ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ศาลปกครองสงขลาพิพากษาคดีชาวบ้านสะกอม และเจ้าของรีสอร์ต ฟ้องกรมเจ้าท่า 2 คดี จากผลกระทบในการสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่น แล้วทำให้ชายหาดถูกกัดเซาะ ทรัพย์สินเสียหาย และชาวบ้านไม่สามารถใช้ประโยชน์ทั้งบนบก-ทะเลได้ดังเดิม ชี้ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในขั้นตอนและวิธีการ สั่งกรมเจ้าท่าทำ EIA ภายใน 60 วัน และหากมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามที่ฟ้องแล้วให้แก้ไขภายใน 30 วัน ด้านชาวบ้านเตรียมอุทธรณ์ ขอผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นและให้ศาลประเมินความเสียหายแก่ชาวบ้าน
วันนี้ (29 ก.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น.ศาลปกครองสงขลาได้อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 15-16/2551 ท่ามกลางการรับผู้ฟ้อง ชาวบ้าน ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา นักวิชาการ ในขณะที่กรมเจ้าท่านั้นมิได้ส่งตัวแทนมาในวันนี้
สืบเนื่องจากในปี 2540-2541 กรมเจ้าท่า หรือกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวีในชื่อเดิมได้ทำการก่อสร้างเขื่อนกั้นทรายปากคลองสะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา และสร้างเขื่อนกันคลื่นจำนวน 6 ตัว เพื่อมิให้ตะกอนทับถมบริเวณร่องน้ำปากคลองสะกอม และไม่ต้องขุดลอกคลองทุกปี แต่กลับเป็นการรุกล้ำชายฝั่งทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งของบ้านบ่อโชนกว่า 80 เมตรเป็นระยะทางกว่า 3 กิโลเมตร และยังไม่มีท่าทีว่าจะหยุดการกัดเซาะลง
ผลกระทบดังกล่าวทำให้ผู้ที่มีอาชีพบริเวณชายหาดบริเวณ ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ทั้งการทำประมงพื้นบ้านขนาดเล็ก รุนกุ้ง หาหอยเสียบ ชาวบ้านต้องเปลี่ยนเส้นทางการสัญจรระหว่างหมู่บ้านจากชายหาดพังทลาย กระทบต่อระบบนิเวศน์อันเป็นแหล่งวางไข่ของเต่าทะเล ปูลม หนอนทรายทะเล ปลาพันธุ์ต่างๆ และส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้ฟ้อง ชุนชนชาวสะกอมที่ต้องการรักษาเป็นมรดกให้คนรุ่นหลัง ในการเป็นแหล่งทำมาหากิน สถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวบ้านและนักท่องเที่ยว นับเป็นความเสียหายประมาณปีละ 21,000,000 บาท รวม 9 ปี เป็นเงิน 189 ล้านบาท
ส่วนนี้ผู้ฟ้อง เห็นว่า จำเป็นต้องเร่งฟื้นฟูและรักษาชายฝั่งทะเลไทยให้กลับเข้าสู่ภาวะสมดุลดังเดิม และให้นำเงินมูลค่าความเสียหายนั้นมาใช้จ่ายในการฟื้นฟู และมีการแยกฟ้อง 2 คดีดังที่ปรากฏ
คดีแรก นพ.อนันต์ บุญโสภณ ได้ฟ้องกรมเจ้าท่าที่ 1 (กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี เดิม), อธิบดีกรมเจ้าท่าที่ 2 และกรมทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งที่ 3 ในข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่รัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย สืบเนื่องจาก กรมเจ้าท่าได้ก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นและทราย บริเวณปากคลองสะกอม ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา จำนวน 6 ตัว นับแต่ปี 2539
แต่ภายหลังมีการกัดเซาะชายฝั่ง ทำให้ที่ดินของ นพ.อนันต์ จำนวน 2 แปลง โฉนดที่ดินเลขที่ 38618 เนื้อที่ 3 งาน 41 ตารางวา และที่ดินตามโฉนดเลขที่ 38620 จำนวน 15 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวา ซึ่งใช้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และให้บริการแก่นักท่องเที่ยวถูกคลื่นกัดเซาะได้รับความเสียหาย
