xs
xsm
sm
md
lg

กลไกดับ “ไฟใต้” แค่โฆษณาชวนเชื่อ 4 จชต.ผวาโจรใต้เดินหน้าเล่นแรง/ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เหตุเผาห้างกลางเมืองนราธิวาส
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
 
สถานการณ์การก่อการร้ายใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยิ่งนานวันยิ่งน่าห่วง ประชาชนยิ่งรู้สึกว้าเหว่ต่อการแก้ปัญหาของรัฐบาล และของกองทัพ เพราะขณะที่สถานการณ์ความรุนแรงในเดือนรอมฎอนเพิ่งผ่านพ้นไปได้เพียง 10 วัน ในขณะที่กำลังทหาร ตำรวจ และพลเรือนยังรักษาความสงบกันเต็มพื้นที่เพื่อป้องกันการก่อเหตุใน 7 หัวเมือง และ 13 เมืองหลัก ตามคำสั่งของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แต่สุดท้าย คำสั่งดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้เจ้าหน้าที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันแต่อย่างใด
 
เพราะเหตุการณ์ป่วนเมือง 102 เหตุการณ์ ใน 4 จังหวัด ซึ่งเกิดขึ้นในค่ำคืนวันที่ 31 ส.ค. คือคำตอบที่ดีที่สุดถึงความไม่มีประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ใน 4 จังหวัด ที่มีสายข่าวในพื้นที่ แต่สุดท้าย สายข่าว และงานการข่าวทั้งของกองทัพบก นาวิกโยธิน ตำรวจสันติบาล ตำรวจ ศชต. ตำรวจท้องที่ ตำรวจ ตชด. รวมทั้งบรรดานักการข่าวจากสำนักนายกฯ จากสำงานข่าวกรอง และสภาความมั่นคง ไม่มีหน่วยงานไหนที่พอจะระแคะระคายว่า “อาร์เคเค” จะดำเนินการ “ป่วนเมือง” โดยวิธีการ “ตบหน้า” หน่วยงานของรัฐ ด้วยการก่อกวนทาง “สัญลักษณ์” ใช้ธงชาติประเทศมาเลเซีย ใบปลิว รวมทั้งระเบิดจริง และระเบิดปลอมสร้างสถานการณ์ให้เป็นข่าวไปทั่วโลก ถึงการก่อการร้ายเพื่อแบ่งแยกดินแดนของจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
และห่างกันเพียงค่ำคืนเดียว เจ้าหน้าที่ยังปล่อยให้ “โจร” ลักลอบเข้าไปวางระเบิดในห้างซูเปอร์สโตร์ที่ใหญ่ที่สุด และเหลือรอดจากการก่อการร้ายอยู่แห่งเดียวกลางใจเมืองนราธิวาส ซึ่งเป็นพื้นที่ 1 ใน 7 หัวเมือง ที่ น.ส.ยิงลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีกำชับให้เฝ้าระวังอย่าให้เกิดเหตุร้าย
 
ทั้งนี้ เป็นเพราะที่ผ่านมา การวิเคราะห์สถานการณ์ของหน่วยข่าวผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า นับตั้งแต่การก่อเหตุในห้วงรอมฎอน หรือถือศีลอดที่เกิดขึ้นถี่ยิบ ต่างวิเคราะห์สาเหตุว่าเกิดจากการปลุกระดมของ “อุสตาส” ต่อ “อาร์เคเค” เพื่อที่จะได้บุญจากการก่อการร้าย เข่นฆ่า ศัตรู มากกว่าในเวลาปกติถึง 10 เท่า ดังนั้น หน่วยงานความมั่นคงจึงเชื่อว่าหลังเดือนรอมฎอน สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะลดลงในอยู่ในเกณฑ์ปกติที่ผ่านมา นั่นคือ มีเหตุการณ์ร้ายวันละไม่ต่ำกว่า 3 เหตุการณ์
 
ปักธงชาติมาเลเซียทั้ว 3 จชต. และบางพื้นที่ของสงขลา
ทว่า หลังเดือนรอมฎอน สถานการณ์การก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่อง เช่น การก่อเหตุร้ายใน จ.นราธิวาส วันละ 4-5 เหตุการณ์ และการก่อเหตุร้ายใน จ.ปัตตานี วันละ 6-7 ครั้ง โดยเฉพาะการก่อวินาศกรรมโชว์รูมรถยนต์ฮอนด้า ที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 23 ส.ค.จนโชว์รูม และรถยนต์ป้ายแดง 15 คัน วอดวายในกองเพลิง ซึ่งเป็นธุรกิจของ นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล เจ้าของโรงแรมซี.เอส.ปัตตานี ซึ่งก็เพิ่งถูก “คาร์บอมบ์” เมื่อวันที่ 31 ก.ค. รวมทั้งการขว้างระเบิดใส่บ้านชาวไทยพุทธที่หมู่บ้านทุ่งคม อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส ต่อเนื่องมาจนกระทั่งเหตุป่วนตลอดทั้งวัน และคืนของวันที่ 31 ส.ค.ดังที่ปรากฎ
 
