xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสงขลาร่วมถกขุดลอกทะเลสาบปัญหาใหญ่ดินมหาศาลทิ้งที่ไหน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ชาวสงขลา 5 อำเภอ ลุ่มทะเลสาบสงขลา ร่วมประชุมสัมมนาครั้งที่ 1 โครงการงานศึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บทการขุดลอกเพื่อพัฒนา และฟื้นฟูทะเลสาบสงขลาตอนล่าง หลังเปิดเวทีในพื้นที่มาแล้ว ส่วนใหญ่เห็นด้วยแต่ติดปัญหาดินที่ขุดขึ้นมาจะทิ้งที่ไหน

เวลา 09.30 น.วันนี้ (21 มี.ค.) ที่ห้องประชุม มหาวิทยาลัยทักษิณ อ.เมือง จ.สงขลา คณะโครงการงานศึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บทการขุดลอกเพื่อพัฒนาและฟื้นฟูทะเลสาบสงขลาตอนล่าง ประชุมสัมมนาครั้งที่ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชน ในโครงการงานศึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บทการขุดลอกเพื่อพัฒนาและฟื้นฟูทะเลสาบสงขลาตอนล่าง โดยเป็นการนำความคิดเห็นของประชาคมในแต่ละพื้นที่ 5 อำเภอของจังหวัดสงขลา ซึ่งประกอบด้วย อ.เมือง อ.หาดใหญ่ อ.สิงหนคร อ.บางกล่ำ และ อ.ควนเนียง โดยมี นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาเป็นประธาน

นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ในนามของส่วนราชการจังหวัดสงขลาซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลทะเลสาบสงขลา ที่เป็นสมบัติของชาวสงขลา การประชุมวันนี้เป็นการรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนกับโครงการขุดลอกล่องน้ำทะเลสาบสงขลาเพื่อพัฒนาและฟื้นฟู แต่ถ้าทุกคนเห็นว่าการขุดลอกทะเลสาบสงขลาแล้วจะทำให้ดีขึ้น และได้รับการพัฒนา จึงขอความร่วมมือจากประชาชนว่าหากสิ่งใดเห็นว่าดี ทางจังหวัดก็จะสนับสนุนเต็มที่

สำหรับปัญหาของทะเลสาบสงขลาในขณะนี้มีผลกระทบต่อสิ่งต่างๆ ในจังหวัดสงขลา คือ 1.ทะเลสาบในขณะนี้ตื้นเขินมาก สัตว์น้ำเริ่มน้อยลง สิ่งมีชีวิตเริ่มหมดไป 2.เมื่อทะเลสาบตื้นเขินมากๆ จังหวัดสงขลาคิดจะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมก็จะได้ผลไม่เต็มร้อย เพราะปัญหาน้ำท่วมทุกลุ่มน้ำจะไหลลงสู่ทะเลสาบเป็นส่วนใหญ่ ถ้าน้ำไหลลงมาในทะเลสาบที่ตื้นเขินอยู่แล้วก็จะทำให้เกิดน้ำท่วม ขณะนี้ได้ทำโครงการระบายน้ำลงสู่ทะเลสาบสงขลาอยู่ หากมีการขุดลอกล่องน้ำให้ลึกก็จะได้ผลเต็มร้อย ขณะนี้ความลาดชันระหว่างทะเลสาบกับคลองอู่ตะเภาประมาณ 3 เมตร ถ้าทะเลสาบตื้นเขินน้ำก็จะไหลลงช้า 3.ถ้าปล่อยให้ทะเลสาบสงขลาตื้นเขินอยู่เรื่อยๆ ทะเลสาบสงขลาจากที่เคยเป็นเมืองสองทะเลก็จะเหลือทะเลเดียวซึ่งนั้นหมายถึงจะทำให้สัญลักษณ์เมืองสงขลาหายไป

