xs
xsm
sm
md
lg

“กรมเจ้าท่า” เผยวิธีแก้ชายหาดสทิงพระพัง เสริมทราย-สร้างเขื่อนยื่นในทะเล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้จัดการโครงการ
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - กรมเจ้าท่าจ้าง 2 บริษัทที่ปรึกษาศึกษาแนวทางการสร้างเขื่อนป้องกันชายหาดที่ อ.สิงหนคร ถูกกัดเซาะเสียหายยับเยิน โดยมีแนวทางเลือกในการนำทรายจากแหล่งอื่นมาเติมชายหาด และการใช้โครงสร้างก่อสร้างในทะเล ด้านผู้เข้าร่วมห่วงวิธีการล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตชาวประมง เพราะแม้แก้ปัญหาเฉพาะจุดได้ แต่กลับสร้างปัญหาในพื้นที่อื่นหนักขึ้น

วันนี้ (8 ส.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น.ที่โรงแรมหาดแก้วรีสอร์ท อ.สิงหนคร จ.สงขลา กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม จัดประชุมสัมมนาและรับฟังความคิดเห็น เพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ครั้งที่ 1 (บริเวณหาดทรายแก้ว) ซึ่งได้ว่าจ้าง บริษัท ซีสเปคตรัม จำกัด และ บริษัท เอส ที เส เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษา โครงการศึกษาสิ่งแวดล้อมและสำรวจออกแบบเพื่อก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง บริเวณ ต.ชิงโค และหัวเขาแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลา โดยมีคณะกรรมการกรมเจ้าท่า เจ้าหน้าที่ภาครัฐ และประชาชนเข้าร่วม

นายวรรณชัย บุตรทอง วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ ผู้แทนกรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า จังหวัดสงขลาเป็นจังหวัดที่มีแนวชายฝั่งยาวติดด้านอ่าวไทยทางตอนใต้ของประเทศ ภายหลังจากที่กรมเจ้าท่าได้สร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำทางเข้าท่าเทียบเรือน้ำลึกสงขลา อ.เมือง แล้วเสร็จประมาณปี 2531 ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งทางทิศเหนือของชายหาด ด้านทิศเหนือ อ.สิงหนคร และทวีอย่างรุนแรงใน ตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา ตั้งแต่สำนักสงฆ์ธรรมสถานหาดแก้ว ม.1 ต.หัวเขา ซึ่งคาดการณ์ว่า มีพื้นที่หายไปจากการถูกคลื่นกัดเซาะแล้วเกือบ 50 ไร่

ตลอดจนหาดทรายแก้ว ม.1 ต.ชิงโค ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่ออีกแห่งหนึ่งนอกจากหาดสมิหลาใน อ.เมือง และไม่สามารถแก้ไขด้วยการวางท่อคอนกรีตเสริมเหล็ก ทิ้งหินเพื่อกันคลื่น โดยยังมีอัตราการถูกกัดเซาะไม่น้อยกว่า 5 เมตร/ปี และนับแต่ปี 2532-2553 สูญเสียที่ดินประมาณ 278 ไร่ นอกจากนี้ ทรายยังทับถมลากูนให้แคบลงโดยเฉพาะบริเวณหน้าหาดทรายแก้วรีสอร์ท ทำให้น้ำไม่ไหลเวียน และปัญหาชายฝั่งถูกกัดเซาะนี้เกิดขึ้นตลอดแนวอ่าวไทยของภาคใต้ แต่มีความรุนแรงที่ต่างกัน

ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับผลการศึกษาแผนแม่บทดังกล่าว กรมเจ้าท่าจึงส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจพื้นที่และเห็นสมควรในการแก้ไขอย่างเร่งด่วนในระยะยาวอย่างยั่งยืนต่อไป กรมเจ้าท่าจึงว่าจ้างบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาที่ชำนาญด้านวิศวกรรมชายฝั่งดำเนินการศึกษาสิ่งแวดล้อมและสำรวจออกแบบเพื่อก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ในพื้นที่ ต.ชิงโค และหัวเขาแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลา ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร

สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารของการศึกษา ทั้งในเรื่องของความเป็นมา วัตถุประสงค์ ขั้นตอนการศึกษาโครงการ ความก้าวหน้าของผลการศึกษา พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ชาวประมง และประชาชนที่อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียงพื้นที่ศึกษาเข้าร่วมงาน เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันและสอดคล้องกับความต้องการของทุกฝ่าย

ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่เกิดจากการขาดสมดุลของตะกอนทราย โดยคลื่นได้พัดพา และเคลื่อนย้ายตะกอนทรายออกจากพื้นที่ ในขณะที่ตะกอนทรายเข้ามาเติมเต็มและทดแทนมีปริมาณไม่เพียงพอ ซึ่งการเคลื่อนย้ายตะกอนทรายชายฝั่งของพื้นที่ ต.ชิงโคและหัวเขาแดงของ อ.สิงหนคร นั้น จะเคลื่อนที่จากหาดสมิหลาที่อยู่ทางทิศใต้ ข้ามปากร่องน้ำทะเลสาบสงขลาขึ้นไปยังหาดทรายแก้วซึ่งอยู่ทางทิศเหนือ

แต่หลังจากมีการสร้างเขื่อนกันทรายร่องน้ำทะเลสาบสงขลา ตะกอนทรายถูกขวางกั้นไว้ด้านใต้ ส่งผลให้ตะกอนเกิดการทับถมอย่างต่อเนื่องที่ด้านทิศใต้ของเขื่อน ทำให้บริเวณแหลมสนอ่อนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในทางกลับกันทำให้ชายหาดทิศเหนือของเขื่อนขาดสมดุลตะกอน จึงทำให้มีปัญหาชายฝั่งถูกกัดเซาะรุนแรงบริเวณหาดทรายแก้ว และขยายผลขึ้นไปทางทิศเหนืออีกหลายกิโลเมตรดังที่ปรากฏในปัจจุบัน

