xs
xsm
sm
md
lg

ปชส.ภูเก็ตพัฒนาเครือข่ายป้องกันภัยพิบัติ เตรียมพร้อมรับมือแผ่นดินไหว-สึนามิ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ตจัดสัมมนาการประชาสัมพันธ์เพื่อพัฒนาและขยายเครือข่ายการรณรงค์ป้องกันสาธารณภัยและภาวะวิกฤตจังหวัดภูเก็ต เพื่อให้ความรู้รับมือภัยพิบัติที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะภัยแผ่นดินไหวและสึนามิ ด้านเทศบาลเมืองป่าตองมีความพร้อมรับมือเต็มที่

วันนี้ (26 ก.ค.) ที่โรงแรมเมโทรโพล ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต จัดสัมมนาการประชาสัมพันธ์เพื่อพัฒนาและขยายเครือข่ายการรณรงค์ป้องกันสาธารณภัยและภาวะวิกฤตจังหวัดภูเก็ต โดยมีนางปุณยวีร์ ทองศิริเศรษฐ์ ประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการสัมมนา ซึ่งนายพิชิต วัฒนศักดิ์ ผอ.ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 18 ภูเก็ต, นายชัยรัตน์ สุขบาล รองนายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง, นายสุขขัย เกาทัณฑ์ เลขานุการนายกเทศมนตรีตำบลศรีสุนทร และนายภาสกร ตันทอง เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน เทศบาลตำบลศรีสุนทร ร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้ถึงการรับมือภัยพิบัติ ให้ตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และนักศึกษา ที่เข้าร่วมการสัมมนาในครั้งนี้

นางปุณยวีร์ ทองศิริเศรษฐ์ ประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า สถานการณ์ในปัจจุบันที่ได้เกิดสาธารณภัยต่างๆ นำมาสู่ความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างมหาศาล เช่น อุทกภัย ภัยแล้ง ภัยแผ่นดินไหว ภัยสึนามิ ตลอดจนภัยอื่นๆ อันมีผลกระทบต่อสาธารณชน ถือเป็นภาวะวิกฤตที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยรัฐบาลชุดปัจจุบันได้ให้ความสำคัญต่อการบรรเทาสาธารณภัย มีมาตรการรณรงค์ป้องกัน มาตรการให้ความช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟู เมื่อเกิดภัยให้คืนสู่สภาพเดิม เพื่อสร้างขวัญกำลังใจแก่ประชาชน

กรมประชาสัมพันธ์จึงได้สนองนโยบายรัฐบาลจัดทำโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาสาธารณภัยและภาวะวิกฤตขึ้น เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ แก่สาธารณชน เพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น รวมทั้งเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ทราบมาตรการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนให้ประชาชนได้เล็งเห็นความสำคัญของการเฝ้าระวังและป้องกันสาธารณภัย รับมือภัยที่เกิดขึ้นได้ทันท่วงที ช่วยลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ให้เกิดน้อยที่สุด

นายพิชิต วัฒนศักดิ์ ผอ.ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 18 ภูเก็ต กล่าวว่า ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในภูเก็ตนั้นมีทั้งอัคคีภัย ดินสไลด์ แผ่นดินไหว และภัยสึนามิ ซึ่งในส่วนของแผ่นดินไหวนั้นได้เกิดขึ้นที่ตำบลศรีสุนทร อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ขนาด 4 ริกเตอร์ ถือเป็นแผ่นดินไหวขนาดไม่ใหญ่ และไม่ได้สร้างความเสียหายมากมาย แผ่นดินไหวดังกล่าวเกิดจากรอยเลื่อนบางมะรุ่ย ที่พาดผ่านตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ถึงภูเก็ต และอันดามัน และหลังจากที่มีภัยแผ่นดินไหวในทะเลแล้ว สิ่งที่ตามมาคือคลื่นสึนามิ ซึ่งการเกิดสึนามินั้นจะต้องเป็นแผ่นดินไหวขนาดตั้งแต่ 6 ริกเตอร์ขึ้น อยู่ลึกลงไปใต้ดินไม่เกิน 5 กิโลเมตร รวมทั้งเปลือกโลกจะต้องเคลื่อนตัวในแนวดิ่ง

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการเตือนภัยสึนามินั้น ทางศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติเป็นเจ้าภาพหลักในการแจ้งเตือนภัยมายังผู้ว่าราชการจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการอพยพคนออกจากพื้นที่เสี่ยง พร้อมทั้งส่งสัญญาณจากหอเตือนภัย ที่ขณะนี้ภูเก็ตมีทั้งหมด 19 หอ ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงภัยทั้งจังหวัดภูเก็ต รวมทั้งมีการให้ความรู้แก่ประชาชนถึงการอพยพหนีภัยสึนามิอีกด้วย

ด้านนายชัยรัตน์ สุขบาล รองนายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง กล่าวว่า เทศบาลเมืองป่าตองมีความพร้อมในการอพยพประชาชนและนักท่องเที่ยวไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยหากเกิดแผ่นดินไหวในทะเล และทางศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติแจ้งเตือนให้อพยพประชาชนออกนอกพื้นที่ ซึ่งในส่วนของพื้นที่ป่าตองนั้นมีพื้นที่เสี่ยงภัยอยู่บริเวณชายหาดป่าตองระยะ 500-600 เมตร หลังจากนั้นถือเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับคลื่นสึนามิ และมีโรงแรมไม่กี่แห่งที่ต้องอพยพคนออกจากโรงแรม โดยเฉพาะโรงแรมที่อยู่ติดชายหาด ส่วนโรงแรมที่อยู่ในพื้นที่ถัดไปสามารถที่จะอพยพนักท่องเที่ยวขึ้นไปอยู่บนชั้น 2 หรือชั้น 3 ก็ปลอดภัยแล้ว โรงแรมไม่จำเป็นต้องอพยพนักท่องเที่ยวขึ้นไปอยู่บนเขาทั้งหมด อย่างกรณีของห้างสรรพสินค้าจังซีลอนก็มีความปลอดภัย คลื่นสูงขนาด 4 เมตรที่เกิดขึ้นถัดเข้าไปไม่ถึงอย่างแน่นอน

นายชัยรัตน์กล่าวอีกว่า เทศบาลเมืองป่าตองให้ความสำคัญต่อการป้องกันภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นมาก มีการตั้งงบประมาณในการให้ความรู้แก่เด็กนักเรียนและประชาชนในพื้นที่เสี่ยง รวมทั้งมีการฝึกซ้อมใหญ่การอพยพหนีสึนามิทุกๆ ปี เพราะป่าตองเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง จำเป็นที่จะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกถึงความพร้อมในการอพยพหนีภัยสึนามิ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากจะฝากถึงศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติหากเกิดภัยสึนามิ คือ ให้มีความรวดเร็วในการแจ้งเตือนอพยพและยกเลิกการแจ้งเตือน ซึ่งเมื่อเกิดสึนามิเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา การแจ้งยกเลิกสึนามิทำได้ล่าช้ามาก ทั้งๆ ที่เครือข่ายแจ้งเตือนสึนามิในประเทศต่างๆ ได้แจ้งยกเลิกไปเป็นชั่วโมงๆ แต่ของไทยยังไม่ประกาศยกเลิกสักที รวมทั้งอยากจะขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนให้นำเสนอข่าวในด้านบวกมากกว่าด้านลบหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น ทั้งนี้เพื่อภาพลักษณ์ที่ดีของเมืองท่องเที่ยว



นายพิชิต วัฒนศักดิ์ ผอ.ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 18 ภูเก็ต
กำลังโหลดความคิดเห็น