xs
xsm
sm
md
lg

เตือนไทย ต้องระวังแผ่นดินไหวอีก 1-2 วัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ผู้เชี่ยวชาญแผ่นดินไหวของญี่ปุ่น เตือนอาจเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงขึ้นอีก นักวิชาการจุฬาฯ ชี้ อาจส่งผลกระทบกับประเทศไทยใน 6 จังหวัดชายฝั่งอันดามัน โดยเฉพาะ จ.ระนอง เหตุอยู่ใกล้แนวรอยเลื่อนมากที่สุด ขณะนักวิชาการ ม.มหิดล ชี้ แผ่นดินไหวครั้งนี้เหนือความคาดหมายและรุนแรงที่สุด

วันนี้ (12 เม.ย.) นายมิชิโอะ อาชิซึเมะ ผู้เชี่ยวชาญแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น กล่าวเตือนการเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิอีกครั้งใน 1-2 วันนี้ ว่า การเกิดแผ่นดินไหววานนี้ แม้ว่ามีขนาดใกล้เคียงกับเมื่อปี 2547 ซึ่งเกิดคลื่นสึนามิใหญ่ในประเทศไทย แต่ไม่สร้างความเสียหาย เนื่องจากเกิดแผ่นดินไหวในลักษณะการเคลื่อนตัวในแนวแฉลบในระดับที่ลึกกว่าเปลือกโลกกว่า 20 เมตร และเมื่อศึกษาเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่นเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกัน จึงน่าเป็นห่วงว่า อาจจะเกิดแผ่นดินไหวในลักษณะเดียวกันอีก แต่จะย้ายจุดไปตามรอยเลื่อน ซึ่งมีโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวในหมู่เกาะนิโคบาร์ในประเทศอินเดีย ที่มีภูเขาไฟใต้น้ำ หากเกิดแผ่นดินไหวในจุดนี้ จะทำให้แผ่นดินถล่ม พร้อมกับยกตัวสูง เกิดเป็นเกาะใหม่กลางทะเลขึ้นมา

นายธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หัวหน้าหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หากเกิดแผ่นดินไหวบริเวณหมู่เกาะนิโคบาร์ จะส่งผลให้เกิดสึนามิกระทบกับ 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันของไทยโดยตรง เพราะอยู่ห่างจาก จ.ระนอง ไม่มากนัก และหากเกิดแผ่นดินไหวขึ้นบริเวณดังกล่าว อีกครึ่งชั่วโมงก็จะเกิดสึนามิที่ชายฝั่ง จ.ระนอง

“จากนี้ไปอีก 1-2 วัน ควรจะเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น และเตรียมสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนให้มาก เพราะอาจจะเกิดกรณีเช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่น ซึ่งการเกิดอาฟเตอร์ช็อก ซึ่งปกติความแรงของแผ่นดินไหวจะลดลงไปมาก แต่มาครั้งนี้กลับลดลงเล็กน้อยเท่านั้น นอกจากนี้ การเกิดแผ่นดินไหววานนี้ อาจจะเป็นการกระตุ้นทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ตามมาอีกก็ได้” นายธนวัฒน์กล่าว

ด้าน รศ.ดร.วีระชัย สิริพันธ์วราภรณ์ หัวหน้าภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการติดตามการเกิดแผ่นดินไหวที่หัวเกาะสุมาตรา พบว่า มีความแตกต่างจากแผ่นดินไหวใหญ่เมื่อปี 47 เพราะเกิดคนละรอยเลื่อนที่ห่างกันกว่า 100 กิโลเมตร และเกิดจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกในแนวระนาบ ไม่มีการยกตัวของพื้นดินจึงทำให้ไม่มีพลังงานมากพอที่จะส่งแรงกระเพื่อมขึ้นมาบนผิวน้ำ จนเป็นคลื่นขนาดใหญ่ได้ และครั้งนี้ถือเป็นความผิดปกติทางธรณีวิทยาที่เหนือความคาดหมายของนักธรณีวิทยา ทั้งลักษณะการเกิดและความรุนแรงของแผ่นดินไหว โดยปกติแผ่นดินไหวในแนวระนาบจะเกิดขึ้นเฉพาะในแนวเปลือกโลกขนาดใหญ่และมีความแรงไม่มากเฉลี่ย 5-6 ริกเตอร์ ซึ่งเคยรุนแรงที่สุด 7.9 ริกเตอร์ ที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา แต่จุดนี้เป็นแผ่นเปลือกโลกขนาดเล็กที่ไม่เคยอยู่ในระบบการติดตาม และมีความรุนแรงถึง 8.6 ริกเตอร์ ซึ่งนักธรณีวิทยาจะต้องนำข้อมูลมาวิเคราะห์และติดตามพฤติกรรมของการเกิดแผ่นดินไหวในบริเวณนี้อย่างใกล้ชิด และหลังจากนี้จะยังคงมีอาฟเตอร์ช็อกเกิดขึ้นต่อเนื่องอีก 1-2 ปี แต่คาดว่าความแรงไม่เกิน 5-6 ริกเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น