xs
xsm
sm
md
lg

คดีป้อง “ชายหาดสงขลา”ศาลพิพากษา“กรมเจ้าท่า”ถอยทำ EIA ใน 60 วัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชายหาดบ้านบ่อโชน ต.สะกอม ถูกกัดเซาะรุนแรงจากเขื่อนกันทรายและกันคลื่น พ.ค. 2545 (แฟ้มภาพ )
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่

หลังกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน จากปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่งมายาวนาน อันเป็นผลมาจากการดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนกันทรายของกรมเจ้าท่า (กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี เดิม)มายาวนาน และมีการฟ้องร้องถึงผลกระทบที่ชาวบ้านได้รับจากโครงการนี้

ผลการตัดสินของศาลปกครองสงขลา คดีหมายเลขดำที่ 15-16/2551 เมื่อวันที่ 29 ก.ค.2554 ถือเป็นชัยชนะอีกก้าวหนึ่ง ต่อการให้หน่วยงานรัฐหันกลับทบทวนต่อการแก้ไขปัญหาชายฝั่งถูกกัดเซาะ หลังจากที่ชาว ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา ได้รวมตัวกันฟ้องหน่วยงานภาครัฐเป็นครั้งแรกในวันที่ 29 ม.ค. 2551
 

ผู้ถูกฟ้องร้องที่ 1-3 ประกอบด้วย กรมเจ้าท่าที่ 1 (กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี เดิม) อธิบดีกรมเจ้าท่าที่ และกรมทรัพยากรทางทะเลชายฝั่ง ในโครงการก่อสร้างเขื่อนกันทรายร่องน้ำสะกอมและคลื่นที่รุกล้ำชายฝั่งตั้งแต่ปี 2540-2541 และทำให้เกิดการกัดเซาะชายหาดอย่างรุนแรง ซึ่งการแก้ปัญหากลับมีการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นเพิ่มเติมขยายขึ้นไปทางทิศเหนือของอ่าวไทย จนทรายบนชายหาดเสียสมดุลถูกพัดออกและกัดกินพื้นที่บนฝั่งเสียหายเป็นลูกโซ่

จากผลกระทบของการไร้ซึ่งชายหาด และมีสิ่งรุกล้ำน่านน้ำทะเลนั้น ทำให้ผู้ที่มีอาชีพบริเวณชายหาด ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ทั้งการทำประมงพื้นบ้านขนาดเล็ก รุนกุ้ง หาหอยเสียบ ชาวบ้านต้องเปลี่ยนเส้นทางการสัญจรระหว่างหมู่บ้านจากชายหาดพังทลาย กระทบต่อระบบนิเวศอันเป็นแหล่งวางไข่ของเต่าทะเล ปูลม หนอนทรายทะเล ปลาพันธุ์ต่างๆ และส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้ฟ้อง ชุนชนชาวสะกอมที่ต้องการรักษาเป็นมรดกให้คนรุ่นหลัง ในการเป็นแหล่งทำมาหากิน สถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวบ้านและนักท่องเที่ยว นับเป็นความเสียหายประมาณปีละ 21,000,000 บาท รวม 9 ปี เป็นเงิน 189 ล้านบาท เป็นมูลเหตุทำให้ชาวบ้านต้องลุกขึ้นพึ่งพากระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ผู้ถูกฟ้องตระหนักในวิธีการแก้ปัญหาที่ผิดพลาด และนำเงินจำนวนนี้มาฟื้นฟูและรักษาชายฝั่งทะเลไทยให้กลับเข้าสู่ภาวะสมดุลดังเดิม

ในกระบวนการเรียกร้องให้คืนชายหาดกลับมาดังเดิมนั้น แยกเป็นจำนวน 2 คดี

คดีแรก นพ.อนันต์ บุญโสภณ ฟ้องในข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่รัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งส่งผลกระทบ ทำให้ที่ดินของ นพ.อนันต์ จำนวน 2 แปลงตั้งอยู่ใน ต.สะกอม โฉนดที่ดินเลขที่ 38618 เนื้อที่ 3 งาน 41 ตารางวา และที่ดินตามโฉนดเลขที่ 38620 จำนวน 15 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวา ซึ่งใช้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และให้บริการแก่นักท่องเที่ยวถูกคลื่นกัดเซาะได้รับความเสียหาย

