xs
xsm
sm
md
lg

วันเดียวพบเต่าทะเล-โลมาเกยตื้นชายหาดภูเก็ต-พังงา 7 ตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - พบอีกเต่าทะเลถูกคลื่นซัดเกยตื้นชายหาดภูเก็ต-พังงา วันเดียวมากถึง 6 ตัว ล้วนเป็นเต่าหญ้าเพศเมีย สภาพถูกอวนรัดจนได้รับบาดเจ็บ นอกจากนั้น ยังมีโลมากระโดดถูกคลื่นซัดเกยตื้นหาดไม้ขาวอีก 1 ตัว เจ้าหน้าที่ต้องดูแลใกล้ชิด คาดติดเชื้อภายในแต่ยังสามารถว่ายน้ำด้วยตัวเองได้

นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ หัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน เปิดเผย ว่า วันนี้ (27 ก.ย.) เจ้าหน้าที่ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายากได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ดบริเวณหาดกะรน ว่ามีเต่าทะเลขนาดใหญ่จำนวน 3 ตัว ถูกคลื่นซัดเข้ามาเกยตื้นที่บริเวณชายหาด หลังรับแจ้ง ทางเจ้าหน้าที่ได้เดินทางไปรับเต่าทะเลทั้ง 3 ตัว กลับมารักษาที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก โดยพบว่า ทั้ง 3 ตัว เป็นเต่าหญ้าเพศเมีย ขนาดความยาวของกระดองประมาณ 50-60 ซม.ซึ่งทั้งหมดถูกอวนรัดจนมีบาดแผลที่บริเวณขาหน้าทั้ง 2 ข้าง และมี 1 ตัวขาหน้าด้านซ้าย ซึ่งจากการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่า เต่าทั้ง 3 ตัวน่าจะถูกอวนรัดมานานเป็นเดือน เนื่องจากบริเวณกระดองมีตะไคร่น้ำ และมีบาดแผลแล้ว

นอกจากนั้น ทางเจ้าหน้าที่ยังได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่ามีเต่าทะเลเกยตื้นที่บริเวณชายหาดท่าฉัตรไชย ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต จำนวน 1 ตัว ที่บริเวณบ้านบ่อดาน ต.ท้ายเหมือง จ.พังงา จำนวน 1 ตัว และที่บริเวณเกาะพระทอง จ.พังงา จำนวน 1 ตัว ซึ่งทั้งหมดเป็นเต่าหญ้าเพศเมียขนาดตัวเต็มวัย และสภาพก็ถูกอวนรัดจนได้รับบาดเจ็บทั้งหมด โดยทุกตัวถูกอวนรัดมานานไม่น้อยกว่า 1 เดือน ซึ่งทุกตัวทางเจ้าหน้าที่ได้นำมาดูแลรักษา และทำแผลภายนอก

นายก้องเกียรติ กล่าวต่อไปว่า นอกจากจะมีเต่าทะเลถูกคลื่นซัดเข้ามาเกยตื้นวันเดียวจำนวน 6 ตัว แล้ว วันนี้ (27 ก.ย.) ยังมีโลมาถูกคลื่นซัดเข้ามาเกยตื้นจำนวน 1 ตัว เป็นลูกโลมากระโดด อายุประมาณ 1 ปี เพศเมีย ความยาวลำตัวประมาณ 100-120 ซม. น้ำหนัก 20 กิโลกรัม ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า โลมายังสามารถว่าน้ำได้ด้วยตัวเอง แต่ความสมดุลไม่ดีพอเนื่องจากเวลาว่ายน้ำโลมาจะเอียงตัว ซึ่งคาดว่าน่าจะมีอาการติดเชื้อภายภายใน ซึ่งก่อนหน้านี้ประมาณ 2 สัปดาห์ มีซากโลมาลอยมาเกยตื้นที่บริเวณชายหาดไม้ขาวประมาณ 2 ตัว แต่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าตายเพราะสาเหตุใด เนื่องจากสภาพของซากโลมาเน่าแล้ว อย่างไรก็ตาม สำหรับโลมากระโดดนั้นเป็นโลมาที่อยู่เป็นฝูง ฝูงหนึ่งจะมีตั้งแต่ 20-100 ตัว และจะพบอยู่ในบริเวณทะเลอันดามัน บางครั้งจะอาศัยรวมกับโลมาพันธุ์อื่นๆ

นายก้องเกียรติ ยังได้กล่าวต่อไปถึงสาเหตุของการเกยตื้นของเต่าทะเล และโลมาว่า ช่วงนี้เป็นช่วงมรสุมคลื่นลมแรง และเป็นช่วงที่เต่าหญ้าจะว่ายน้ำเข้ามาหาที่วางไข่ เมื่อเต่าได้รับบาดเจ็บ หรือมีอาการเจ็บป่วยก็จะถูกคลื่นซัดเข้าหาฝั่ง ซึ่งในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมาพบว่า บริเวณฝั่งตะวันตกของภูเก็ต และพังงามีเต่าหญ้าขึ้นมาวางไข่ประมาณ 500-1,000 รัง แต่ปัจจุบัน จะพบเต่าหญ้าขึ้นมาวางไข่ประมาณ 10-30 รังเท่านั้น และเมื่อปี 2552 พบเต่าหญ้าขึ้นมาวางไขมากที่สุดประมาณ 30 รัง โดยขึ้นที่มาวางไข่ที่เกาะพระทอง จ.พังงา

ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูล พบว่าเมื่อประมาณ ปี 2552 ต่อเนื่องปี 2553 มีเต่าหญ้าขึ้นมาเกยตื้นจำนวนมากเช่นเดียวกันกับปีนี้ ซึ่งในช่วงปีดังกล่าวมีเต่าหญ้าวางไข่จำนวนมาก และปีนี้ก็คาดว่าจะมีเต่าหญ้าขึ้นมาวางไข่จำนวนมากเช่นเดียวกับปี 2552 เนื่องจากมีเต่าหญ้าขึ้นมาเกยตื้นจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตามหวังว่าจะมีเต่าหญ้าอีกจำนวนมากที่สามารถว่ายน้ำไปถึงจุดหมายที่เป็นจุดวางไข่ได้อย่างปลอดภัย โดยไม่ถูกทำร้าย หรือถูกเศษอวนรัดจนได้รับบาดเจ็บเสียก่อน



กำลังโหลดความคิดเห็น