ผู้ว่าฯ สงขลา กล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันนี้กรมเจ้าท่าก็มีการขุดลอกเป็นหย่อมๆ จะได้ผลหรือไม่นั้นแต่ทางกรมเจ้าท่าก็ยืนยันทุกครั้งว่าจะได้ผล อย่างไรก็ตาม หากมีการขุดลอกก็จะมีผลกระทบกับพี่น้องชาวประมง จึงเป็นสาเหตุของพี่น้องประชาชนส่วนหนึ่งที่เห็นด้วยและส่วนหนึ่งจะไม่เห็นด้วย จึงอยากจะฝากให้พี่น้องประชาชนชาวสงขลาได้ร่วมกันคิดแก้ไข ทบทวนว่าจะทำอย่างไรต่อไป

ดร.สุทัศน์ มีสกุล รองหัวหน้าโครงการ ให้ข้อมูลเรื่องทะเลสาบสงขลากับประชาชนที่เข้าร่วมว่า ทะเลสาบสงขลาทั้งหมดในส่วนตอนล่างจะตื้นเขินที่สุด เทียบกับความสูงแล้วความลึกจะอยู่ที่ 1 เมตร จะมีการตื้นเขินเฉลี่ย 5 มิลลิเมตร/ปี คาดว่า อีก 200 ปี ทะเลสาบสงขลาจะเป็นพรุ หรือเป็นแผ่นดิน ถ้าไม่มีการดำเนินการใดๆ ซึ่งจะเป็นวัฏจักรของธรรมชาติ จะมีตะกอนเข้ามาและจะกลายเป็นพื้นดินไปโดยธรรมชาติ การตื้นเขินของทะเลสาบจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วตามธรรมชาติจากตะกอนดินทราย ทั้งเกิดจากเทือกเขาบรรทัดและเทือกเขาสันกาลาคีรี และจากตะกอนชายฝั่งที่คลื่นและกระแสน้ำทะเลพัดพามาทับถม

และการตื้นเขินจะยังดำเนินการต่อไปโดยความสามารถของมนุษย์ไม่อาจหยุดยั้งได้ ปริมาณตะกอนที่ได้รับมาจากคลอง 15 สาย ที่ไหลลงทะเลสาบตอนล่างและตะกอนจากชายฝั่งทะเลสาบที่ถูกกัดเซาะโดยคลื่น การขุดลอกเฉพาะที่ เฉพาะล่องน้ำ และเฉพาะเวลาไม่สามารถหยุดยั้งการทับถมตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นตลอดเวลาได้

เพราะฉะนั้นการป้องกันและชะลอการตื้นเขินของทะเลสาบสงขลา คือ การขุดปากคลองทั้ง 15 ปากคลอง เพื่อให้น้ำไหลลงสู่ทะเลสาบได้สะดวกขึ้น และการลดปริมาณตะกอนลงสู่ทะเลสาบ การห้ามมิให้ลดพื้นที่ทะเลสาบ รวมถึงการอนุรักษ์และเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน การรักษาคุณภาพน้ำในทะเลสาบ ที่สำคัญคือการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำและเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์สัตว์น้ำ หรือฟาร์มทะเลในทะเลสาบ

ด้าน นายสุวัฒน์ บัวแย้ม ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การศึกษาพื้นที่โดยรอบทะเลสาบสงขลา ที่เราต้องทบทวน คือ กิจกรรมของเรา คือ การขุดลอกผลที่ตาม คือ จะมีดินจำนวนเยอะมาก จะเอาไปทิ้งที่ไหน จะต้องทำอีไอเอตามกำหนดของกรมเจ้าท่า และส่งพิจารณาต่อตามข้อกฎหมาย ต่อไป คือ จากตรวจสอบแล้วว่าทะเลสาบสงขลาตอนล่างไม่ได้อยู่ในเขตพื้นที่ชุ่มน้ำ แต่ถ้าเมื่อไหร่ประกาศเป็นพื้นที่ชุมน้ำก็ต้องมีการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมก่อน

