xs
xsm
sm
md
lg

พบ13รอยเลื่อนไทยเคลื่อนไหวผิดปกติ-จับตาภาคเหนือใกล้ชิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - “พิจิตต” ห่วงรอยเลื่อนแผ่นดินไหวในไทย 13 แห่ง มีการเคลื่อนไหวผิดปกติ เตือนจับตาเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และกาญจนบุรีอย่างใกล้ชิด พร้อมเสนอ 4 ข้อท้าทาย สร้างภูมิคุ้มกัน องค์ความรู้ และสร้างการประสานงานในการจัดการภัยพิบัติอุบัติใหม่

วานนี้ (7 มี.ค.) ที่โรงแรมแกรนด์สุนีย์แกรนด์ จังหวัดอุบลราชธานี สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จัดการประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติครั้งที่ 6 ขึ้นภายใต้หัวข้อ “การแพทย์ฉุกเฉินไทย ฝ่าภัยพิบัติ 2012” โดยภายในงานได้มีการปาฐกถาพิเศษเรื่องความเสี่ยง โอกาสและความท้าทาย ในการจัดการภัยพิบัติของโลกและไทย โดย นายพิจิตต รัตตกุล คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (กพฉ.) และผู้อำนวยการบริหารศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (ADPC)
นายพิจิตต กล่าวว่า ในอนาคตจะมีภัยพิบัติเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ดังนั้น สพฉ. จะต้องเตรียมความพร้อมให้สูงขึ้นเพราะหากเทียบเคียงสถิติการเกิดภัยพิบัติ ระหว่างซีกโลกตะวันตกกับซีกโลกตะวันออกอย่างเอเชียจะมีความรุนแรงแตกต่างกันมาก เช่น ความเร็วของพายุ 170 ไมล์ต่อชั่วโมงทำลายความเสียหายให้กับซีกโลกตะวันตกได้เพียงนิดเดียว แต่หากเคลื่อนย้ายมาทางซีกโลกตะวันออกแล้วความเสียหายมีจำนวนมาก ขึ้นถึงร้อยละ 84 เพราะเราไม่มีความรู้เรื่องการเตรียมพร้อม แต่ทั้งนี้เราคงไม่สามารถหยุดยั้งภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นได้ แต่เราสามารถยับยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้

ทั้งนี้ ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยเรามีหลายรูปแบบทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ทำให้เกิดปริมาณฝนตกมากขึ้น น้ำทะเลจะหนุนสูงขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำจนเกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงและมหาศาล การยุบตัวของดินจะเกิดขึ้นเรื่อยๆ และขยายเป็นวงกว้างโดยเฉพาะในส่วนของภาคกลางพื้นแผ่นดินจะกลายเป็นแอ่งลึกลงไปแทบทั้งสิ้น ทางภาคใต้ต้องเตรียมรับมือกับพายุที่มีความรุนแรงเหมือนพายุเกย์ พายุลินดา สืบเนื่องจากการเปลี่ยนผ่าน ของมรสุมจากประเทศฟิลิปปินส์ ที่เปลี่ยนทิศทางการเดินทาง นอกจากนั้นแล้วภาคใต้ตอนบนยังต้องเตรียมรับมือกับสตรอมเสริม (Stormsurge) ซึ่งภาวะแบบนี้จะลามมายังภาคกลางด้วย

นายพิจิตต กล่าวต่อว่า เราอาจจะต้องเผชิญกับภัยพิบัติที่แตกต่างกันอย่างรุนแรง เราต้องเตรียมพร้อมรับมือ อาทิ เรื่อง ปัญหาอาคารทรุด หน่วยแพทย์ฉุกเฉินจะต้องรู้ว่าจะตัองเตรียมเครื่องมือในการค้นหาอย่างไร ทั้งนี้ความเสี่ยงเรื่องภัยพิบัติของประเทศไทยมีอยู่ด้วยกัน 3 รูปแบบ คือ 1.รูปแบบของลมที่จะรุนแรงขึ้นและรูปแบบของฝนที่มากขึ้นและจะส่งผลให้ปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 30 ซึ่งปริมาณที่มากขึ้นนี้จะส่งผลให้เกิดการถ่ายน้ำทิ้ง ลงทะเลโดยไม่มีการกักเก็บก็จะส่งผลให้เกิดภัยแล้ง ดังนั้นสิ่งที่ท้าทายในการทำงานของเราคือการสร้างความสมดุลระหว่างน้ำ ทั้งนี้สิ่งที่น่าเป็นกังวลที่สุดคือเรื่องรอยเลื่อนที่มีอยู่ในประเทศไทย ทั้งหมด 13 รอยเลื่อน ซึ่งรอยเลื่อนที่น่าเป็นกังวลมากที่สุดซึ่งรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ และรอยเลื่อนแม่เมาะ ที่ในช่วง 2 ถึง 3 เดือนที่ผ่านมีการเคลื่อนไหวผิดปกติ จังหวัดที่น่าเป็นห่วงที่อยู่ในบริเวณรอยเลื่อนเหล่านี้คือจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี

