“ดร.พิจิตต” ชี้เปิดสถิติดินไหวช่วย ปชช.ลดความเสี่ยง เชื่ออนาคตภัยพิบัติ “ถี่ขึ้น เข้มขึ้น แปลกขึ้น” ขณะที่ “ดร.วัฒนา” สะกิดรัฐหนุนหน่วยงานวิเคาะห์แผ่นดินไหวในอนาคต สร้างอาคารหลบภัยในพื้นที่เสี่ยง ตั้งหน่วยงานพิเศษแบบ “ปะฉะดะ” ตามแนวรอยเลื่อนทุกแนว ด้าน “ผศ.ดร.สุทธิศักดิ์” แนะเฝ้าระวัง 2 เขื่อนกลางเมืองภูเก็ต บอกถนนใน กทม.มีโอกาสยุบตัวสูง
วันที่ 17 เม.ย. ดร.พิจิตต รัตตกุล ผอ.บริหารศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย ดร.วัฒนา กันบัว กล่าวว่า ผอ.ศูนย์อุตุนิยมวิทยา และผศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ หน.ศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานรากภาควิชาวิศวกรรมโยธา ร่วมพูดคุยถึงแนวโน้มภัยพิบัติ และแนวทางรับมือในอนาคต ในรายการคนเคาะข่าว ออกอากาศทางสถานีเอเอสทีวี ทีวีของประชาชน โดยมีนางจินดารัตน์ เจริญชัยชนะ เป็นพิธีกรดำเนินรายการ
ดร.พิจิตตกล่าวว่า ภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวแม้ไม่สามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้ แต่เรายังสามารถรักษาความปลอดภัยให้ตัวเองได้ หากภาครัฐเอาข้อมูลสถิติความถี่ที่เกิดขึ้น พื้นที่ตรงไหนมีความผิดปกติอย่างไร มาเปิดเผยให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้เตรียมตัวคิดล่วงหน้าว่าใครจะจัดการอะไรเมื่อเกิดภัยขึ้น
ส่วนความเสี่ยงที่จะเกิดการยุบตัวของแผ่นดินใน กทม.ยังมีอยู่ ตนอยากให้ทาง กทม.เอานักธรณีวิทยามาตรวจสแกนดูให้ทั่วกรุงเทพฯ แล้วทำเป็นแผนที่แสดงให้เห็นไปเลยว่าพื้นตรงไหนเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยสูง อย่างน้อยประชาชนจะได้รู้ใครที่คิดจะสร้างอาคารก็จะได้รู้พื้นที่นั้นอยู่บนจุดเสี่ยงหรือไม่ จะตอกเสาเข็มได้ลึกมากน้อยเพียงใด
ดร.พิจิตตกล่าวต่อว่า สังคมไทยกำลังเผชิญกับสิ่งที่เป็นภัย จงอย่าปลอบใจกันเองว่าภัยที่เกิดขึ้นไม่ร้ายแรง วันนี้การเตือนภัยพิบัติในประเทศไทยต้องเปลี่ยนทัศนคติใหม่ ไม่ใช่กดหวอแล้ววิ่ง มาตรการป้องกันขั้นต่อไปหลังเตือนภัยต้องไม่ใช่เพิ่งคิดและทำในขณะนั้น จะต้องทำก่อนเกิดเหตุ ในอนาคตเราจะเจอกันถี่ขึ้น เข้มขึ้น แปลกขึ้น ดังนั้นเราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับภัย
ขณะที่ ดร.วัฒนากล่าวว่า ในอนาคตเราจะต้องเจอกับพายุแรงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประเทศเพื่อนบ้านเราเจริญขึ้น มีการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้ขาดต้นไม้มาต้านแรงประทะของลม ประเทศไทยควรส่งเสริมให้มีการวิจัยค้นคิดวิเคราะห์ความน่าจะเกิดแผ่นดินไหวในอนาคตมากขึ้น เพื่อไว้เป็นตัวช่วยในการตัดสินใจ เหมือนกับในประเทศญี่ปุ่น มีหน่วยงานเหล่านี้ทำหน้าที่โดยเฉพาะ จนวิเคราะห์ได้ว่าปีไหนจะเกิดสึนามิ ขาดเพียงแค่ยังไม่สามารถระบุในรายละเอียดว่าเป็นเดือนไหนได้เท่านั้น
นอกจากนี้ รัฐบาลควรสร้างอาคารหลบภัย เพราะต่อให้กรมอุตุพยากรณ์ได้แม่นยำฝนตกน้ำจะท่วม ก็ไม่มีประโยชน์ เมื่อน้ำท่วมแล้วประชาชนจะไปอยู่ที่ไหน หรือหากเกิดลมพายุ บ้านที่จะปลอดภัยก็ต้องเป็นบ้านตึก เมื่อเราทำทุกคนสร้างบ้านเป็นตึกทั้งหมดไม่ได้ ดังนั้นต้องมีอาคารหลบภัยให้คนที่เป็นบ้านไม้หรือบ้านไม่ปลอดภัยได้อพยพไปอยู่ในที่ปลอดภัย
สำหรับประชาชนในพื้นที่ตามแนวรอยเลื่อนทุกแนว ต้องเฝ้าสังเกต ศึกษาประวัติการเกิดแผ่นดินไหว และหน่วยงานรัฐต้องลงไปให้ความรู้ บอกวิธีการเฝ้าระวังรวมถึงการป้องกันตัวเอง ถ้าจะให้ดีต้องมีหน่วยงานพิเศษแบบ “ปะฉะดะ” ขึ้นมาทำหน้าที่โดยเฉพาะ
ส่วน ผศ.ดร.สุทธิศักดิ์กล่าวว่า แผ่นดินไหวขนาด 4.3 จุดศูนย์กลางอยู่แถวภูเก็ต เป็นเรื่องที่น่าเฝ้าระวังต่อ กล่าวคือยิ่งอยู่ใกล้จุดศูนย์กลางความรุนแรงจะยิ่งมาก เพราะในพื้นที่นี้มีเขื่อน 2 เขื่อน อยู่หากจากจุดเกิดแผ่นดินไหวเพียง 6 กิโลเมตร จุน้ำ 7 ล้านลูกบาศก์เมตรตั้งอยู่ในเมือง นอกจากนี้ยังมีขุมเหมืองเก่าที่ชาวบ้านมักจะเอาดินขี้เหมืองมากันทำเป็นบ่อน้ำ หากพังขึ้นมาก็จะเป็นคลื่นน้ำดีๆ นั่นเอง
ส่วนปัญหาถนนยุบในพื้นที่ กทม. จากการสำรวจเฉพาะพระราม 4 จุดเดียว ปรากฏว่ามี ท่อ อุโมงค์ขนาดใหญ่อย่างน้อย 13 ท่อ วางพาดกันไปมา ทำให้เกิดโพรงใต้ดิน ที่สำคัญถนนดันไปวางพาดอยู่บนโครงสร้างเหล่านั้น จึงทำให้มีโอกาสเป็นไปได้อย่างสูงที่จะเกิดถนนยุบตัวเป็นหลุมเป็นบ่ออีก