xs
xsm
sm
md
lg

จนท.กลุ่มสัตว์ทะเลหายากดูแลโลมาลายแถบป่วยเกยตื้น 24 ชั่วโมง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - เจ้าหน้าที่ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน เฝ้าดูอาการโลมาลายแถบเพศผู้อย่างใกล้ชิด หลังว่ายน้ำเข้ามาเกยตื้นที่หาดท้ายเหมือง จ.พังงา เบื้องต้น พบมีอาการติดเชื้อในกระแสเลือด แผลเน่าเปื่อยบริเวณผิวหนัง

เมื่อเวลา 10.30 น. วันนี้ (5 ส.ค.) เจ้าหน้าที่ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน (ภูเก็ต) เฝ้าติดตามอาการ และดูแลโลมาลายแถบเพศผู้ อายุ 7 ปี ที่ว่ายน้ำเข้ามาเกยตื้นที่บริเวณชายหาดท้ายเหมือง หน้าศูนย์ประมงท้ายเหมือง จ.พังงา เมื่อวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยนำตัวมาดูแลรักษาที่บ่ออนุบาลประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายากตั้งแต่คืนวันที่ 31 ก.ค. 55 ที่ผ่านมา

ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ หัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายาก กล่าวว่า โลมาดังกล่าว ทางเจ้าหน้าที่ได้นำมาดูแลรักษาที่สถาบันฯ เนื่องจากอาการป่วยติดเชื้อเฉียบพลัน มีแผลเปื่อยตามผิวหนังหลายจุด ทั้งบริเวณครีบหลัง หาง และจากการตรวจเลือดพบว่า มีอาการติดเชื้อในกระแสเลือดด้วย โดยใช่วงแรกที่รับโลมาดังกล่าวมา พบว่า ไม่สามารถว่ายน้ำเองได้ ต้องใช้เครื่องช่วยพยุง และจากการตรวจกระเพาะอาหารพบว่า ไม่มีอาหารในกระเพาะ คาดว่าไม่กินอาหารมาหลายวันแล้ว

สำหรับการรักษาในเบื้องต้น ขณะนี้ ทางสัตวแพทย์ได้ให้ยาปฏิชีวนะ ยาถ่ายพยาธิ และยาบำรุง และเนื่องจากโลมาไม่สามารถกินอาหารเองได้ ทางเจ้าหน้าที่ก็ได้ให้อาหารทางท่อ และจัดเจ้าหน้าที่ดูแลตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจากการรักษามาระยะหนึ่งพบว่า ขณะนี้ ในส่วนของแผลเปื่อยตามลำตัวมีอาการดีขึ้นไม่พบการเปื่อยเพิ่ม แต่อาการป่วยภายในยังทรงอยู่ และยังไม่สามารถว่ายน้ำประคองตัวเองได้ ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ยังต้องใช้อุปกรณ์พยุงตัวอยู่

ดร.ก้องเกียรติ กล่าวต่อไปว่า ในวันที่ 6 ส.ค.นี้ ทางเจ้าหน้าที่จะตรวจเลือดอีกครั้ง รวมทั้งทำการเอกซเรย์ปอดเพื่อตรวจหาเชื้ออีกครั้ง ซึ่งการรักษาในขณะนี้ เป็นการรักษาตามอาการ โดยภาพรวมถือว่าอยู่ในระดับที่ดี สามารถรักษาอาการให้คงทีอยู่ได้ และไม่ทรุดหนักกว่าเดิม ซึ่งสัตว์ทะเลที่ว่ายน้ำเข้าหาฝั่ง หรือถูกคลื่นซัดเข้าหาฝั่งนั้นส่วนใหญ่จะมีอาการป่วยหนักเข้ามาแล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่จะพยายามรักษาอย่างเต็มที่
กำลังโหลดความคิดเห็น