xs
xsm
sm
md
lg

“ชาวเกาะยอ” ห่วงทะเลสาบสงขลาตื้นเขิน จี้แก้ปัญหาประมงรับแผนแม่บทขุดลอกฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ชาวเกาะยอยังสนับสนุนให้มีการขุดลอกทะเลสาบสงขลาที่ตื้นเขินอย่างจริงจัง พร้อมถกปัญหารัฐใส่เกียร์ว่างดูแลทะเลสาบ มีการทำผิดทับซ้อนจนปัญหาพอกหางหมู ล่าสุดเสียงชาวบ้านขอให้มีการชดเชยการทำประมงก่อนขุดลอกในอัตราตั้งแต่หลักพัน-แสนต่อเครื่องมือหนึ่งชิ้น ด้านผู้จัดการโครงการรับหากเป็นมติเสียงส่วนใหญ่พร้อมหาทางยกเลิกมติ ครม.สมัย “บิ๊กจิ๋ว” ที่ไม่ให้มีการจ่ายเงินชดเชย

วันนี้ (12 ธ.ค.) ณ ศาลาอเนกประสงค์เกาะยอ ม.3 ต.เกาะยอ อ.เมือง จ.สงขลา เวลา 09.30-12.00 น.มหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมกับ กรมเจ้าท่าและกลุ่มที่ปรึกษา ประกอบด้วย สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, บริษัท ซีสเปคตรัม จำกัด และบริษัท เอส ที เอส เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด จัดเวทีเสวนาการมีส่วนร่วมเพื่อรับฟังความคิดเห็น เพื่อจัดทำแผนแม่บทการขุดลอกเพื่อพัฒนาและฟื้นฟูทะเสลาบสงขลาตอนล่าง โดยมี นายบรรจง ทองสร้าง ดำเนินรายการเสวนา

ทั้งนี้ เวทีดังกล่าวได้ตระเวนพูดคุยกับชาวบ้านเป็นครั้งที่ 2 เพื่อให้ทั่วถึงกลุ่มประชาชนใน 5 อำเภอรอบทะเลสาบสงขลา อำเภอละ 3 ครั้ง รวมเป็น 15 ครั้ง ในระยะเวลา 2 ปี นำโดย รศ.ดร.ประมาณ เทพสงเคราะห์ ทีมงานการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเปิดประเด็นให้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นใน 3 ประเด็นหลัก คือ ความเห็นด้วยกับการขุดลอกหรือไม่, ต้องการให้ขุดลึกเท่าไหร่ แนวไหน กว้างแค่ไหน ดินนำไปทำอย่างไร, ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นนั้นควรจะแก้ไขอย่างไร เช่น หากไม่สามารถทำโพงพางประกอบอาชีพได้

นายคำรพ เสาวคนธ์ นายก อบต.เกาะยอ กล่าวว่า แม้ว่าการพูดคุยเรื่องขุดลอกทะเลสาบมาแล้วหลายสิบครั้งและไม่มีความคืบหน้า แต่ครั้งนี้มั่นใจว่าจะเกิดขึ้นได้ และไม่อยากให้พี่น้องเบื่อไปเสียก่อน เพราะทะเลสาบตื้นเขินมากถึงเวลาที่ควรจะทำอะไรได้แล้ว และพี่น้องทุกคนต้องร่วมกันคิดว่าจะทำกันอย่างไร เมื่อวานนี้ได้พูดคุยกับทีมงานของโครงการ ทราบว่าดินที่ขุดลอกแล้วนั้นจะนำมาใช้ประโยชน์ได้ แต่เราต้องคิดว่าจะทำอย่างไร เท่าที่คุยนั้นมีเสียงสะท้อนว่าจะเอามาทำหาดทรายเทียม หรือถมแหลมพ้อ-ร้านคุณจิต ซึ่งจะไม่กระทบกับการเลี้ยงปลากะพงกระชัง และพัฒนามาเป็นสนามฟุตบอลริมทะเล บางกลุ่มก็เสนอให้มาทิ้งที่วัดโคกเปี้ยวแต่แนวคิดนี้ผมยังไม่สนับสนุน

