xs
xsm
sm
md
lg

สถาบันการศึกษากับการอนุรักษ์ศิลปะพื้นบ้าน (1)/จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

สืบเนื่องมาจากการพัฒนาประเทศให้ทันสมัย หรือให้เป็นสมัยใหม่ (modernization) หรือทำให้เป็นตะวันตก (westernization) โดยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเมื่อประมาณกึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมพันทาง เนื่องจากลัทธิบริโภคนิยมของระบบทุนนิยมเสรีเข้ามาเปลี่ยนแปลงทั้งวิถีชีวิต และวิถีคิด ทั้งกระบวนการผลิต การบริโภค และการจำหน่ายจ่ายแจก ระบบความสัมพันธ์ของคนในสังคม ค่านิยม ฯลฯ จากการทำมาหากินเป็นการทำมาค้าขาย จากระบบคุณค่าเป็นระบบมูลค่า จากการออกปากกินวาน มาเป็นออกปากจ้างและว่าจ้าง ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนสถานภาพจากเดิมมามีสถานภาพใหม่ คือ เป็นปัจจัยการผลิต ทุน กำไร ระบบคุณธรรมจริยธรรมถูกกระทบกระทั่ง สถาบันทางสังคมที่เคยทำหน้าที่กล่อมเกลา (socialization) สูญเสียบทบาท และสถานภาพดั้งเดิมไปจนเกือบจะสิ้นเชิง
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
โดยเฉพาะสถาบันครอบครัว สถาบันศาสนา สถาบันการศึกษา และสถาบันนันทนาการ หรือศิลปะพื้นบ้าน สังคมไทยเปลี่ยนจากสังคมแบบวิถีธรรม วิถีไทยไปเป็นวิถีทุน และวิถีทาสจนขาดหลักยึดเหนี่ยวอย่างน่าเป็นห่วง การพัฒนาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ผ่านมาถูกสรุปผลว่า “เศรษฐกิจดี สังคมมีปัญหา การพัฒนาไม่ยั่งยืน” เกิดช่องว่างทางสังคมระหว่างคนจนกับคนรวย และคนเมืองกับคนชนบทที่ห่างกันเหมือน “ฟ้ากับเหว” เกิดมนุษย์พันธุ์ใหม่ที่ “รวยสุดขั้ว จนสุดขีด” และ “โง่ จน เจ็บ” สร้างวิกฤตสิ่งแวดล้อม วิกฤตความยากจนและวิกฤตทางสังคมและวัฒนธรรม

ในหนึ่งรัฐมีสองสังคม ศิลปะพื้นบ้าน วัฒนธรรมพื้นเมืองกลายเป็นสัญลักษณ์ของความล้าหลัง คร่ำครึในสายตาของคนพันธุ์ใหม่ที่มีสีผม สีผิว วัฒนธรรมการกิน แฟชั่นการแต่งกาย และรสนิยมในทางบันเทิงที่แตกต่างไปจากโคตรเหง้าเผ่าพันธุ์ของตนเองโดยสิ้นเชิง บทบาทหน้าที่ในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านตกอยู่บนบ่าของชาวบ้านผู้ที่ถูกกระทำจากระบบการศึกษา และระบบราชการน้อยที่สุดไปโดยปริยาย

สถาบันการศึกษาท่ามกลางวิกฤตทางสังคมและวัฒนธรรม
สถาบันการศึกษา นับเป็นสถาบันหลักทางสังคมอีกสถาบันหนึ่งในหลายๆ สถาบันที่ทำหน้าที่ในกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม (socialization) ต่อจากสถาบันครอบครัวที่ทำหน้าที่ผลิตสมาชิก และเตรียมสมาชิกให้แก่สังคม แต่นับตั้งแต่ประเทศไทยเกิดการจัดการศึกษาในระบบ หรือการศึกษาในระบบโรงเรียนตามแบบตะวันตกมายาวนานนับกว่าศตวรรษ ปรากฏว่า การศึกษาของไทยก็ประสบความล้มเหลวจนอาจจะกล่าวได้ว่า “โรงเรียนตายแล้ว” หรือ “มหาวิทยาลัยตายแล้ว”

เช่นเดียวกับในสังคมตะวันตกที่เป็นต้นแบบ บางท่านเปรียบเปรยการจัดการศึกษาไทยว่าเป็นการศึกษาแบบ “หมาหางด้วน” (พุทธทาสภิกขุ) หรือการศึกษาแบบ “บ้าใบไกลบ้าน” (สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์) เนื่องจากกระบวนการศึกษาไม่สามารถจะสร้างคนผู้ผลิตองค์ความรู้ด้วยตนเอง สร้างแต่นักบริโภคข้อมูล ความรู้ นักลอกเลียน ท่องจำ นักปล้นสะดมทางวิชาการ ฉ้อฉล ทุจริตเพื่อใบปริญญา อยู่ในยุคของผู้มีการศึกษาสูงแต่โง่เขลาเบาปัญญา (เสกสรร ประเสริฐกุล. 2552 ) ผ่านระบบธุรกิจการศึกษาแบบ “จ่ายครบ จบแน่”

(อ่านต่อฉบับหน้า วันอังคารที่ 11 ก.ย.)
กำลังโหลดความคิดเห็น