ชุมพร - ชาวบ้านพบโลมาแก่เกยตื้นที่ชายหาดบ้านพิทักษ์ จ.ชุมพร ช่วยกันจับผลักดันลงทะเลลึกแต่ไม่ยอมไป ว่ายกลับขึ้นมาใหม่ เลยแจ้งศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลฯ เข้าช่วยเหลือ พบเป็นเนื้องอกที่ช่องท้อง และมีอายุมากเลยว่ายน้ำไม่ไหว
วันนี้ (11 ก.ย.) น.ส. พัชราภรณ์ แก้วโม่ง สัตวแพทย์ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่ง และป่าชายเลน เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากชาวบ้าน หมู่ที่ 14 บ้านเกาะพิทักษ์ ต.บางน้ำจืด อ.หลังสวน จ.ชุมพร อยู่ห่างจากสะพานท่าเทียบเรือข้ามฟากระหว่างชายฝั่งกับหมู่บ้านเกาะพิทักษ์ ประมาณ 200 เมตร พบโลมาขนาดลำตัวยาวประมาณ 2 เมตร กำลังดิ้นรนติดอยู่ในร่องน้ำ ก่อนหน้านี้ ชาวบ้านได้ช่วยกันจับลากผลักดันออกไปสู่ทะเลลึก แต่โลมาตัวดังกล่าวก็ว่ายกลับเข้าไปเกยตื้นอีก จึงได้โทรศัพท์แจ้งมาที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง จังหวัดชุมพร ให้ส่งเจ้าหน้าที่ประมงไปช่วยเหลือ นำโลมาตัวดังกล่าวกลับไปยังศูนย์ฯ เพื่อทำการตรวจสอบ และหาสาเหตุของการที่โลมาเข้ามาเกยตื้นในครั้งนี้
น.ส.พัชราภรณ์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่า โลมาตัวนี้เป็นโลมาพันธุ์ปากขวด เพศเมีย อายุอยู่ระหว่าง 30-40 ปี วัดความยาวจากหัวถึงปลายหางยาว 2.24 เมตร น้ำหนัก 102 กก. ดูจากสภาพภายนอกไม่พบบาดแผลถูกทำร้ายแต่อย่างใด ดังนั้น ในเบื้องต้นจึงได้ทำการเจาะเลือด และใช้เครื่องอัลตราซาวนด์ตรวจภายในช่องท้องตัวโลมา ซึ่งจากการตรวจเลือดพบเลือดข้นมากกว่าปกติ และจากการการอัลตราซาวนด์ พบว่าในช่องท้องมีก้อนเนื้องอกอยู่ก้อนหนึ่ง ในช่องปากพบว่าเหลือฟันอยู่เพียงแค่ซี่เดียว จึงสามารถระบุชี้ชัดลงไปได้ว่า โลมาตัวนี้เป็นโลมาวัยแก่ที่เกิดอาการป่วยหนัก จึงทำให้เป็นสาเหตุของการไม่มีกำลังที่จะว่ายน้ำฝ่ากระแสน้ำ และคลื่นลมออกสู่ทะเลน้ำลึกได้ จึงว่ายกลับมาสู่ฝั่งตลอดอยู่เวลา
เบื้องต้น ทางทีมสัตวแพทย์ได้ให้ยาปฏิชีวนะ ยาบำรุง และยาแก้อักเสบ รวมทั้งวิตามินเสริม เพื่อฟื้นฟูร่างกายของโลมาตัวนี้ไปพลางก่อน โดยจะนำโลมาผูกชูชีพแขวนให้ลอยตัวอยู่ในบ่อพักชั่วคราวของศูนย์วิจัยฯ เพื่อรอทีมคณะสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากกรุงเทพฯ ที่จะเดินทางไปตรวจสอบ และทำการรักษาโลมาตัวนี้ คาดว่าจะต้องใช้เวลาหลายเดือนในการรักษา
สำหรับโลมาปากขวด เป็นโลมาพันธุ์ที่ฉลาด สอนง่าย เรียนรู้ได้เร็วและหายาก เท่าที่พบในสวนสัตว์ หรือสวนสนุกที่มีการแสดงโชว์โลมา ก็มักจะเป็นโลมาพันธุ์ปากขวดทั้งสิ้น โลมาพันธุ์ปากขวด จะมีวงจรชีวิตอายุเฉลี่ยจะอยู่ที่ 50 ปี แหล่งที่พบส่วนมากจะอยู่แถบชายฝั่งทะเลอ่าวไทย การรักษาโลมาตัวนี้ที่มีอาการป่วยหนัก ทางศูนย์วิจัยฯ ยังไม่แน่ใจว่าจะต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ และจะรอดชีวิตหรือไม่ ต้องรอให้สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากกรุงเทพฯ เท่านั้นเป็นผู้วินิจฉัยชี้ชัด คาดว่า อีกประมาณ 1 สัปดาห์คงจะทราบผล