xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการชี้ทุกหน่วยงานใช้ตัวเลขเพี้ยน! ระบุ “พื้นที่ทะเลสาบสงขลา” เกินจริง 2-3 เท่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ดร.ปริญญา นุตาลัย (ซ้าย) และ รศ.ดร.ประมาณ เทพสงเคราะห์ (ขวา)
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ทีมที่ปรึกษากรมเจ้าท่าจัดเวทีประชาคม “โครงการงานศึกษาเพื่อจัดทำแผ่นแม่บทการขุดลอกเพื่อพัฒนาทะเลสาบสงขลาตอนล่าง” ในเขต อ.เมืองสงขลาเป็นหนที่สอง “ศ.ดร.ปริญญา นุตาลัย” เผยตัวเลขระบุจำนวนพื้นที่ทะเลสาบที่ใช้กันอยู่ของทุกหน่วยงานเกินกว่าความเป็นจริง 2-3 เท่า สาวไปได้ถึงเมื่อครั้งจัดทำ “แผนแม่บทเพื่อการพัฒนาทะเลสาบสงขลา” ทั้งที่เอาต้นร่างมาจากของกรมแผ่นที่ทหาร

วันนี้ (25 ก.พ.) คณะที่ปรึกษาที่กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ได้ว่าจ้างรวม 5 หน่วยงานคือ สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บริษัท ซี สเปคตรัม จำกัด มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ และบริษัท เอสทีเอส เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลเตนท์ จำกัด ให้ดำเนิน “โครงการงานศึกษาเพื่อจัดทำแผ่นแม่บทการขุดลอกเพื่อพัฒนาทะเลสาบสงขลาตอนล่าง” ได้จัดเวที “ประชาคมเพื่อร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการกำหนดพื้นที่ร่องน้ำที่จะขุดลอก เวทีอำเภอเมืองสงขลา” ณ อาคารอเนกประสงค์ ม.3 ต.เกาะยอ อ.เมือง จ.สงขลา โดยมีประชาชนเข้าร่วมประมาณ 100 คน

รศ.ดร.ประมาณ เทพสงเคราะห์ ผู้รับผิดชอบด้านการมีส่วนรวมของประชาชนของโครงการฯ เปิดเผยว่า กรมเจ้าท่าให้งบประมาณสนับสนุนการขุดลอกทะเลสาบสงขลา จึงต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนด้วยว่ามีความคุ้มค่าหรือไม่ เกิดผลดีผลเสียกับชาวบ้านอย่างไรต่อชาวบ้านในชุมชนรอบทะเลสาบตอนล่างที่เกี่ยวข้องทั้ง 5 อำเภอๆ ละ 3 ครั้ง ได้แก่ อ.เมืองสงขลา อ.หาดใหญ่ อ.บางกล่ำ อ.สิงหนคร และ อ.ควนเนียง โดยเวทีครั้งนี้เป็นการรับฟังความเห็นชาว อ.เมืองสงขลาเป็นครั้งที่ 2 แล้ว

ศ.ดร.ปริญญา นุตาลัย ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการเก็บข้อมูลนอกจากจัดเวทีการมีส่วนร่วมไปหลายครั้งแล้ว ตนและคณะยังได้ลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้าน ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และองค์กรปกครองท้องถิ่น ในพื้นที่ อีกทั้งได้ทำแบบสอบถามให้ชาวบ้านกลุ่มเป้าหมายตอบกว่า 700 ราย ซึ่งได้นำข้อมูลไปวิเคราะห์แล้วนำกลับมาเสนอชาวบ้าน โดยในเวทีนี้ก็ได้แจกเป็นเอกสารผลการวิเคราะห์ไปด้วยแล้ว

สำหรับการศึกษาครั้งนี้ใช้เวลา 2 ปีจะได้ข้อสรุปชัดเจน หากพื้นที่ใดให้ขุดก็จะขุดให้ แต่ถ้าไม่ต้องการให้ขุดก็จะไม่มีการขุดลอก

“มีเรื่องที่ผมอยากตั้งข้อสังเกตว่า ทีผ่านๆ มาไม่มีหน่วยงานใดศึกษาเรื่องการตกตะกอนในทะเลสาบสงขลาไว้ก่อนเลย ไม่มีการวิเคราะห์ว่าทะเลสาบตื้นเขินเพราะอะไร มากน้อยแค่ไหนในแต่ละปี ปัจจุบันมีแต่ตัวเลขที่ประเมินการคร่าวๆ ไม่สามารถระบุอย่างแน่ชัดได้ นอกจากนี้จำนวนพื้นที่ของทะเลสาบสงขลาที่ใช้กันอยู่ก็ผิดจากความเป็นจริง โดยเฉพาะที่ระบุไว้ในแผ่นแม่บทเพื่อการพัฒนาทะเลสาบสงขลาที่ทำกันไว้แล้ว เนื่องจากไปเอาแผ่นที่ต้นร่างมาจากของกรมแผ่นที่ทหารอัตราส่วน 1 : 50,000 แต่พอนำมาใช้ปรากฏว่าให้ตัวเลขพื้นที่เกินไป 2-3 เท่า”