หลังเกิดเหตุ ผู้หลักผู้ใหญ่ระดับเสนาบดี และแม่ทัพนายกองต่างประสานเสียงว่า เหตุร้ายที่เกิดไม่มีความเสียหายร้ายแรงเพราะเป็นเพียงการปักธงเพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ในวันก่อตั้งขบวนการ “เบอร์ซาตู” ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มี “บีอาร์เอ็นฯ” เป็นหัวขบวน แต่บรรดาเสนาบดี และแม่ทัพนายกองไม่ได้คิดให้ไกลออกไปอีกหน่อยว่า ถ้าในคืนวันที่ 31 ส.ค. ที่ผ่านมา คนร้ายใช้ระเบิดจริงทั้ง 102 จุด สิ่งที่เกิดขึ้นจะหนักหนาสาหัสเพียงไหน เพราะในเมือง “โจร” สามารถนำธงชาติมาเลเซียมากมาย รวมทั้งระเบิดปลอม และวัตถุต้องสงสัยมาวางทั้งในเมืองนอกเมืองได้ “โจร” ก็ย่อมวางระเบิดจริงได้เช่นกัน ดังนั้น ความเสียหายที่ไม่มาก กล่าวคือมี ทหารบาดเจ็บจากระเบิดเพียง 6 นาย น่าจะเกิดจากความ “กรุณา” ของ “โจร” ที่ต้องขอบคุณมันด้วยซ้ำที่มีเจตนาเพียง “เยาะเย้ย” มากกว่าจะเอาจริง
 
ความล้มเหลวที่ชัดเจนที่สุดจากกรณี “ป่วนใต้” 102 จุด ครั้งนี้คือ ความล้มเหลวในงาน “การข่าว” เพราะการเคลื่อนไหว และลงมือสร้างสถานการณ์คืนเดียว 102 จุดในพื้นที่ถึง 4 จังหวัด “โจร” ต้องใช้เวลาในการเตรียมการวางแผน ใช้ผู้คนทั้ง “แนวร่วม” ในพื้นที่นอกพื้นที่ รวมทั้งการเตรียมอุปกรณ์ที่นำมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งหากใน 4 จังหวัด 30 อำเภอ ที่เกิดเหตุหน่วยงานของรัฐมีงาน “การข่าว” ที่ดีเพียงคนเดียวก็ควรจะได้ข่าวความเคลื่อนไหวของขบวนการ
 
และหากในพื้นที่ 30 อำเภอ มี “มวลชน” มีผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ซึ่งเป็นของ “ราชการ” อยู่บ้าง ข่าวสารความเคลื่อนไหวของ “แนวร่วม” ในพื้นที่ 30 อำเภอ จะคงถูกส่งถึงมือถึงหูของเจ้าหน้าที่บ้าง สักหนึ่งจุด หรือสองจุด เพราะในแต่ละพื้นที่ซึ่งมีการก่อกวนล้วนมีกองกำลังของเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ การที่ “ข่าว” ไม่ถึงมือถึงหูหรือผ่านตาเจ้าหน้าที่ แสดงว่า 8 ปีที่ผ่านมา ความร่วมมือจากประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐยังอยู่ในระดับศูนย์ เงินงบประมาณที่ใช้ทุ่มเทกับงาน การมีส่วนร่วมที่กองทัพทุ่มเทเป็นจำนวนมหาศาล และโครงการการมีส่วนร่วมในทุกรูปแบบที่ผ่านมาจำเป็นจะต้องทบทวนกันใหม่ เพราะโครงการที่ทำกันนั้นมีแต่ “มือล่าง” แต่ไม่มี “มือบน” ให้เห็นแต่อย่างใด
 
เผาวอด 15 คันรถยนต์ฮอนด้า
สถานการณ์การก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในปี 2555 มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับสถานการณ์ปี 2551 ซึ่งเป็นช่วงที่มีเหตุร้ายเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 9 ศพ มีการทิ้งใบปลิวขับไล่ชาวไทยพุทธออกจากพื้นที่ ซึ่งขณะนี้ ในพื้นที่ 4 จังหวัดก็มีใบปลิวขับไล่ชาวไทยพุทธขนานใหญ่อีกครั้งหนึ่ง และครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการทิ้งใบปลิวขับไล่คนไทยพุทธแล้ว ยังมีการมุ่งทำลายเศรษฐกิจของชาวไทยพุทธ และชาวไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่อย่างรุนแรง ตั้งแต่การวาง “คาร์บอมบ์” บริษัทโปรคอมพิวตอร์ที่กลางเมืองสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส การทำ “คาร์บอมบ์” โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี การวางเพลิงเผาโชว์รูมรถยนต์ที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี และการวางระเบิดห้างสรรพสินค้าซูเปอร์สโตร์ที่ใหญ่ที่สุด และเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวกลางใจเมือง นราธิวาส และแน่นอนว่า ณ วันนี้ ทั้งสถาบันการเงิน ทั้งบริษัทห้างร้านใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่มีใครอยู่อย่างเป็นสุข เพราะไม่รู้ว่า “คาร์บอมบ์” จะเกิดกับกิจการของตนวันไหน ไม่รู้ว่าห้าง หรือร้านค้าของตนเองจะถูกวางเพลิงเมื่อไหร่ และที่ “ว้าเหว่” ยิ่งนักคือ ไม่รู้ว่าจะหันหน้าไปพึ่งใครนอกจากพึ่งตนเอง และอ้อนวอนพระผู้เป็นเจ้าให้คุ้มครอง
 