นายจำรัส พันธนียะ รองนายก อบต.เกาะยอ และอดีตกำนัน ต.เกาะยอ กล่าวสนับสนุนการขุดลอกทะเลสาบสงขลามาหลายปี ที่ผ่านมา ร่วมเวทีเสวนาไม่ต่ำกว่า 20 ครั้ง จะขุดลอกกว้างกี่เมตรก็ได้ แต่กังวลผลกระทบผู้ทำโพงพาง เพราะเขาต้องการเงินชดเชยช่องละนับแสนบาท สำหรับชาวเกาะยอที่ทำไซนั่งก็ไม่มีปัญหาหากชดเชยให้บ้าง ถ้าไม่รู้ว่าจะนำดินที่ขุดไปที่ไหนและทำอะไร เสนอให้ทำเกาะกลางทะเลสาบเพื่อเป็นที่ท่องเที่ยว

นายสมพิศ สงพโยม สมาชิก อบต.เกาะยอ-เรื่องขุดลอกทะเลสาบมีแต่การทำวิจัย ศึกษา แต่ไม่มีรัฐบาลไหนได้ขุดลอกจริงๆ ตั้งแต่สมัยป๋าเปรม (พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์) วันนี้ทะเลสาบร้อน ตื้น เน่าเสีย ถึงเวลาที่จะทำได้แล้ว เพราะข้อมูลมีมากอยู่แล้ว ขอให้ทำเสียที

นายพิรุณ เครือวัลย์ และนายจำลอง เครือวัลย์ ม.3 ต.เกาะยอ กล่าวว่า อยากให้มีการชดเชยการเสียโอกาสทำกิน โดยชดเชยไซนั่งในอัตรา 6,000 บาท/ลูก ก็น่าจะเพียงพอ ด้านนายบุญเหลือ ปลอดทอง เจ้าของโพงพาง ก็เห็นด้วยกับการขุดลอกร่องน้ำ แต่ขอค่าชดเชยโพงพางช่องละ 200,000 บาท เพราะการลงทุนสูงค่าเครื่องมือชิ้นละ 10,000 บาท

นายไกรเลิศ เรืองสงค์ สมาชิกเทศบาลนครสงขลา กล่าวว่า การขุดลอกมีประโยชน์หลายด้าน โดยเฉพาะการทำให้น้ำในทะเลสาบไหลเข้าออกได้สะดวกขึ้น แต่ปัญหาใหญ่ที่ควรเร่งแก้ไขเพราะกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาแตะ คือ อิทธิพลในการทำไซนั่งและโพงพางในทะเลสาบ ซึ่งกำลังมีการพูดถึงในแง่ลบกันมาก ส่งผลให้การพัฒนาเกิดขึ้นได้ยากแล้ว ยังเป็นอุปสรรคต่อการสัญจรทางทะเลอีกด้วย

โดยขณะนี้มีเจ้าหน้าที่ที่กฎหมายให้อำนาจมาเก็บเงินตรงนี้ ทั้งที่ควรจะส่งเสริมในเรื่องวิถีชีวิตซึ่งต่างจากที่อื่น เพราะชาวบ้านอาศัยทะเลเป็นที่ทำกินมาหลายชั่วอายุคน เมื่อมีการจ่ายเงินใต้โต๊ะ การจะขอให้ชาวบ้านเสียสละพื้นที่ทะเลสาบเพื่อขุดลอกไม่ให้ตื้นเขินก็ทำได้ยากขึ้น และต้องการให้รัฐจ่ายค่าชดเชยในการทำอาชีพไม่ได้เหมือนกัน นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ทั้งจังหวัดต้องทำงานอย่าเกียร์ว่าง อย่าให้มีการทำความผิดทับซ้อนหมักหมม เช่นปล่อยให้มีโพงพางรุกร่องน้ำเส้นทางเดินเรือ เป็นต้น

ดร.ปริญญา นุตาลัย ผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีการศึกษาแผนแม่บทได้มา 1 แผนในปี 2548 แต่ก็ยังไม่สามารถนำแผนไปสู่การปฎิบัติที่จะขุดลอกทะเลสาบสงขลาได้ ด้วยติดปัญหาหลายประการ แต่ในครั้งนี้กรมเจ้าท่าของบประมาณมาทำในรายละเอียดซึ่งหากทำเสร็จแล้วก็จะสามารถดำเนินการได้เลย