เมื่อได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีแล้ว พบว่า กรมเจ้าท่ากระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมายในการสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นร่องน้ำสะกอม ซึ่งมีการนำดินและวัสดุต่างๆ ไปเททับถมและก่อสร้างในน่านน้ำ รวมทั้งเป็นการดำเนินการก่อสร้างสิ่งสก่อสร้างล่วงล้ำเข้าไปเหนือน้ำ ในน้ำของลำน้ำ และภายในน่านน้ำทะเลไทย รวมทั้งบนชายหาดของทะเทบริเวณร่องน้ำสะกอม จึงมีลักษณะเป็นการถมที่ดินในทะเล และอาจจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในบริเวณร่องน้ำสะกอม และพื้นที่ใกล้เคียงได้
แต่ทั้งหมดไม่ชอบด้วยกฎหมายในขั้นตอนและวิธีการอันเป็นสาระสำคัญของกฎหมาย การที่ศาลจะให้รื้อถอนในทันทีจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ ในการแก้ไขปัญหาเกิดจากตะกอนทรายที่ตกมาปิดร่องน้ำ
ดังนั้น ศาลจึงพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กรมเจ้าท่า) จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม EIA ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด เสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อพิจารณา และหากปรากฏตามรายงาน EIA ว่า เขื่อนกันทรายและคลื่นมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามฟ้อง ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดำเนินการแก้ไขตามข้อเสนอแนะของรายงาน EIA ภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับรายงาน พร้อมทั้งดำเนินการฟื้นฟูที่บริเวณดังกล่าวให้กลับคืนสภาพเดิมหรือใกล้เคียง
ส่วนคดีต่อมานั้น ชาวบ้าน นายสาลี มะประสิทธิ์, นายเจะหมัด สังข์แก้ว, นายดลรอหมาน โต๊ะกาหวี กับกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี (ชื่อในปัจจุบันคือ กรมเจ้าท่า) และอธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี และกรทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในข้อกล่าวหาว่า หน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีแล้วให้ความเห็นเหมือนกับคดีแรก และพิพากษาให้กรมเจ้าท่าทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA เช่นเดียวกัน แต่เพิ่มเติมให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดแก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1-3 และยกฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2-3 พร้อมยกคำขออื่นนอกจากนี้
รองศาสตราจารย์ ดร.สมบูรณ์ พรพิเนตรพงษ์ นักสมุทรศาสตร์ กล่าวว่า จากการฟังคำพิพากษาในวันนี้เห็นได้ชัดว่าศาลได้ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม จึงให้กรมเจ้าท่าทำรายงาน EIA และด้วยจิตสำนึกเมื่อรู้ว่ากระทำแล้วก่อให้เกิดความเสียหาย แม้ศาลจะไม่ตัดสินเด็ดขาด แต่ควรจะพิจารณาเองว่าควรหยุดสร้างสิ่งก่อสร้างใดๆ ในทะเลหรือไม่
ด้านแหล่งข่าวรายหนึ่ง เผยว่า การฟ้องร้องครั้งนี้เป็นคดีใหม่สำหรับศาลที่จะเป็นบรรทัดฐานให้กับจังหวัดอื่นๆ ซึ่งประสบปัญหาเดียวกัน อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ ชาวบ้านจะมีการอุทธรณ์ภายใน 30 วัน ให้ศาลใช้อำนาจเรียกผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมมาให้ความเห็นเพิ่มเติมในเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เพราะหากให้กรมเจ้าท่าเป็นผู้ดำเนินการทำ EIA เองก็อาจจะเข้าข้างตัวเอง รวมถึงขอให้ศาลเป็นผู้ประเมินความเสียหายจากผลกระทบที่เกิดขึ้นแทนกรมเจ้าท่า
นอกจากนี้ ยังตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งที่กรมเจ้าท่าได้ทำมานั้นตั้งแต่การสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นตัวแรกไม่ถูกต้องแล้ว ยังมีการก่อสร้างอีกตามมาจนถึงปัจจุบันด้วยวิธีการเดียวกันนั้น มีความถูกต้องหรือไม่ และผลกระทบก็ยังมีให้เห็นอยู่จนถึงทุกวันนี้