xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านบุกศาลากลางตรังค้านสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกันตัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - เครือข่ายประชาชนตรัง บุกศาลากลางพบผู้ว่าฯ แสดงท่าทียืนยันคัดค้านสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ อ.กันตัง ด้านพ่อเมืองเตือนทุกฝ่ายอย่าเน้นให้ข้อมูลแต่เชิงลบ

วันนี้ (9 ก.ค.) ที่ห้องประชุมชั้น 3 ศาลากลาง จ.ตรัง เครือข่ายภาคประชาชน พร้อมด้วยชาวบ้านจาก อ.กันตัง ได้แก่ ต.บางสัก ต.นาเกลือ ต.เกาะลิบง ต.กันตังใต้ และ ต.วังวน ซึ่งอยู่ในรัศมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จำนวนกว่า 30 คน นำโดย น.ส.ศยามล ไกรยูรวงศ์ หน.โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกระบบนิเวศวิทยา และนายไมตรี วิเศษศาสตร์ ที่ปรึกษาผู้ตรวจราชการ สำนักนายกรัฐมนตรี ฝ่ายสิ่งแวดล้อม จ.ตรัง ได้เข้าร่วมหารือกับ นายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เพื่อแสดงเจตนารมณ์ต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน ในพื้นที่ 3 ตำบลเป้าหมายของ อ.กันตัง เพราะหวั่นเกรงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และวิถีชุมชน

นายพิสิฐ ชาญเสนาะ ประธานมูลนิธิหยาดฝน จ.ตรัง กล่าวว่า ที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2528 จ.ตรัง มีการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากร ทั้งด้านการประมง ลุ่มน้ำ ป่าชายเลน หญ้าทะเล และพะยูนอย่างเป็นรูปธรรม ประชาชนมีความเข้มแข็ง และมีการทำมาหากินแบบพึ่งพาธรรมชาติมาโดยตลอด ขณะที่การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ อ.กันตัง จึงถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น ดังนั้น พวกตน และเครือข่ายจึงต้องออกมาแสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน พร้อมเรียกร้องให้พัฒนา จ.ตรัง ไปตามยุทธศาสตร์จังหวัดที่กำหนดไว้

ด้าน นายชนะชัย หวังแดหวา ตัวแทนชาวบ้าน ต.บางสัก กล่าวว่า อยากให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำเสนอข้อมูลทั้งด้านดี และด้านลบ เพราะจากการที่พวกตนได้ไปสัมผัสกับชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่จัดสรรของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง พบว่า ทุกคนล้วนได้รับผลกระทบด้านสุขภาพ มีเสียงดังรบกวนในช่วงกลางคืน และ กฟผ.ก็ละเลยต่อการเข้ามาดูแล

นอกจากนั้น ชาวบ้านยังไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องการจ่ายเงินชดเชยในกรณีต่างๆ และที่สำคัญก็คือ เมื่อมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นในพื้นที่ ได้ส่งผลกระทบให้การดำเนินชีวิตทุกอย่างเป็นอัมพาตหมด จนไม่สามารถหาทางเยียวยาได้ ดังนั้น ขอให้ชาวบ้านใน จ.ตรัง อย่าไปหลงเชื่อแค่เงินค่าจ้างวันละ 300 บาท ที่ กฟผ.หยิบยื่นให้ และอยากให้ทางจังหวัดหาโครงการที่ดีกว่าการสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่

ขณะที่ นายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า ตนคงไม่มีอำนาจที่จะไปสั่งห้ามไม่ให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้า และก็ไม่มีสิทธิที่จะไปทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านเปลี่ยนแปลงไป แต่มีหน้าที่ต้องประคับประคองประเพณี วัฒนธรรมท้องถิ่น และวิถีชีวิตความเป็นอยู่เดิม ให้คงอยู่ต่อไป ดังนั้น จึงไม่ต้องกังวลว่า ตนจะส่งเสริมเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาในพื้นที่ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบ อีกทั้งโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินก็คงไม่ได้เกิดขึ้นได้ในเวลาอันรวดเร็ว

โดยเบื้องต้น ตนได้ตักเตือนให้ข้าราชการในพื้นที่วางตัวเป็นกลาง เน้นย้ำไม่ให้แสดงความคิดเห็นไปในทางที่เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย เพราะจะทำให้สถานการณ์บานปลายยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน เครือข่ายภาคประชาชนเอง ก็อย่าใส่ข้อมูล และเนื้อหาในเชิงที่เป็นลบให้แก่ประชาชนมากเกินความจริง จนทำให้ผู้ถูกกล่าวหาบางคนที่เป็นถึงผู้นำชุมชนไม่มีโอกาสชี้แจง เพราะตนอยากจะเห็นทุกฝ่ายมีบรรยากาศที่ดีในการแสดงความคิดเห็นในลักษณะที่ไม่แตกแยกกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น