xs
xsm
sm
md
lg

ชู “ลาดกระบังโมเดล” รับมือภัยพิบัติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สสส.ผนึก มทจ.ลาดกระบัง thaiflood จัด “วันรวมพลังรับมือภัยพิบัติ” ดึงทุกภาคส่วนร่วม “เครือข่ายรับมือภัยพิบัติ” ชู “ลาดกระบังโมเดล” ผสานความร่วมมือสถาบันศึกษา ชุมชน เทคโนโลยี สร้างมาตรการป้องกันภัยพิบัติ ด้าน thaiflood จัดทำแผนที่ความเสี่ยง แผนที่ศักยภาพมนุษย์ เตรียมเผยแพร่สู่ชุมชน

วันนี้ (5 พ.ค.) ที่หอประชุมใหญ่ คณะวิศวกรรมศาสตร์  สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวเปิดงาน “วันรวมพลังรับมือภัยพิบัติ” National Disaster Preparedness Day 2012 ซึ่งจัดโดย โครงการรวมพลังรับมือภัยพิบัติ ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง ว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเกิดเหตุภัยพิบัติอย่างต่อเนื่อง และมีสัญญาณที่ทำให้ต้องตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงทั้งสภาพอากาศ สิ่งแวดล้อม สังคมต้องหันมาตระหนัก และมีส่วนร่วมกับการเตรียมความพร้อม เนื่องจากที่ผ่านมา มีเพียงแผนในกระดาษที่ยังไม่ได้ปฏิบัติจริง ซึ่งต้องหาหนทางที่จะช่วยลดความสูญเสียหากมีภัยพิบัติเกิดขึ้น  ซึ่งเป็นที่มาของการกำหนด “วันรวมพลังรับมือภัยพิบัติ” เป็นครั้งแรก โดยใช้วันดีในวันที่ 5-5-55 เป็นวันเริ่มต้นรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนร่วมเป็นเครือข่ายรับมือภัยพิบัติ และเพื่อช่วยกระตุ้นเตือนให้คนไทยได้เตรียมความพร้อมของตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคม ในการรับมือภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต เพราะความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติแม้จะเป็นปัจจัยที่ไม่อาจควบคุมได้ แต่สามารถเรียนรู้ และปรับตัวที่จะอยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติได้

 “ในช่วงวิกฤตมหาอุทกภัยปลายปี 2554 ทุกภาคส่วนได้ร่วมมือให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยเกิดเป็นกลุ่มจิตอาสาจำนวนมาก สสส.และภาคีเครือข่ายได้เป็นส่วนหนึ่งในการกู้วิกฤติของประเทศด้วย โดยจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือ “บ้านอาสาใจดี” และเชื่อมโยงจิตอาสาจากภาคส่วนต่างๆ มาทำงานร่วมกันช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง” ดร.สุปรีดา กล่าว

ดร.คมสัน มาลีสี รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า การสร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายภัยพิบัติจำเป็นต้องมีความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งสถาบันการศึกษาและชุมชน โดยในช่วงที่เกิดอุทกภัยปี 2554 ทางสถาบันฯ ได้จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังทำงานร่วมมือกับ 61 ชุมชนในพื้นที่รอบสถาบันฯ เพื่อกำหนดแผนรับมือน้ำท่วมอย่างเป็นระบบในการวางแผน, วัด และรายงานระดับน้ำ, การแจ้งเตือนและช่วยเหลือตลอดจนวางแผนฟื้นฟูอย่างเป็นระบบเพื่อที่จะสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับในแต่ละพื้นที่และสถานการณ์ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยส่งทีมนักศึกษาจิตอาสา “หมอไฟ-หมอบ้าน” ร่วมดูแลชุมชนและพร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์เรียกว่า “ลาดกระบังโมเดล” เป็นการนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทั้งนี้ สถาบันการศึกษาต้องอยู่คู่กับชุมชนและเป็นที่พึ่งของสังคมทั้งในยามมีภัยและไม่มีภัย 

นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า ปัจจุบันโลกเป็นของวิศวกรที่จะสร้างควบคุม บังคับธรรมชาติ แต่เมื่อธรรมชาติชนะก็ต้องกลับมาใช้ความรู้เดิม คือ การเรียนรู้ธรรมชาติ ซึ่งในธรรมชาติจะมีที่ลุ่ม ที่บาง ที่ดอน แต่เมื่อมีเขื่อนก็จะทำให้ไม่สามารถคาดคะเนทิศทาง ปริมาณน้ำได้ ขณะที่หน่วยป้องกันน้ำท่วมของไทยมีเพียงหน่วยเดียว คือ สำนักการระบายน้ำ กทม.ส่วนกรมชลประทาน ทำหน้าที่หาน้ำมาให้เกษตรกรเท่านั้น และคลองชลประทานก็ไม่ได้ทำเพื่อระบายน้ำ ดังนั้น จึงควรมีหน่วยงานประจำที่ทำหน้าที่จัดการปัญหาน้ำท่วมโดยตง และจำเป็นต้องมีกฎหมายมารองรับ

นายปรเมศวร์  มินศิริ ผู้จัดการโครงการรวมพลังรับมือภัยพิบัติ สสส.กล่าวว่า โครงการได้รวบรวมองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการทำงานของเครือข่ายต่างๆ นำมาถ่ายทอดประสบการณ์ในวันรวมพลังรับมือภัยพิบัติ และจะนำไปเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ www.thaiflood.com และช่องทางการสื่อสารทางโซเชียลมีเดียอื่นๆ เพื่อตอกย้ำให้เกิดความตระหนักในการสร้างรูปแบบการรับมือกับภัยพิบัติแบบต่างๆ ตลอดจนการเชื่อมโยงเครือข่ายให้ทำงานบนฐานข้อมูลเดียวกัน โดยในวันรวมพลังรับมือภัยพิบัตินี้ ได้จัดทำแผนที่ความเสี่ยง (DisasterHazard Mapping) และแผนที่ศักยภาพมนุษย์ (Human Mapping) ในรูปแบบดิจิตอลไฟล์เพื่อนำมาต่อยอดเพิ่มเติมข้อมูลจากประสบการณ์ทำงานของภาคส่วนต่างๆ เพื่อนำไปเผยแพร่และสร้างความพร้อมในชุมชนต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น