xs
xsm
sm
md
lg

มูลนิธิเตือนภัยฯสร้างเครือข่ายชาวระนอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จัดประชุมการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติและสร้างเครือข่ายการเตือนภัยให้ชาวระนอง
ระนอง - มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จัดประชุมการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติและสร้างเครือข่ายการเตือนภัยให้ชาวระนอง

วันนี้ (17 ก.พ.) ที่โรงแรมทินิดีระนอง นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เป็นประธานเปิดการประชุมการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติและสร้างเครือข่ายการเตือนภัยให้ชาวระนอง ซึ่งมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดระนอง และบริษัท ลูกทุ่งเน็ตเวิร์ก จำกัด จัดขึ้น มีผู้เข้าร่วมรับฟังประมาณ 400 คน

ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง กล่าวว่า จังหวัดระนองเป็นจังหวัดเสี่ยงภัยเนื่องจากมีสภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขามีความลาดชันสูง และอยู่ริมชายฝั่งทะเลอันดามัน จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ที่ได้มาจัดประชุมให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยพิบัติแก่ชาวระนอง

นายสมิทธ ธรรมสโรช ประธานมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ หรือ กยน.กล่าวว่า จังหวัดระนองเป็นพื้นที่หนึ่งที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว และสึนามิ เนื่องจากมีรอยเลื่อนทั้งในทะเลและบนบก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้คาดการณ์ว่า มีพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวในระยะ 5-10 ปีข้างหน้า ในทะเลอันดามัน 3 จุด หากเกิดสึนามิในจุดที่ใกล้ที่สุด คลื่นจะเดินทางถึงฝั่งระนองประมาณ 40 นาที ดังนั้นประชาชนต้องเตรียมพร้อมและ รู้จักสังเกตการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ

รศ.ดร.ปัญญา จารุศิริ ภาควิชาธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่ารอยเลื่อนระนอง ยังเป็นรอยเลื่อนที่มีพลังอยู่ ซึ่งมีโอกาสที่จะทำให้เกิดแผ่นดินไหวที่มีขนาด 5-7 ริกเตอร์ ในระยะปัจจุบันถึงสองพันปีข้างหน้า แต่ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่เท่านั้นเอง แต่โชคดีที่ระนองมีบ่อน้ำพุร้อนหลายแห่งที่ทำให้มีการปลดปล่อยพลังงานความร้อนจากใต้โลกขึ้นมาสู่ผิวโลกได้ ซึ่งส่งผลดีต่อการไหวตัวที่ไม่รุนแรงเมื่อมีการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก

สำหรับรอยเลื่อนระนองมีความยาวบนแผ่นดินประมาณ 300 กิโลเมตร แยกได้ 19 ท่อน มุดตัวอยู่ในทะเลอันดามันประมาณ 350 กิโลเมตร แยกได้ 4 ท่อน และอ่าวไทยประมาณ 45 กิโลเมตรแยกได้ 3 ท่อน นอกจากนี้ระนองยังเสี่ยงต่อการเกิดดินภูเขาถล่มและดินยุบตัวด้วย ซึ่งประชาชนไม่ควรไปปลูกสร้างอาคารในที่ใกล้รอยเลื่อน หรือใกล้ภูเขา

ด้าน นายปราโมทย์ ไม้กลัด กล่าวว่า ในแต่ละปีจังหวัดระนองมีปริมาณน้ำฝนวัดได้ถึง 4,000 มิลลิเมตร สภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาและลาดชัน เมื่อฝนตกลงมาน้ำจะไหลลงสู่ทะเลอย่างรวดเร็ว ลักษณะเช่นนี้จะเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมฉับพลัน หากไม่มีการบริหารจัดการที่ดีพอ ดังนั้นเราต้องเรียนรู้ธรรมชาติ โดยเอาภัยที่เกิดขึ้นมาเป็นครู และแต่ไม่ควรตื่นตระหนก
ชาวระนองสนใจเรียนรู้ภัยธรรมชาติ
ชาวระนองสนใจเรียนรู้ภัยธรรมชาติและเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังภัย
กำลังโหลดความคิดเห็น