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการครั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากชาวบ้านถึงความต้องการพัฒนาว่าจะให้ออกมาอย่างไร และร่วมกันหาทางออกปัญหาเดิมๆ ที่เคยเกิดขึ้นด้วย เช่น เครื่องมือประมงทั้งไซนั่ง โพงพางที่มีอยู่จำนวนมากในทะเลสาบจะแก้ปัญหาอย่างไร หากเสียงส่วนใหญ่ต้องการให้มีการชดเชยก็ต้องแก้ ครม.ที่มีมติสมัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นรัฐมนตรีที่มีติไม่มีค่าชดเชยในลุ่มน้ำทะเลสาบ เพราะเสียงชาวบ้านในขณะนี้หากไม่มีการชดเชยแล้ว การขุดลอกก็จะเดินหน้าไม่ได้

ดร.ปริญญา กล่าวยอมรับว่า การติดตามข้อมูลที่ผ่านมาพบว่ามีปัญหามากที่สุดในหลายจังหวัด เพราะไม่รวบรวมข้อมูลให้เป็นกลุ่มก้อน ต้องตามไปตามมา เช่นเดียวกับแผนการขุดลอกทะเลสาบสงขลา ซึ่งล่าสุดเป็นแผนที่นายธำรง เจริญกุล อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา (ปัจจุบันเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา) ทำไว้และเกือบจะได้เงินกว่าพันล้านบาทมาดำเนินการ แต่ตอนนี้ต้องตามหาแผนดังกล่าวอยู่ หน่วยงานที่ควรจะเก็บข้อมูลก็ไม่เก็บไว้ ไปแล้วคนที่รู้เรื่องก็ไม่อยู่ บางคนก็ย้าย เกษียณ นับเป็นปัญหาของจังหวัดที่ไม่เก็บในฐานข้อมูลจังหวัด การพัฒนาก็เป็นไปได้ยากขึ้น

ปัญหาการหาที่ทิ้งดินจากการขุดลอกจำนวน 18 ล้านคิวก็เช่นกัน เพราะที่สาธารณประโยชน์มีหน่วยงานท้องถิ่นเป็นผู้ดูแล แต่ไม่มีข้อมูลว่าเหลือที่ใช้ได้จริงได้เท่าไหร่ เพราะมีการบุกรุกเกิดขึ้น แต่ก็ไม่มีข้อมูลว่าเหลือกจริงเท่าไหร่ และต้องมี นสล.หรือหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่หลวง

ส่วน นายจรูญ หยูทอง รองผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดี มหาวิทยาลัยทักษิณ และหนึ่งในทีมประชาสัมพันธ์โครงการ กล่าวว่า เรื่องการขุดลอกทะเลสาบสงขลาที่คุยเรื่องนี้มานับสิบปี รัฐบาลไหนก็ทำงานไม่ได้หากคนเรายังไม่มีจิตสำนึก คิดแค่ว่าเป็นหน้าที่คนอื่นแต่ไม่เริ่มต้นที่ตัวเอง การแก้ปัญหาทะเลสาบสงขลาอยู่ที่ตัวพี่น้องเอง ทำไมต้องพึ่งคนนอกพื้นที่ และอย่าเบื่อที่จะติดตามเสียก่อน การแก้ปัญหานั้นมีอยู่ 2 จุด คือ หันมาเรียกร้องตัวเองให้สูงกว่าที่เรียกร้องคนอื่น และทำการเมืองในระดับท้องถิ่นให้ขับเคลื่อนเหมือนระดับชาติโดยเข้าไปมีส่วนร่วมให้ขับเคลื่อนทางนโยบายมากที่สุด อย่าอิงการเมืองที่มาจากฐานคะแนนซึ่งไม่สามารถเข้ามาแก้ปัญหาอะไรได้
จนท.สรุปข้อเสนอแนะ ความคิดเห็น และแนวทางการแก้ปัญหาที่ผู้ร่วมการเสวนานำเสนอ


ดร.ปริญญา นุตาลัย ผู้จัดการโครงการ




ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพประมงในทะเลสาบเสนอค่าชดเชย หากมีการขุดลอกทะเลสาบเกิดขึ้นจริง

สมาชิกเทศบาลนครหาดใหญ่เสนอให้มีการแก้ปัญหาการทำโพงพาง ไซนั่ง ซึ่งมีการเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้พื้นที่ในทะเลสาบ และจะเป็นปัญหาในเรื่องค่าชดเชยด้วยเงินมหาศาลตามมา

กำลังโหลดความคิดเห็น