และเมื่อมีโครงการขุดลอกล่องน้ำทะเลสาบเกิดขึ้น ก็จะมีผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบอย่างไรบ้าง ซึ่งปัจจุบันจำนวนและชนิดของสัตว์น้ำลดลงไปเรื่อยๆ จึงมีการปล่อยพันธุ์ปลาพันธุ์กุ้งไปเรื่อยๆ มีประชาชากรที่อาศัยอยู่ริมทะเลสาบได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก รวมถึงชาวประมง

ทั้งนี้ การทบทวนเรื่องของคุณภาพน้ำ โลหะหนักในน้ำในดิน ชาวบ้านอาจจะไม่ได้กังวลแต่นักวิชาการกลัวจะมีผลกระทบกับประชาชน ถ้าอีไอเอไม่ผ่าน ก็ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ จากการศึกษาพบว่ามีการปนเปื้อนของโลหะหนัก เนกานีส และตะกั่ว ซึ่งมีความปนเปื้อนอยู่แล้วตามธรรมชาติ แต่บางครั้งก็ตรวจพบและตรวจไม่พบ การเก็บตัวอย่างแต่ละครั้งเป็นคนละที่ ส่วนเรื่องของมาตรฐานในประเทศเรายังไม่ได้ประกาศใช้

นายสุวัตน์ กล่าวต่ออีกว่า มีการสำรวจโลหะหนักในดินในน้ำ 4 ส่วนด้วยกัน ในน้ำที่อยู่ในตะกอนดิน มันจะตอบได้ว่าปริมาณโลหะจะเพิ่มขึ้นหรือเปล่า และโลหะหนักที่อยู่ในเยื่อสัตว์ต่างๆ จุดเก็บตัวอย่างอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอีกครั้งหนึ่ง ส่วนความลึกที่กำหนดไว้ คือ 2-5 เมตร และจะมีการกำหนดความลึกของการขุดล่องน้ำว่าจะกำหนดเท่าไหร่จากผิวดิน อาจจะอยู่ที่ประมาณ 3-5 เมตร ถ้ากรณีเจอว่าเยอะอาจจะต้องเปลี่ยนแนวการขุด ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมด้วย

ศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา นุตาลัย ผู้จัดการโครงการงานศึกษาขุดลอกล่องน้ำทะเลสาบสงขลาตอนล่าง กล่าวว่า เราได้เริ่มดำเนินการลงพื้นที่ศึกษาและเปิดเวทีประชาคมมาตั้งแต่เดือน พ.ย.ปีที่แล้วจนถึงเดือน มี.ค.นี้ ในส่วนของรัฐธรรมนูญสิทธิชุมชนมาตรา 66 และ 67 คือ ประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมในการจัดการและรักษาสภาพสิ่งแวดล้อม ดังนั้น จึงต้องมีการเปิดเวทีร่วมแสดงความคิดเห็นให้กับประชาชนในพื้นที่ สำหรับผลของแบบสอบถามที่ได้วิเคราะห์มา และได้มีการจัดส่งแบบสอบถามให้กับประชาชนที่เข้าร่วมแล้วทั้งหมด 643 คน

ลักษณะของการทำแบบสอบถาม คือ จำนวนคน ช่วงอายุ ระดับการศึกษา ที่อยู่อาศัย ปัญหาอุปสรรคในการสัญจรในทะเลสาบสงขลา สาเหตุของการตื้นเขิน สาเหตุที่ทำให้ทะเลสาบสงขลาเสื่อมโทรมลง ความเห็นต่อการขุดลอกทะเลสาบสงขลา วิธีการแก้ปัญหาการตื้นเขิน ผลจากการสำรวจของแบบสอบถามคือ 70 เปอร์เซ็นต์ ให้ขุด และอีก 30 เปอร์เซ็นต์ ไม่ให้ขุด

