แพร่ - ชาวบ้านในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำป่าเมืองแพร่ประกอบพิธีสืบชะตาแม่น้ำ ขณะที่กลุ่มเยาวชนต้นน้ำสรอยร่วมทำข้อมูลเตือนภัยโดยใช้แอนิเมชัน ผู้ว่าฯ-องค์กรเอกชนต่างชื่นชมทั่วหน้า
รายงานข่าวจากจังหวัดแพร่แจ้งว่า ชาวบ้านใน ต.สรอย อ.วังชิ้น จ.แพร่ โดยเฉพาะชาว “บ้านโฮ้ง” ที่ถูกน้ำป่าพัดจนบ้านลอยไปกับกระแสน้ำทั้งหมู่บ้านกว่า 40 หลังคาเรือน ประชาชนที่รอดชีวิตด้วยการเกาะยอดต้นมะขามขนาดใหญ่เผชิญกับน้ำป่าตลอดทั้งคืนเมื่อคืนวันที่ 3 พฤษภาคม 44 ได้ร่วมกันทำบุญสืบชะตาลำห้วยสรอยเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 55 ที่ผ่านมา เป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์น้ำป่าในครั้งนั้น และขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อเกี่ยวกับป่าและลุ่มน้ำได้ปกปักรักษาหมู่บ้านอย่าได้เกิดน้ำป่าเหมือนครั้งที่ผ่านมาอีกเลย
โดยนอกจากจัดกิจกรรมทางศาสนาตามความเชื่อแล้ว “กลุ่มเยาวชนรักษ์ต้นน้ำสรอย” ได้ร่วมนำเสนอข้อมูลการสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัยที่มีการพัฒนาในแผนที่ดิจิตอลและสร้างภาพแอนิเมชันถึงระดับน้ำที่เข้าท่วมพื้นที่หมู่บ้านต่างๆ ในลุ่มน้ำสรอย และจุดที่จะเกิดดินโคลนพังทลาย ออกแสดงแก่ชาวบ้านที่มาร่วมงาน เพื่อเป็นการเตรียมการป้องกันภัยพิบัติไม่ให้เกิดการสูญเสียอีก ถ้าปีนี้จะเกิดน้ำป่าขึ้นอีกครั้ง
ซึ่งการจัดกิจกรรมครั้งนี้ นายเกษม วัฒนธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ได้ให้ความสนใจและเดินทางมาเป็นประธาน พร้อมทั้งดูการทำงานเตรียมความพร้อมของชุมชนในการป้องกันภัยน้ำป่า ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยที่หวั่นวิตกว่าในช่วงที่มีฝนตกหนักจะเกิดปัญหาน้ำป่าซ้ำรอยอีก
นายเกษมกล่าวว่า ขณะนี้แพร่มีหลายพื้นที่ที่ถือว่าเป็นจุดเสี่ยงภัยน้ำป่าโคลนถล่ม แบ่งออกเป็น 2 โซน คือ 1. สองฝั่งลำน้ำยม 280 กิโลเมตร และลำน้ำสาขาแม่น้ำยม 2. พื้นที่ที่เคยเกิดดินโคลนถล่มและน้ำป่าที่จังหวัดมีสถิติอยู่ ซึ่งได้เรียกนายอำเภอทั้ง 8 อำเภอมาประชุมและสั่งการไปหลักๆ 3 เรื่องด้วยกัน คือ เรื่องแรก ลำน้ำที่มีอยู่ในเขตอำเภอไหนให้ตรวจสอบจุดเสี่ยงภัย มีสะพานกี่ตัว มีจุดตลิ่งพังกี่จุด ฯลฯ ให้เตรียมการป้องกันก่อน
ประการที่ 2 ฝายถาวรที่มีอยู่นับ 1,000 แห่ง เร่งสำรวจถ้าพบว่าชำรุดจำเป็นต้องรื้อให้เร่งรื้อออกเพื่อไม่ให้ขวางทางน้ำ และส่วนที่ดี ให้อยู่ในลักษณะพร้อมใช้งานไม่ให้เกิดปัญหาการไหลของน้ำ