ดร.สุทัศน์ กล่าวต่อว่า ภายในระยะเวลา 1 ปี บริษัทจะทำการศึกษาปัญหาและแก้ไขการกัดเซาะชายหาดในพื้นที่ อ.สิงหนคร จ.สงขลา โดยศึกษาวิเคราะห์ปัญหาและสาเหตุ เพื่อหาวิธีการอันเหมาะสม ประชาชนในพื้นที่ให้การตอบรับแล้วจึงสำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงสร้างป้องกัน และจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตลอดจนประมาณค่าการก่อสร้าง

อย่างไรก็ตาม บริษัทที่ปรึกษาได้เสนอรูปแบบโครงการเบื้องต้น 3 แนวทาง คือ แนวทางเลือกที่ 1 เสริมทรายชายหาด โดยนำทรายจากที่อื่น เช่น แหลมสนอ่อน ทรายจากการขุดลอกร่องน้ำ มาถมชายฝั่งเพื่อให้ชายหาดสวยงามตามธรรมชาติ ไม่มีโครงสร้างบดบังทัศนียภาพ แต่ต้องคำนึงถึงปัจจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์ประกอบกับทางวิศวกรรม 2.เสริมทรายชายหาดและมีโครงสร้างเท่าที่จำเป็น เพื่อรักษาให้ชายฝั่งอยู่ในสภาพสมดุลพอสมควร โดยการเพิ่มโรงสร้างป้องกันการกัดเซาะใต้น้ำ หรือเหนือน้ำ เช่น ไส้กรอdทราย เป็นต้น และ 3.เสริมทรายชายหาดและโครงสร้างหลักป้องกันทรายไม่ให้หายไปจากหาด แม้จะทำให้ชายหาดมีเสถียรภาพ แต่นอกจากกระทบต่อชายฝั่งข้างเคียงด้านทิศเหนือเหมือนแนวทางเลือกที่ 2 แล้ว ยังบดบังทัศนียภาพของชายหาดและทะเลอีกด้วย

ด้าน นายสุวัชร์ บัวแย้ม ผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงการศึกษาสภาพแวดล้อมปัจจุบัน และแนวทางการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมว่า เขื่อนกันคลื่นที่ศึกษาเพื่อนำมาใช้ในแนวทางเลือกที่ 2-3 นั้นมี 2 รูปแบบ คือ อยู่ใต้น้ำเวลาน้ำขึ้นแต่จะมีประสิทธิภาพด้อยกว่าเขื่อนกันคลื่นแบบที่ 2 ซึ่งเป็นโครงสร้างที่อยู่เหนือน้ำ อย่างไรก็ตาม จะมีการศึกษาผลกระทบด้านกลุ่มผู้ประกอบอาชีพประมงทั้งทางตรงและทางอ้อม ตลอดจนผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะมีต่อประชาชนที่อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร ตามแนวชายฝั่งจากพื้นที่โครงการ และรัศมี 3 กิโลเมตรในทะเลและห่างจากฝั่งทะเล

ทั้งนี้ ผู้ที่เข้าร่วมประชุมได้แสดงความกังวลต่อแนวทางเลือกที่บริษัทที่ปรึกษานำมาเสนอ แม้ส่วนใหญ่จะต้องการรักษาหาดทรายแก้ว ซึ่งเป็นชายหาดท่องเที่ยวผืนสุดท้ายของ จ.สงขลา ที่กำลังจะหมดไป อีกทั้งสถานปฏิบัติธรรมเพื่อรักษาไว้ซึ่งอาหารใจของชาวพุทธ แต่แนวทางเลือกส่วนใหญ่นั้นยังให้ผลที่ไม่น่าพอใจ แม้แนวทางแรกจะไม่ก่อสร้างโครงสร้างลงทะเลเพิ่มการกัดเซาะ แต่อาจจะมีปัญหาเรื่องการถมทรายว่าจะที่ใด เนื่องจากการนำมาจากแหลมสนอ่อนนั้นเป็นเรื่องเปราะบาง

ส่วนแนวทางที่เหลือแม้รักษาชายหาดในพื้นที่นั้นได้ แต่กลับสร้างปัญหากัดเซาะในพื้นที่ทางทิศเหนือของชายฝั่งแทน นั่นคือ อ.สทิงพระ ซึ่งมีชุมชนอยู่อย่างหนาแน่น และได้รับผลกระทบจากการขุดเจาะน้ำมันในทะเลอยู่แล้ว จึงฝากให้บริษัทที่ปรึกษาหาแนวทางอื่นๆ ที่สามารถหยุดการกัดเซาะเฉพาะที่แล้วไม่กระทบกับพื้นที่อื่นด้วย
นายสุวัชร์ บัวแย้ม ผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม


รูปแบบการป้องกันชายหาดที่ผสมผสานระหว่างการเสริมทรายและก่อสร้างโครงสร้างหลักลงทะเล ในลักษณะเขื่อนหินซึ่งจุดอื่นๆ ของ จ.สงขลา ได้เกิดขึ้นแล้วแม้จะชะลอการกัดเซาะในจุดนั้น แต่กลับกระตุ้นให้ชายหาดทางทิศเหนือทวีการถูกกัดเซาะอย่างรุนแรงยิ่งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น