โดยศาลได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีแล้ว พบว่า กรมเจ้าท่ากระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมายในการสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นร่องน้ำสะกอม ซึ่งมีการนำดินและวัสดุต่างๆ ไปเททับถมและก่อสร้างในน่านน้ำ รวมทั้งเป็นการดำเนินการก่อสร้างล่วงล้ำเข้าไปเหนือน้ำ ในน้ำของลำน้ำ และภายในน่านน้ำทะเลไทย รวมทั้งบนชายหาดของทะเล บริเวณร่องน้ำสะกอม จึงมีลักษณะเป็นการถมที่ดินในทะเล และอาจจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในบริเวณร่องน้ำสะกอม และพื้นที่ใกล้เคียงได้ แต่ทั้งหมดไม่ชอบด้วยกฎหมายในขั้นตอนและวิธีการอันเป็นสาระสำคัญของกฎหมาย การที่ศาลจะให้รื้อถอนในทันทีจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ ในการแก้ไขปัญหาเกิดจากตะกอนทรายที่ตกมาปิดร่องน้ำ

ดังนั้น ศาลจึงพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กรมเจ้าท่า) จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด เสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อพิจารณา และหากปรากฏตามรายงาน EIA ว่า เขื่อนกันทรายและคลื่นมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามฟ้อง ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดำเนินการแก้ไขตามข้อเสนอแนะของรายงาน EIA ภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับรายงาน พร้อมทั้งดำเนินการฟื้นฟูที่บริเวณดังกล่าวให้กลับคืนสภาพเดิมหรือใกล้เคียง

ส่วนคดีที่สอง นายสาลี มะประสิทธ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 บ้านโคกสัก ต.สะกอม, นายดลรอหมาน โต๊ะกาหวี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 บ้านบ่อโชน ต.สะกอม และนายเจะหมัด สังข์แก้ว สมาชิกอบต.หมู่ที่ 7 ต.สะกอม เป็นตัวแทนชาวบ้าน ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา ร่วมกันฟ้องในข้อกล่าวหาว่า หน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีแล้วให้ความเห็นเหมือนกับคดีแรก และพิพากษาให้กรมเจ้าท่าทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA เช่นเดียวกัน แต่เพิ่มเติมโดยให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดแก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1-3 และยกฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2-3 พร้อมยกคำขออื่นนอกจากนี้

ทั้งนี้ ชาวบ้านสะกอมยังมีความต้องการที่จะปกป้องชายหาดโดยพึ่งกระบวนการยุติธรรมให้ถึงที่สุด ซึ่งจะมีการอุทธรณ์ภายใน 30 วัน เพื่อให้ศาลได้ประจักษ์ในหลักฐานและข้อมูลประเด็นเรื่องความเสียหายของชายหาด โดยจะขอให้ศาลใช้อำนาจเรียกผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมมาให้ความเห็น และข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เพื่อศาลจะเป็นผู้ประเมินความเสียหายจากผลกระทบที่เกิดขึ้น และนำเงินที่เรียกร้องค่าเสียหายมาบูรณะชายหาดให้คืนสมดุลอันเป็นสาธารณประโยชน์ต่อไป และเพื่อเป็นบรรทัดฐานให้แก่จังหวัดอื่นๆ ที่ชายหาดถูกอีกหลายหน่วยงานก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำชายฝั่งทะเลด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และไม่ได้ใช้หลักวิชาการในการสกัดยับยั้งปัญหา แต่ใช้งบมหาศาลในการรุกล้ำทะเล ทำให้ความรุนแรงของการกัดเซาะชายฝั่งทวีขึ้นตลอดแนวอ่าวไทย

ด้าน รศ. ดร.สมบูรณ์ พรพิเนตรพงษ์ นักสมุทรศาสตร์ กล่าวว่า จากการฟังคำพิพากษาในวันนี้เห็นได้ชัดว่าศาลได้ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม จึงให้กรมเจ้าท่าทำรายงาน EIA และด้วยจิตสำนึกเมื่อรู้ว่ากระทำแล้วก่อให้เกิดความเสียหาย แม้ศาลจะไม่ตัดสินเด็ดขาด แต่ควรจะพิจารณาเองว่าการที่กรมเจ้าท่าทุ่มงบก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นตลอดแนวอ่าวไทยในปี 2554 อีกหลายจุด ได้แก่ จ.ชุมพรที่ปากตะโก, หลังสวน, จ.นครศรีธรรมราช หน้าโกฏิ อ.ปากพนัง, บ้านหน้าสตน อ.หัวไทร,จ.สงขลา บ้านปากตระ และบ้านบ่อตรุ อ.ระโนด, หาดแก้ว อ.สิงหนคร, ต.เขารูปช้าง อ.เมือง และ ต.สะกอม อ.จะนะ ควรจะชะลอก่อนหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น