ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ประชาชนส่งเสียงไม่เห็นด้วยโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ในเมืองสงขลา เพื่อเชื่อมต่อการขนส่งทะเลสงขลาตอนล่าง ซึ่งเปิดเวทีสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นครั้งแรก โดยเทศบาลนครสงขลาชงเรื่องให้กรมเจ้าท่าดำเนินการ ฉะสร้างท่าเรือในเมืองมีแต่ปัญหาและผลกระทบทั้งทางบกและทางน้ำ แต่ท่าเรือที่มีอยู่แล้วมากมายไม่เคยได้ใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ แนะให้ไปรวมกับโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกสงขลา 2 ทำให้เจ้าภาพต้องรีบปิดเวทีก่อนเวลา
วันนี้ (8 ก.ย.) ณ ห้องประชุมแกรนด์บอลรูม โรงแรมราชมังคลา พาวิลเลียนบีช รีสอร์ท อ.เมือง จ.สงขลา กรมเจ้าท่าเปิดเวทีสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 โครงการศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบเพื่อก่อสร้างท่าเทียบเรือเอนกประสงค์ สนับสนุนกิจกรรมการขนส่งทางน้ำในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ซึ่งใช้เวลาศึกษาโครงการนาน 15 เดือน
นายปกรณ์ ประเสริฐวงษ์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ กล่าวว่า แม้ว่าทั้งภาครัฐและเอกชนจะมีการดำเนินกิจการท่าเทียบเรือประเภทต่างๆ เพื่อเชื่อมต่อพื้นที่ทะเลสาบสงขลาตอนล่าง บริเวณชายฝั่งด้าน อ.เมืองสงขลา ให้เชื่อมออกสู่ทะเลอ่าวไทย แต่ท่าเทียบเรือต่างๆ ก็ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นท่าเทียบเรือขนส่งสินค้าขนาดเล็กของบริษัทเอกชน, ท่าเทียบเรือสนับสนุนการสำรวจและผลิตน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย, ท่าเทียบเรือประมงของภาครัฐและเอกชน
ด้าน ดร.เชิดวงศ์ แสงศุภวานิช กล่าวถึงที่มาว่า ภายหลังจากที่เทศบาลนครสงขลาได้เสนอโครงการศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบเพื่อก่อสร้างท่าเทียบเรือเอนกประสงค์ เพื่อสนับสนุนกิจการขนส่งทางน้ำ กิจการประมง และการท่องเที่ยวในพื้นที่ทะเลสาบสงขลาตอนล่างมายังกรมเจ้าท่า จึงได้มีการคัดเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาท่าเทียบเรือมีทั้งหมด 3 บริเวณ คือ
1.บริเวณท่าเรือสะพานไม้ ติดกับท่าเรือประมงในปัจจุบัน ซึ่งมีโครงสร้างสนับสนุนการประมงเพียบพร้อมอยู่แล้วโดยไม่ต้องสร้างอะไรเพิ่ม และมีระบบสาธารณูปโภคค่อนข้างสมบูรณ์ มีความยาวหน้าท่าประมาณ 110 เมตร ระดับน้ำมีความเชี่ยวสูงทำให้เกิดการตกตะกอน จะต้องมีการขุดลอกร่องน้ำประมาณ 2 ปี/ครั้ง
2.ท่าเรือเก่า บริเวณถนนนครนอก อยู่ใกล้กับพื้นที่แรก จึงมีมีโครงสร้างสนับสนุนการประมงเพียบพร้อมแล้วเช่นกัน มีอาคารร้านค้า และระบบสาธารณูปโภคสมบูรณ์เช่นเดียวกัน มีความยาวหน้าท่าประมาณ 200 เมตร
3.บริเวณชุมชนแหล่งพระราม หน้าวัดแหลมทราย เป็นที่ตั้งของชุมชนจึงไม่มีโครงสร้างเพื่อสนับสนุนการประมงอยู่เลย แต่มีระบบสาธารณูปโภคครบถ้วน มีความยาวหน้าท่าประมาณ 375 เมตร
อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ต้องศึกษาความเหมาะสมทั้งในด้านวิศวกรรม ด้านเศรษฐศาสตร์ และความเหมาะสมด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจจะต้องมีการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) หรือ EIA ซึ่งจะต้องให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นผู้พิจารณา