ทั้งนี้ โครงการการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มีมาหลายครั้งแล้ว อย่างเช่นเมื่อปี 2553 จังหวัดสงขลา มีแผนขุดลอกทะเลสาบสงขลา โดยคณะทำงานสำรวจกำหนดการเดินเรือการขุดลอกล่องน้ำเดินเรือในทะเลสาบสงขลา ซึ่งได้มีการจัดทำเวทีประชาคมรอบทะเลสาบสงขลาหลายเวที และได้ข้อมูลหลากหลาย แต่รายชื่อการประชุมของประชาชนในครั้งนั้นหายไปหมด ไม่สามารถติดต่อใครได้อีก เพราะฉะนั้นครั้งนี้จะต้องเก็บหลักฐานทุกครั้ง เพื่อจะได้มีข้อมูลในการดำเนินการในครั้งต่อไปได้ แต่ถ้าประชาชนในครั้งนี้เห็นด้วยกับการโครงการขุดลอก ก็จะไม่มีปัญหา

ผู้จัดการโครงการ กล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันล่องน้ำเดิมเกือบจะไม่มีแล้ว เมื่อปี 2550 กรมทรัพยากรธรณีร่วมกับกรมเจ้าท่าวัดความหนาของตะกอน หนาที่สุดประมาณ 10 เมตร แต่ถ้าเจอหินก็จะไม่สามารถขุดได้ หลังจากนี้ สิ่งที่ต้องทำต่อไป คือ ตะกอนดินจะเอาไปไหน อย่างไร ถ้าถมกลางทะเลสาบ ถ้าเกิน 300 ไร่ ต้องทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมรุนแรง หรือถ้าทิ้งบนบกจะทิ้งที่ไหน อย่างไร หรือทิ้งในที่สาธารณประโยชน์ ระบบการขนส่งทำอย่างไร เพราะฉะนั้นการขอฉันทามติในวันนี้คือจะขุดหรือไม่ขุด ประชาชนในพื้นที่ต้องแสดงความคิดเห็นหรือเสนอแนะ

ด้าน นายสมพิศ สมโพยม อบต.เกาะยอ แสดงความคิดเห็นว่า การเลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลาที่เกาะยอ ตอนนี้ปลากะพงเลี้ยงไม่ได้แล้ว เพราะเกิดจากการตื้นเขินทำให้ปลาตายหมด หากน้ำลึกอุณหภูมิในน้ำจะไม่ร้อน เพราะถ้าร้อนจะทำให้แพลงตอนตาย ทำให้ปลาไม่มีอาหาร และหากล่องน้ำลึกจะทำให้เส้นทางเดินเรือดีขึ้น ซึ่งจากที่เข้าร่วมประชุมมาแล้ว ก็เห็นด้วยกับการขุดลอกล่องน้ำ แต่การทิ้งดินที่ขุดขึ้นมา เห็นว่าควรจะนำไปทิ้งบนบก ไม่เห็นด้วยกับการนำดินทิ้งในทะเล

นางชลดา ชุมพล จากเทศบาลนครสงขลา กล่าวว่า เรื่องการขุดลอกล่องน้ำทะเลสาบยังไม่เคยไปร่วมเวทีที่ไหน มาครั้งนี้ครั้งแรกจึงไม่ค่อยเข้าใจและยังไม่ทราบรายละเอียดเท่าที่ควร จึงยังไม่อยากให้ความคิดเห็น เพราะยังไม่ทราบแน่ชัด จึงขอเสนอว่าต้องให้ความรู้กับประชาชนให้มากกว่านี้ ส่วนนักวิชาการใช่ว่าจะคิดถูกหมด เพราะฉะนั้นต้องให้ชาวประมงเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด และทำไมกรมเจ้าท่าไม่กำหนดระเบียบการทำไซนั่งของชาวประมง เพราะเป็นการกีดขวางกาจาราจรในทะเล