นอกจากนี้สิ่งที่น่าเป็นกังวลอีกเรื่องคือภัยอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้น เช่น ดินถล่ม จนส่งผลให้เกิดน้ำหลากเข้าสู่ชุมชนและอาจจะได้เห็นน้ำป่าที่หลากเข้ามาสูง 4-5 เมตร นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องวินด์เสริช (windsurge) ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่เกิดขึ้นจากลมซึ่งประสานความรุนแรงกับการกัดเซาะชายฝั่งจากน้ำ จะส่งผลความเสียหายให้เกิดขึ้นกับพื้นที่ชายฝั่งเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ แล้วยังมีปัญหาของโรคอุบัติใหม่ที่จะเกิดขึ้นตามมากับปัญหาเหล่านี้ด้วย

สำหรับสิ่งที่เราจะต้องรีบทำซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายเรามีอยู่ด้วยกันทังหมด 4 ข้อคือ 1.การสร้างภูมิคุ้มกันให้คนในสังคมเข้มแข็ง ในเรื่องของการประเมินความเสี่ยง โดยในแต่ละหมู่บ้านจะต้องรู้ว่าตนเองจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดภัยพิบัติอะไรบ้าง และจะต้องเตรียมการอย่างไร และการแพทย์ฉุกเฉินที่จะเข้าไปช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว 2. เราจะต้องสร้างภูมิคุ้มกันในการช่วยเหลือแบบโต้ตอบเพราะที่ผ่านมาเมื่อเกิดภัยพิบัติ เราไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงทีซึ่งสิ่งที่สำคัญจะต้องมีการสร้างชุมชนให้เป็นฐานของเราให้ได้ พร้อมกันนี้ก็จะต้องมีการสร้างระบบการประสานงานให้เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะในส่วนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จะต้องประสานให้เกิดความเข้าใจให้ได้ว่าส่วนไหนควรมีไฟหรือไม่มีไฟ ในปริมาณของปัญหากว่าร้อยละ 30-40 เป็นเรื่องของการขาดการประสานงานแทบทั้งสิ้น

3.จะต้องมีการสร้างองค์ความรู้ในระบบเตือนภัยให้เกิดขึ้นกับชุมชนท้องถิ่น จะต้องฝึกให้ชาวบ้านคาดการการพยากรณ์อากาศได้ เพราะเมื่อชาวบ้านมีความรู้ในเรื่องเหล่านี้เบื้องต้นก็จะสามารถเตรียมการใน ส่วนของตนเองได้ นอกจากนี้ระบบเตือนภัยก็จะต้องทำให้มีการเข้าถึงอย่างรวดเร็วแม่นยำ เพื่อทำให้การเตรียมการป้องกันภัยพิบัติเกิดขึ้นอย่างมทันท่วงที 4. ความท้าทายอีกเรื่องของการทำงานคือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องรักษาถนนในการคมนาคมหลักไว้ให้ได้เพราะเมื่อถนนขาด เราก็ไม่สามารถช่วยเหลือใครได้ ซึ่งในเหตการณ์อุทกภัยที่ผ่านมา สพฉ.ดำเนินการได้อย่าสัมฤทธิ์ผล เพราะว่าได้รับความร่วมมือจากหลากหลายฝ่ายทั้งในส่วนของเรือและเฮลิคอปเตอร์

“สิ่งที่สำคัญคือเราจะเตรียมความพร้อมในเรื่องของชุมชนโดยชุมชนจะต้องเข้า มามีส่วนช่วยในการเตรียมการเมื่อเกิดภัยพิบัติและเหตุฉุกเฉิน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องทำงานแบบประสานความร่วมมือจะไม่มีการทะเลาะกันของหลายหน่วยงานอย่างครั้งที่ผ่านมา และที่สำคัญที่สุดเราไม่ควารนำการเมืองมาเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาภัย พิบัติ ฝ่ายการเมืองจะต้องตระหนักถึงจุดนี้ด้วย” ผอ.ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย ระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น