ประการสุดท้าย หมู่บ้านที่เคยถูกน้ำป่าและดินโคลนถล่ม ต้องตรวจสอบว่ายังคงเดิมหรือมีการเปลี่ยนแปลง ให้เตรียมความพร้อมให้ประชาชนได้รับข้อมูลการแก้ปัญหาถ้าเกิดภัยขึ้นมาในช่วงฝนตกหนัก เช่น มาตรวัดน้ำ วัดน้ำฝน สัญญาณเตือนภัย แผนอพยพ และการสื่อสารมีความพร้อมมากน้อยเพียงใด
“ข้อสำคัญ อำเภอต้องประสานงานกับผู้ใหญ่บ้าน และจัดข้าราชการลงรับผิดชอบในแต่ละหมู่บ้าน จัดประชุมชาวบ้านทบทวนการแก้ปัญหาและจุดปลอดภัย เตรียมยานพาหนะ ยารักษาโรค และอุปกรณ์ในการกู้ภัย”
ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่กล่าวว่า ต้องขอร้องข้าราชการที่เข้ารับผิดชอบในแต่ละหมู่บ้านในช่วงนี้อย่าออกนอกพื้นที่แม้จะเป็นวันหยุดก็ตาม และขอชื่นชมการทำงานของชาวบ้านโฮ้ง กลุ่มเยาวชนรักษ์ต้นน้ำสรอย พร้อมทั้งภาคีความร่วมมือในการเตรียมการรับภัยพิบัติด้วยตนเอง โดยเฉพาะการหาข้อมูลจุดเสี่ยงภัยนำไปทำเป็นวิดีโอแอนิเมชันเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบระดับน้ำในแผนที่ดิจิตอลทำให้เห็นภาพชัดเจนจนระบุได้ว่ามีกี่หลังคาเรือนที่ต้องอพยพถ้าเกิดเหตุการณ์น้ำป่า ทำให้ประชาชนเกิดความระมัดระวัง ซึ่งถ้าจะเกิดน้ำป่าอีก เชื่อว่าหมู่บ้านนี้จะไม่มีผู้เสียชีวิตเช่นอดีตอย่างแน่นอน
นางสาวสุธิดา แสงเพชร ศูนย์ประสานงานเครือข่ายการพัฒนาและประชาสังคมจังหวัดเพชรบุรี และภาคตะวันตก ที่มาร่วมงานเปิดเผยว่า ข้อมูลที่เครือข่ายลุ่มน้ำสรอย ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุ เยาวชน และเครือข่าย ได้ร่วมกันเตรียมความพร้อมมีข้อมูลการเกิดน้ำป่าชัดเจนเป็นสิ่งที่ดีมาก ซึ่งเชื่อว่าทางราชการในจังหวัดแพร่จะต้องนำไปใช้เป็นข้อมูลพัฒนาต่อ ซึ่งลุ่มน้ำนี้มีประชาชนอาศัยอยู่ถึง 3 ตำบล และควรที่จะนำไปขยายผลให้เกิดการพัฒนาทุกลุ่มน้ำที่มีการเสี่ยงภัย
นายชินพร นิลวัชรมณี ผู้แทนจากกลุ่มกู้ภัยอาสาดุสิต จากกรุงเทพฯ ได้เข้าร่วมในกิจกรรมของชาว ต.สรอย ในครั้งนี้ กล่าวว่า เป็นกิจกรรมที่ดีมากที่เยาวชนได้ใช้เวลาว่างมาร่วมกันสำรวจลำน้ำทำข้อมูลเตือนภัย เป็นข้อมูลที่ละเอียดลงลึกและสามารถใช้ได้ดี เป็นวิธีการที่ทันสมัยมาก ซึ่งกลุ่มกู้ภัยอาสาดุสิตต้องขอนำวิธีการจัดการของเยาวชนไปเผยแพร่ เพื่อให้ชุมชนอื่นได้ลุกขึ้นมาจัดการปัญหาภัยพิบัติด้วยตนเอง
โดยกลุ่มกู้ภัยอาสาดุสิตมีแนวทางที่จะพัฒนาการสื่อสารให้ชุมชนที่มีลุ่มน้ำเสี่ยงภัยแห่งนี้ คือ ต.แม่พุง ต.ป่าสัก และ ต.สรอย สามารถติดต่อประสานงานกับตัวเมืองแพร่ได้โดยใช้วิทยุสื่อสาร ซึ่งจะมีอนามัยบ้านแม่ตืด ต.แม่พุง เป็นแม่ข่ายในการสื่อสาร เตือนภัย และกู้ภัย ซึ่งกลุ่มกู้ภัยอาสาดุสิตจะขอรับบริจาคสิ่งของจากกรุงเทพฯ เพื่อส่งสิ่งของจำเป็นเข้ามาช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว เช่น เรือ สิ่งของยังชีพ อาหาร เป็นต้น