นายเดชา มีสุวรรณ อบต.เกาะยอ ในฐานะที่อยู่ในเกาะยอมาค่อนชีวิต เห็นด้วยกับการขุดลอก ที่อยากให้ขุดทะเลสาบ เพราะเห็นว่าเป็นผลดี แต่ปัญหาคือ ดินที่ขุดขึ้นมาจะเอาไปไหน จึงอยากเสนอว่าอยากได้เอาไปถมที่ ที่เป็นแนวหาดชลทัศน์ให้เต็มแนว โดยเอาดินทั้งหมดที่ขุดได้มาไปถมเพิ่มขยายเมืองสงขลาให้กว้างขึ้น เพราะปัจจุบันชายหาดชลาทัศน์เหลือพื้นที่น้อยเต็มทีแล้ว และสิ่งที่อยากให้ทำอย่างเร่งด่วนที่สุด คืออยากให้ขุดที่ตรงไปรษณีย์ มีเกาะเล็กๆ อยู่เกาะหนึ่ง ซึ่งเป็นเกาะที่ส่วนทางราชการไมได้ให้ประชาชนใช้ประโยชน์อะไร จึงอยากให้ขุดตรงนี้ให้ลึกที่สุด ถ้าขุดตรงนี้ระบบการไหลเวียนของน้ำก็จะสะดวกเพราะเดิมเป็นคอขวดอยู่

นายสมภพ ยอดดี ชาวท่าช้าง อ.บางกล่ำ เสนอว่า การขุดล่องน้ำเป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นการขุดใต้น้ำ ขอให้เปลี่ยนเป็นขุดทั้งทะเลสาบเลย ส่วนดินที่ขุดขึ้นมาควรทำแพขึ้นมาแล้วทำเป็นบ้านที่อยู่อาศัยของประชาชน โดยให้ประชาชนอาศัยอยู่บนแพ ให้ทะเลสาบเป็นปุ๋ยระยะ 10 เมตรส่งขายต่างประเทศ ทำวิกฤตให้เป็นโอกาส และอยากให้ขยายทะเลสาบเดิมอีก 100 เมตร และให้รื้อร้านอาหารโฮมสเตย์ในทะเลสาบออกให้หมด จึงฝากร้องเรียนเรื่องนี้ไปยังกรมเข้าท่าให้รับผิดชอบภาษีของประชาชนด้วย

นายอรัญ จิตตเสโน กรรมการก่อตั้งมูลนิธิชุมชนสงขลา กล่าวว่า ได้มีโอกาสเข้าร่วมเวทีเป็นครั้งแรก ถ้าโครงสร้างการศึกษาแผนพัฒนา นี้ไม่ครบชุดมองว่าคงจะไม่สำเร็จ ต้องมีภาคข้าราชการ นักการเมือง นักธุรกิจ สื่อมวลชน และนักวิชาการ เข้ามามีส่วนร่วมด้วย ส่วนงานเทคนิคต้องเตรียมความพร้อมก่อนมีการประชุม ให้ประชาชนมีส่วนร่วมใช้พวกเขาให้ถูกทางอย่าใช้เขาเป็นเครื่องมือทำมาหากิน จึงอยากเห็นโครงการนี้มีการศึกษาอย่างเป็นระบบมากกว่านี้

นายเฉียบ นวลละออก อดีตกำนัน อ.ควนเนียง กล่าวว่า วันนี้เห็นด้วยกับการพัฒนาทะเลสาบสงขลาให้ดีกว่าเดิม ซึ่งถ้าทำสำเร็จได้ก็ขอขอบคุณคณะทำงาน เพื่อพื้นที่ในการประกอบอาชีพของชาวประมงริมทะเลสาบสงขลา ช่วยขยายให้ทะเลสาบไม่ตื้นเขิน ส่วนดินจะนำไปทิ้งที่ไหนนั้นให้เจ้าหน้าที่พิจารณาเองว่าที่ไหนจะเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนมากที่สุด

