ผอ.ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ชี้ให้จับตาอาฟเตอร์ช็อก และยังไม่สามารถยกเลิกประกาศเตือนภัยคลื่นยักษ์สึนามิได้ในขณะนี้ แม้ว่าอาจจะรุนแรงน้อยกว่าปี 47 แต่อยู่ในข่ายต้องเฝ้าระวัง
วันนี้ (11 เม.ย.) น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เปิดเผยว่า เกิดคลื่นกระทบฝั่งที่เกาะเมียง สูง 10 เซนติเมตร คาดไม่มีผลกระทบประเทศไทยแน่นอน ในลักษณะแผ่นดินไหวครั้งแรก แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถยกเลิกประกาศเตือนภัยคลื่นยักษ์สึนามิได้ เนื่องจากเกิดอาฟเตอร์ช็อก 2 ครั้ง ครั้งล่าสุดเมื่อเวลา 17.38 น.รุนแรง 8.3 ริกเตอร์ ซึ่งอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง หากไม่เกิดผลกระทบต่อประเทศไทยจะแจ้งยกเลิก ทันที
ผอ.ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ยืนยันยังไม่เกิดสึนามิจากการสั่นไหวครั้งแรก มีเพียงบางพื้นที่ที่เป็นเกาะแก่งของอินโดนีเซีย คลื่นสูงประมาณ 50 เซนติเมตร ซึ่งลักษณะแผ่นดินไหวครั้งนี้แตกต่างจากเมื่อปี 2547 ทั้งนี้เบาใจว่า ผลกระทบจากสึนามิมีน้อย แต่ยังไม่ไว้วางใจ ยังต้องติดตามสถานการณ์จากการเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีก 2 ครั้ง
น.อ.สมศักดิ์ ยืนยันว่า จากการเกิดแผ่นดินไหวครั้งแรกไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย แต่ต้องจับตาการเกิดอาฟเตอร์ช็อกขนาด 8.3 ริกเตอร์ เมื่อเวลา 17.38 น.ที่ผ่านมา
ด้านรศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงเหตุแผ่นดินไหว 8.9 ริกเตอร์ นอกชายฝั่งเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ว่ามีความลึก 33 กิโลเมตร ถือว่ามีอันตราย โดยจากฐานข้อมูลในเวลาประมาณ 16.48 น. ความสูงของคลื่นบริเวณหาดป่าตอง จ.ภูเก็ต ประมาณ 3-4 เมตร เตือนประชาชนอพยพโดยมี 3 จังหวัดที่ต้องเตือนภัยสึนามิ ได้แก่ ภูเก็ต พังงา กระบี่
ทั้งนี้ จ.พังงา เวลา 17.00 น. คลื่นสูงประมาณ 3-4 เมตร ต่อมา จ.กระบี่ เวลา 17.58 น. คลื่นสูงประมาณ 1-2 เมตร เพราะฉะนั้น 3 จังหวัดนี้มีความเสี่ยง ต้องประกาศห้ามอยู่แนวชายฝั่ง