน 4 อำเภอ คือ เทพา,จะนะ,สะบ้าย้อย และ นาทวี ในหลายตำบลของ 4 อำเภอ ต่างมีเหตุการณ์เช่นเดียวกับพื้นที่ 3จังหวัด ซึ่งแสดงให้เห็นว่า พื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลายังเป็นพื้นที่ “สีแดง” เช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆ ใน 3จังหวัด
การที่หน่วยงานของรัฐมีการให้ข่าวมาโดยตลอดว่า 4 อำเภอของ สงขลา เป็นพื้นที่ปลอดภัย จึงเป็นเรื่องไม่จริง เพราะจากข้อมูล ในทางลับพบว่าที่ 4 อำเภอ เกิดเหตุน้อย เป็นเพราะเป็นพื้นที่ “พักพิง หลบซ่อน” และ “วางแผน” ก่อการร้ายของ ขบวนการแบ่งแยกดินแดน ดังนั้น เมื่อ 4 อำเภอยังเป็นพื้นที่ “สีแดง” อำเภอใกล้เคียงที่เป็นพื้นที่ เศรษฐกิจอย่างหาดใหญ่, เมือง และสะเดาต่างไม่ปลอดภัย และเป็นเป้าหมาย “คาร์บอมบ์” ของขบวนการเพื่อทำลายเศรษฐกิจตามยุทธศาสตร์ของขบวนการ
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า การที่หน่วยข่าวความมั่นคง วิเคราะห์ว่า หลังเดือนรอมฎอนแล้วสถานการณ์การก่อการร้ายจะลดลงนั้น เป็นการวิเคราะห์ที่ผิดพลาด การตั้ง ศปก.จชต.ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง สถานการณ์ต่อจากนี้ไปการก่อเหตุร้ายจะทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง เป้าหมายที่ชัดเจนคือหมู่บ้านไทยพุทธ และพื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัดชายแดนภาคใต้
และจะมีการใช้ ระเบิดทั้งแบบ “คาร์บอมบ์” “ จยย.บอมบ์” และชนิดต่างๆ มากยิ่งขึ้น เพราะ “บีอาร์เอ็นฯ” จับประเด็นของเงื่อนไขแห่งความ “ขัดแย้ง” ที่เกิดขึ้นระหว่าง กอ.รมน. กับ ศอ.บต.มาเป็นประเด็นการขยายผลต่อประชาชนในพื้นที่
วันนี้รัฐบาลมีหน่วยงานใหม่คือ ศปก.จชต. ที่ตั้งขึ้นใหม่ เพื่อเป็น “กลไก” ในการแก้ปัญหาความไม่สงบ มี พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ใช้อำนาจแทน น.ส.ยิ่งลักษณ์ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อรับทราบสถานการณ์และสั่งการเพื่อแก้ปัญหาให้ได้ผลและทันเวลาตามที่มีการโฆษณาชวนเชื่อเอาไว้ ซึ่งสุดท้ายแล้วประชาชนต่างผิดหวังเพราะหลังเหตุป่วนใต้ 102 แห่ง และวางระเบิดซุปเปอร์สโตร์ ที่ จ.นราธิวาส ผู้ที่ถูกส่งมาแก้ปัญหากลายเป็น พล.ต.อ.วิเชียรพจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช.เท่านั้น
วันนี้คนใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นคนจน คนรวยนักวิชาการ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ ต่างอยู่กันแบบ “หัวอกเดียวกัน” นั่นคือ “อกสั่นขวัญแขวน” ไม่รู่ว่า “ภัย”จะมาถึงตัวเมื่อไหร่ ถ้า ศปก.จชต.ก็ “เอาไม่อยู่” และถ้านักการเมืองในฐานะรัฐบาลยังมีรายการ “สุขกันเถอะเรา” อย่างที่เห็น อีก 10 ปีข้างหน้าพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อาจจะเป็นพื้นที่ “อัปลักษณ์” ที่สุดในประเทศไทย