ศ.ดร.ปริญญากล่าวถึงผลการวิเคราะห์เฉพาะในเขตของ อ.เมืองสงขลาว่า มีผู้เห็นด้วยกับการขุดลอกร้อยละ 70 และไม่เห็นด้วยร้อยละ 30 ทั้งนี้สัดส่วนของแต่ละอำเภอไม่เท่ากัน น้ำหนักการแสดงความคิดเห็นต่อโครงการขุดลอกนี้จึงไม่เท่ากัน โดยในเขต อ.เมืองสงขลาและ อ.สิงหนครรวมกันมีเสียงเกินกว่าครึ่ง เพราะพื้นที่เยอะและในแต่ละพื้นที่ก็มีความต้องการเรื่องการขุดลอกต่างกัน เพราะประกอบอาชีพต่างกัน เช่น ชาวบ้านแถวป่าขาดใน อ.สิงหนครอยากให้ขุดลอกทะเลห่างจากฝั่งไม่เกิน 100 เมตร เพราะต้องการเลี้ยงปลาในกระชัง

สำหรับการแสดงความคิดเห็นในเวทีการมีส่วนร่วมของชาว อ.เมืองสงขลาครั้งนี้ สรุปเป็นประเด็นต่างๆ ได้ดังนี้ เรื่องตำแหน่งร่องน้ำที่จะขุดลอกนั้น ยังสรุปไม่ได้ว่าจะเอาร่องน้ำแบบใด แต่ก็มีการเสนอให้ทำใกล้แนวชายฝั่งเพื่อประโยชน์ต่อการเลี้ยงปลาในกระชัง แต่ขอให้ทำอย่างเป็นระบบ

อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มประมงไซนั่งเรียกร้องให้มีการจ่ายค่าชดเชยถ้ามีการขุดลอกจริง โดยเฉพาะชาวบ้านใน ต.เกาะยอและ ต.หัวเขา อ.สิงหนคร หากไม่เช่นนั้นอาจจะมีการประท้วงอย่างรุนแรงของพี่น้องชาวประมงได้

เรื่องการจัดการกับตะกอนดินจากการขุดลอก ซึ่งมีการประมาณการว่ามีจำนวนกว่า 20 ล้านตัน มีผู้เสนอหลายวิธีคือ ให้ทิ้งกลางทะเลที่ความลึก 14 ม. โดยตะกอนส่วนหนึ่งก็จะถูกน้ำพัดฟุ้งกระจายไปในทะเลหลวง และทรายก็จะถูกพัดกลับมาเติมเต็มชายหาดที่ถูกกัดเซาะ ให้นำไปถมทำเกาะกลางทะเลสาบ แต่เป็นไปได้ยากมาก และหาที่บกเพื่อทิ้งตะกอน

โดยในเวทีครั้งนี้เพิ่มประเด็นให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต่างๆ จัดหาที่ดินรองรับ แล้วนำดินที่ได้ไปขายเป็นรายได้เข้า อปท.นำกับมาเป็นงบพัฒนา

ด้านนายจรูญ หยูทอง ผู้รับผิดชอบด้านการประชาสัมพันธ์โครงการฯ กล่าว่า แม้ชาวบ้านในพื้นที่อาจจะไม่มีความรู้เรื่องวิชาการ แต่ก็มีความรู้เรื่องปากท้องของตัวเองชัดเจนว่าจะได้รับผลกระทบอย่างไร จึงควรต้องช่วยกันให้ความเห็นว่าต้องการให้มีการขุดลอกหรือไม่ หรือต้องการขุดลอกแบบไหน ที่เวทีรับฟังความคิดเห็นขาดความสมบูรณ์เนื่องจากชาวบ้านไม่ค่อยแสดงความคิดเห็นในพื้นที่ที่จัดไว้ให้ แต่ไปแสดงความคิดเห็นที่อื่น ซึ่ง ณ จุดนั้นไม่ก่อให้เกิดผลประโยชน์อะไรแก่โครงการฯ เลย

"จึงอยากขอให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น มาพูดในที่ที่เขาต้องการฟังและเป็นปากเป็นเสียงแทนชุมชนได้เต็มที่" อ.จรูญกล่าว
อ.จรูญ หยูทอง
บรรยากาศการมีส่วนร่วมของประชาชนในเวทีประชาคมขุดลอกทะเลสาบสงขลา








 ข้อมูลที่ได้จากเวทีจะมีการสรุปและบันทึกในหลากหลายรูปแบบ
กำลังโหลดความคิดเห็น