xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองตัดสิน 29 ก.ค.ชาวบ้านฟ้องรัฐทำชายฝั่งพังที่สงขลา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - 29 ก.ค.“ศาลปกครองสงขลา” นัดอ่านคำพิพากษาคดีประวัติศาสตร์ ที่ชาวจะนะฟ้องกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี อธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในข้อหาสร้าง “เขื่อนกันทราย” และ “เขื่อนกันคลื่น” บริเวณชายฝั่งโดยมิชอบและละเมิดกฎหมาย โดยเรียกค่าชดเชยเกือบ 200 ล้านบาท เพื่อนำไปฟื้นฟูชายฝั่งที่พังทลาย

รศ.ดร.สมบูรณ์ พรพิเนตพงศ์ นักวิชาการจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ (มอ.หาดใหญ่) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชายฝั่ง เปิดเผยกับ “ASTVผู้จัดการรายวัน” ถึงความคืบหน้าคดีที่ชาวบ้านใน ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา ส่งตัวแทน 3 คนเป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสงขลา โดยมีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี เป็นจำเลยที่ 1 อธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี เป็นจำเลยที่ 2 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นจำเลยที่ 3 ในข้อกล่าวหาว่า หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย จากการสร้างเขื่อนกันทรายและเขื่อนกันคลื่นบริเวณชายฝั่งสะกอมตั้งแต่ปี 2551

รศ.ดร.สมบูรณ์กล่าวว่า เมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา ระหว่างเวลา 10.30-11.15 น. ศาลปกครองสงขลาได้นั่งพิจารณาคดีนี้เป็นครั้งแรก พร้อมกับนัดให้คู่ความทั้ง 2 ฝ่ายส่งตัวแทนไปแถลงปิดคดีด้วย โดยตนได้รับมอบหมายจากตัวแทนชาวบ้านที่เป็นฝ่ายโจทก์ทั้ง 3 คนให้ไปเป็นผู้แถลงปิดคดีของฝ่ายโจทก์ ส่วนฝ่ายจำเลยอัยการที่ทำหน้าที่ว่าความให้แจ้งว่าไม่ขอแถลงปิดคดี อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นก็ได้มีตุลาการผู้แถลงคดี 1 ท่าน ซึ่งไม่ใช่ตุลาการในองค์คณะพิจารณาคดีดังกล่าวของศาลปกครองสงขลา ได้อ่านคำแถลงการณ์เสนอความเห็นต่อองค์คณะผู้พิพากษาในคดีนี้ด้วย แต่มีการยืนยันว่าคำแถลงการณ์ของตุลาการนี้ไม่ผูกพันต้ององค์คณะในการจัดทำคำพิพากษาในคดีนี้

ทั้งนี้ ในวันนัดแถลงปิดคดี มีชาวบ้านจากจะนะจำนวนมากเดินทางไปร่วมฟังการแถลงปิดคดี นอกนั้นก็มีนักศึกษาและชาวบ้านจากชุมชนเครือข่ายเฝ้าระวังชายหาดในหลายจังหวัดของภาคใต้เข้าร่วมด้วย รวมแล้วกว่า 80 คน เนื่องจากคดีนี้ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่จะเป็นต้นแบบให้แก่ชาวบ้านในชุมชนต่างๆ รวมถึงบุคคลหรือองค์กรที่ได้รับผลกระทบจากการพังทลายของชายฝั่งทะเล อันเป็นผลมาจากการกระทำของภาครัฐ ได้นำไปเป็นแบบอย่างในการต่อสู้ต่อไป

“มีเรื่องที่ต้องถือว่าน่าระทึกใจเกี่ยวกับคดีนี้มากที่สุด คือ ศาลปกครองสงขลาได้นัดทั้งโจทก์และจำเลยให้ไปฟังการอ่านคำพิพากษาในวันที่ 29 ก.ค.นี้ เวลา 10.00 น. ซึ่งคำพิพากษาดังกล่าวจะถูกเขียนขึ้นจากองค์คณะตุลาการศาลปกครองผู้พิจารณาคดีรวม 3 ท่าน ส่วนผลจะออกมาอย่างไร เชื่อว่าพี่น้องประชาชนชาวจะนะพร้อมน้อมรับได้แน่นอน และต่างก็เชื่อมั่นว่าจะจะนำไปสู่การพลิกหน้าประวัติศาสตร์ของการต่อสู้เรื่องชายหาดพังด้วย” รศ.ดร.สมบูรณ์ กล่าว

สำหรับคดีนี้ได้มีการฟ้องร้องเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2551 โดยมีผู้ฟ้องคดี 3 คน ประกอบด้วย นายสาลี มะประสิทธิ์ นายเจะหมัด สังข์แก้ว และนายดลรอหมาน โต๊ะกาหวี ส่วนผู้ถูกฟ้องคดี ได้แก่ กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 อธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ในข้อกล่าวหาว่า หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย

ทั้งนี้ ชาวบ้านได้ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหาย ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและเขื่อนกันคลื่นชายฝั่งสะกอม ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2540-2541 โดยกรมเจ้าท่า หรือกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวีในชื่อปัจจุบัน ได้ทำการก่อสร้างเขื่อนกั้นทรายปากคลองสะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา และสร้างเขื่อนกันคลื่นอีก 4 ตัว โดยเรียงหาเข้าฝั่ง ซึ่งเป็นการรุกล้ำชายฝั่งทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งของบ้านบ่อโชนกว่า 80 เมตรเป็นระยะทางกว่า 3 กิโลเมตรและยังไม่มีท่าทีว่าจะหยุดการกัดเซาะลง

ผลกระทบดังกล่าวทำให้ผู้ที่มีอาชีพบริเวณชายหาดบริเวณนั้นไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ทั้งการทำประมงพื้นบ้านขนาดเล็ก รุนกุ้ง หาหอยเสียบ, ชาวบ้านต้องเปลี่ยนเส้นทางการสัญจรระหว่างหมู่บ้านจากชายหาดพังทลาย, กระทบต่อระบบนิเวศอันเป็นแหล่งวางไข่ของเต่าทะเล ปูลม หนอนทรายทะเล ปลาพันธุ์ต่างๆ และส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้ฟ้อง ชุนชนชาวสะกอมที่ต้องการรักษาเป็นมรดกให้คนรุ่นหลัง ในการเป็นแหล่งทำมาหากิน สถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวบ้านและนักท่องเที่ยว นับเป็นความเสียหายประมาณปีละ 21,000,000 บาท รวม 9 ปี เป็นเงิน 189 ล้านบาท ซึ่งส่วนนี้ผู้ฟ้องเห็นว่า จำเป็นต้องเร่งฟื้นฟูและรักษาชายฝั่งทะเลไทยให้กลับเข้าสู่ภาวะสมดุลดังเดิม และให้นำเงินมูลค่าความเสียหายนั้นมาใช้จ่ายในการฟื้นฟู
กำลังโหลดความคิดเห็น