นายสิทธิศักดิ์ ตันติมงคล ชาว ต.น้ำน้อย อ.เมืองสงขลา กล่าวว่า ถ้าถามว่า ขุดลอกคือไม่น่าจะขุดลอกแค่ล่องน้ำแต่น่าจะขุดทั้งทะเลสาบสงขลาดีกว่า วันนี้มีปัญหาตื้นเขิน จึงต้องขุดทั้งระบบ เวลาเราศึกษาน่าจะมองทั้งระบบ บริเวณทะเลสาบตอนลางส่วนหนึ่งคือมีประชากรเพิ่มมากขึ้น พื้นที่เริ่มจะรับไม่ไหว น้ำเสียทั้งระบบ เพราะฉะนั้นการขุดลอก คือ หนึ่งในจำนวนหลายๆ ทางในการแก้ปัญหา จึงควรจะมีการศึกษาอย่างละเอียดอีกครั้ง

ประเด็นคือเราจะเอาระบบนิเวศคืนมาได้อย่างไร จะมีที่รองรับประชากรได้อย่างไร จึงต้องมองเชื่อมโยงถึงวิถีชุมชนด้วย และมีข้อเสนออีกอย่างหนึ่งว่า ไม่ว่าจะมีโครงการอะไรเกิดขึ้น น่าจะตั้งสำนักงานประสานงานในพื้นที่เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าไปหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ และควรรวบรวมแผนงานโครงการอื่นในพื้นที่ใกล้เคียงมาไว้ที่สำนักงานนี้ด้วย

นายไสว มะระโต๊ะ ชาว อ.ควนเนียง บอกว่า เป็นโครงการที่อาจจะมีผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เรื่องการขุดลอกปัญหาการขุดลอกยังน้อยกว่าผลกระทบที่ได้รับผลกระทบในตอนนี้คือเรื่องอวนรุน เจอปัญหามากมาย ขณะนี้อวนรุนมีกว่า 200 ลำแล้ว ถ้าเราขุดลอกแล้วความเป็นอยู่ของชาวบ้าน จึงขอฝากท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้ช่วยดำเนินการในเรื่องของอวนรุน

ส่วนเรื่องการขุดลอกการส่งรายชื่อแต่ละเวทีไม่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย จึงสะท้อนให้เห็นว่าผู้ร่วมประชุมไม่ได้มีส่วนร่วม ไม่ตรงเป้าหมายไม่ตรงประเด็น อยากเสนอว่าการทำประชาพิจารณ์ต้องลงพื้นที่ในหมู่บ้าน เพราะคนที่ไปร่วมไม่ได้เป็นคนในภาคส่วนที่อยู่ในลุ่มน้ำจริงๆ เพราะฉะนั้นต้องใช้เวลาให้มากกว่านี้ หลังจากทำประชาพิจารณ์แล้วต้องไปประเมินว่าการขุดลึกเท่าไหร่ มีผลกระทบอย่างไร ให้มาแจ้งให้ชาวบ้านทราบอีกครั้งหนึ่ง

นายปารย์พิรัชย์ จันเทศ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏสงขลา เสนอว่า อยากให้มีการแสดงภาพกราฟฟิก ว่า การถมดินเป็นอย่างไร ควรจะทำให้ชาวบ้านได้เห็นเพื่อความเข้าใจ ผลกระทบควรจะพูดถึงในสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมา และในสิ่งที่เกิดจากธรรมชาติ
นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการ จ.สงขลา







ศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา นุตาลัย ผู้จัดการโครงการงานศึกษาแผนแม่บทขุดลอกล่องน้ำทะเลสาบสงขลาตอนล่าง


ประชาชนร่วมเสนอและแสดงความคิดเห็น
ประชาชนร่วมเสนอและแสดงความคิดเห็น

กำลังโหลดความคิดเห็น