สิ่งที่น่าสังเกตในวันนี้คือ พื้นที่ของ จ.สงขลาใน 7 อำเภอ ตั้งแต่ อ.เทพา, จะนะ, สะบ้าย้อย, นาทวี, หาดใหญ่, สะเดา และ อ.เมือง คือพื้นที่ไม่ปลอดภัยเพราะในการก่อกวนในวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา ใน 4 อำเภอ คือ เทพา, จะนะ, สะบ้าย้อย และ นาทวี ในหลายตำบลของ 4 อำเภอ ต่างมีเหตุการณ์เช่นเดียวกับพื้นที่ 3 จังหวัด ซึ่งแสดงให้เห็นว่า พื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ยังเป็นพื้นที่ “สีแดง” เช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆ ใน 3 จังหวัด การที่หน่วยงานของรัฐมีการให้ข่าวมาโดยตลอดว่า 4 อำเภอของสงขลา เป็นพื้นที่ปลอดภัย จึงเป็นเรื่องไม่จริง เพราะจากข้อมูลในทางลับพบว่า ที่ 4 อำเภอ เกิดเหตุน้อย เป็นเพราะเป็นพื้นที่ “พักพิง หลบซ่อน” และ “วางแผน” ก่อการร้ายของขบวนการแบ่งแยกดินแดน ดังนั้น เมื่อ 4 อำเภอยังเป็นพื้นที่ “สีแดง” อำเภอใกล้เคียงที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจอย่างหาดใหญ่, เมือง และสะเดา ต่างไม่ปลอดภัย และเป็นเป้าหมาย “คาร์บอมบ์” ของขบวนการเพื่อทำลายเศรษฐกิจตามยุทธศาสตร์ของขบวนการ
 
คาร์บอมบ์หลังโรงแรมซี.เอส.ปัตตานี
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า การที่หน่วยข่าวความมั่นคงวิเคราะห์ว่า หลังเดือนรอมฎอนแล้วสถานการณ์การก่อการร้ายจะลดลงนั้น เป็นการวิเคราะห์ที่ผิดพลาด การตั้ง ศปก.จชต.ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง สถานการณ์ต่อจากนี้ไปการก่อเหตุร้ายจะทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง เป้าหมายที่ชัดเจนคือ หมู่บ้านไทยพุทธ และพื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัดชายแดนภาคใต้ และจะมีการใช้ระเบิดทั้งแบบ “คาร์บอมบ์” “จยย.บอมบ์” และชนิดต่างๆ มากยิ่งขึ้น เพราะ “บีอาร์เอ็นฯ” จับประเด็นของเงื่อนไขแห่งความ “ขัดแย้ง” ที่เกิดขึ้นระหว่าง กอ.รมน. กับ ศอ.บต.มาเป็นประเด็นการขยายผลต่อประชาชนในพื้นที่
 
วันนี้ รัฐบาลมีหน่วยงานใหม่คือ ศปก.จชต. ที่ตั้งขึ้นใหม่ เพื่อเป็น “กลไก” ในการแก้ปัญหาความไม่สงบ มี พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ใช้อำนาจแทน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อรับทราบสถานการณ์ และสั่งการเพื่อแก้ปัญหาให้ได้ผล และทันเวลาตามที่มีการโฆษณาชวนเชื่อเอาไว้ ซึ่งสุดท้ายแล้ว ประชาชนต่างผิดหวังเพราะหลังเหตุป่วนใต้ 102 แห่ง และวางระเบิดซูเปอร์สโตร์ ที่ จ.นราธิวาส ผู้ที่ถูกส่งมาแก้ปัญหากลายเป็น พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช.เท่านั้น
 
วันนี้ คนใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นคนจน คนรวย นักวิชาการ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ต่างอยู่กันแบบ “หัวอกเดียวกัน” นั่นคือ “อกสั่นขวัญแขวน” ไม่รู่ว่า “ภัย” จะมาถึงตัวเมื่อไหร่ ถ้า ศปก.จชต.ก็ “เอาไม่อยู่” และถ้านักการเมืองในฐานะรัฐบาลยังมีรายการ “สุขกันเถอะเรา” อย่างที่เห็น อีก 10 ปีข้างหน้าพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อาจจะเป็นพื้นที่ “อัปลักษณ์” ที่สุดในประเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น