นายสุรพล กำพลานนท์วัฒน์ นายกสมาคมสมาพันธ์ธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา กล่าวแสดงความคิอเห็นว่า ในอดีต จ.สงขลา เคยได้รับอานิสงค์ด้านการท่องเที่ยวจากการเข้ามาของเรือสตาร์ครูซ แต่ละเดือนมีการจับจ่ายเงินท่องเที่ยวกว่า 10 ล้านบาท/เดือน แต่ด้วยความไม่สะดวกสบายจึงหายไป และเข้าท่าเรือที่ภูเก็ตแทน แต่วัตถุประสงค์ของท่าเรือที่กำลังศึกษานี้ส่วนหนึ่งเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเพื่อให้มีศักยภาพอย่างแท้จริงแล้ว ควรจะต่อยอดจากโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกสงขลา 2 ให้รองรับการท่องเที่ยวได้นั้นก็จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากกว่า
ขณะที่ นายโสภณ ชุมยวง อดีตรองนายกสมาคมประมง จ.สงขลา และตัวแทนชาวประมงจากชุมชนแหล่งพระราม กล่าวว่า ที่ผ่านมา จ.สงจลา มีการก่อสร้างท่าเรือเป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีการบำรุงรักษาและใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ทำให้มีท่าเรือที่ก่อสร้างเสร็จแล้วใช้ผิดวัตถุประสงค์ อีกกำลังมีโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 ที่ อ.จะนะ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้งบประมาณมหาศาล
เช่นเดียวกับครั้งนี้ที่มีความต้องการให้โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรืออเนกประสงค์เกิดขึ้นแต่ไม่เคยคำนึงถึงการจัดการด้านการเดินเรือ สิ่งกีดขวางและปัญหาการจราจรทางเรือด้วย เพราะทะเลสาบสงขลามีทางเข้าแค่ทางเดียวและมีท่าเทียบเรือน้ำลึกสงขลาตั้งอยู่แล้ว หากจะก่อสร้างอีกก็ต้องคำนึงถึงประโยชน์การใช้งานด้วย อย่าให้เกิดขึ้นเพื่อเป็นศาลาเอนกประสงค์และเกิดผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่บริเวณก่อสร้าง ดังนั้น ในนามของตัวแทนชุมชนแหล่งพระรามไม่เห็นด้วยต่อการก่อสร้างท่าเรือเอนกประสงค์ครั้งนี้
ส่วนนายไกรเลิศ เรืองสงฆ์ สมาชิกสภาเทศบาลนครสงขลา กล่าวว่า แม้โครงการนี้จะผลักดันจากเทศบาลนครหาดใหญ่ แต่ตนมีความคิดเห็นที่จะไม่สนับสนุนให้สร้างท่าเทียบเรือเอนกประสงค์ในเมือง ซึ่งมีผลกระทบต่อชุมชน การจราจรทั้งทางบก ต้องมีรถและเครื่องจักรขนาดใหญ่เข้าเมืองมีผลต่อความสั่นสะเทือน แม้แต่กำแพงเมืองเก่าก็พังลงได้ และปัญหาการจราจรทางน้ำ เดิมนั้นมีท่าเทียบประมงสงขลาเก่าหน้าท่ายาว 160 เมตร แต่เทศบาลนครสงขลากลับให้เอกชนเช่าเป็นเวลา 30 ปี โดยรับเงินค่าเช่าแค่เดือนละ 80,000 บาท ซึ่งไม่คุ้มกับการลงทุนและไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์กับส่วนรวมได้ ไม่นับรวมท่าเทียบเรือที่มีอยู่แล้วซึ่งสามารถนำมาพัฒนาและส่งเสริมโดยไม่ต้องลงทุนใหม่ให้เปลืองงบประมาณอีก แต่หากมีความตั้งใจจะพัฒนาแล้วควรไปทำร่วมกับโครงการท่าเทียบเรือน้ำลึกอุตสาหกรรมดีกว่า
เช่นเดียวกับผู้เข้าประชุมคนอื่นๆ ที่ล้วนกล่าวถึงประเด็นปัญหาการบริหารจัดการท่าเรือที่มีอยู่แล้วที่ไม่มีระเบียบ ทำให้ขาดการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ และหากเมื่อไหร่ที่การก่อสร้างท่าเรือมีความจำเป็นจริงๆ แล้ว ชาวบ้านก็จะเห็นด้วยและไม่คัดค้านดังเช่นครั้งนี้
ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ไม่มีเสียงของผู้สนับสนุนโครงการนี้ ทำให้ทางผู้จัดงานได้ทำการปิดเวทีการสัมมนารับฟังความคิดเห็นก่อนเวลา 1 ชั่วโมงในเวลา 11.00 น. ก่อนจะเลี้ยงอาหารกลางวันให้กับผู้ร่วมประชุม ซึ่งแตกต่างจากเวทีครั้งอื่นๆ ที่กรมเจ้าท่าดำเนินการ ซึ่งมักจะมีการสนับสนุนและคัดค้านบ้างจนต้องใช้เวลายืดเยื้อ