xs
xsm
sm
md
lg

ละครมหาดไทย : พระราชอำนาจที่ทุกฝ่ายพึงตระหนัก

เผยแพร่:   โดย: รมย์ ธรรมวัฒนารมณ์

คนไทยยอมรับและเข้าใจการปกครองระบอบประชาธิปไตยดีว่า การจะรักษาไว้ซึ่งเอกราช ความมั่นคงของชาติ ให้ยั่งยืนนานได้นั้น วิถีทางในการปกครองประเทศที่สำคัญคือการเทิดทูน และธำรงสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เป็นประมุขและมิ่งขวัญของชาติไทย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาแม้จะมีการประกาศใช้ ยกเลิก แก้ไขรัฐธรรมนูญหลายครั้งก็ตาม สิ่งที่ยังคงไว้โดยไม่เปลี่ยนแปลงคือบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฯ ที่ว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขนั้น จะทรงเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของประชาชน “ทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ”

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ก็เช่นเดียวกัน

หนึ่งในพระราชอำนาจที่สำคัญของพระมหากษัตริย์ที่ไม่อาจมองข้าม คือ พระราชอำนาจในการเลือกและแต่งตั้งคณะองคมนตรี

อาจมีคำถามที่ปวงชนชาวไทยรุ่นใหม่ ไม่ทราบหรือเข้าใจต่อบทบาทหน้าที่และฐานะขององคมนตรี หรือแม้แต่ยามนี้ก็ไม่มั่นใจว่าเหล่าองคมนตรีทั้งหลาย จะได้ตระหนักถึงพระราชอำนาจที่ทรงให้แก่เขาว่า ที่สุดแล้วเขาควรจะต้องปฏิบัติตนอย่างไร ยิ่งในสภาวะที่มีความพยายามจะก้าวล่วงหรือท้าทายพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์

องคมนตรีคือบุคคลทั่วไปที่มีคุณสมบัติว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ จะต้องไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลปกครอง กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการตรวจเงินแผ่นดินข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ หรือสมาชิก หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมืองและต้องไม่แสดงการฝักใฝ่ในพรรคการเมืองใดๆ

กล่าวโดยสรุปคือต้องเป็นคนดี มีความรู้ ความสามารถ ความซื่อสัตย์สุจริต เป็นคนที่สังคมให้ความเคารพยกย่องในคุณความดีที่ได้กระทำมา ประวัติไม่เสื่อมเสีย ไม่มีส่วนได้เสียกับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดเป็นการเฉพาะ

ข้อสำคัญคือ การเลือก การแต่งตั้ง และการให้องคมนตรีพ้นจากตำแหน่งนั้น เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย ผู้ใดจะเข้าไปก้าวก่ายหรือบีบบังคับมิได้ โดยพระมหากษัตริย์จะทรงเลือกและแต่งตั้งประธานองคมนตรีคนหนึ่งและองคมนตรีอื่นอีกไม่เกินสิบแปดคน เพื่อประกอบเป็นคณะองคมนตรี

ในรัฐธรรมนูญฯ มาตรา12 เขียนหน้าที่คณะองคมนตรีไว้ชัดเจนว่า “ ให้มีหน้าที่ ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวงที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษาและมีหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้

หน้าที่อื่นของคณะองคมนตรีที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฯ ที่ชัดเจนจะอยู่ในหมวดพระมหากษัตริย์ มาตรา 8 ถึงมาตรา25 ในเรื่องใหญ่ๆ 3 เรื่อง คือ

1. คณะองคมนตรีจะเป็นผู้เสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภา กรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตามโดยมิได้มีการตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไว้ หรือเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพราะยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะหรือเพราะเหตุอื่น

2. คณะองคมนตรี จะเป็นผู้จัดทำร่างกฎมณเฑียรบาลแก้ไขเพิ่มเติม ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อมีพระราชวินิจฉัย เมื่อมีพระราชดำริในการแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาล อันเป็นพระราชอำนาจขอพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ

3. คณะองคมนตรีจะเป็นผู้เสนอพระนามผู้สืบราชสันติวงศ์ ในกรณีที่ราชบัลลังก์ว่างลงและเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันติวงศ์

แล้วหน้าที่อื่นในรัฐธรรมนูญองคมนตรีสามารถทำได้ มีอีกหรือไม่ ขอบเขตมากน้อยเพียงใด

ต้องย้อนไปดูว่า ก่อนที่องคมนตรีจะเข้ารับหน้าที่ จะต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำ ดังนี้

“ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้า จะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

ดังนั้นนอกจากเรื่อง ความจงรักภักดี การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตแล้ว การรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ จึงเป็นหน้าที่สำคัญยิ่งโดยตรงขององคมนตรี

การกระทำใดที่จะฝ่าฝืนหรือกระทบต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ไม่ถูกไม่ควรแล้ว ย่อมอยู่ในวิสัยที่องคมนตรีสามารถดำเนินการและถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการทำหน้าที่ตามที่ได้ให้สัตย์ปฏิญาณไว้

ตราบใดที่รัฐธรรมนูญฯ ให้ปวงชนชาวไทยมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณาหรือการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นใดได้ องคมนตรีทุกคนย่อมใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวได้เช่นเดียวกัน

เพียงแต่มีข้อห้ามที่ต้องไม่แสดงการฝักใฝ่ในพรรคการเมืองใดๆ เท่านั้น

เมื่อรัฐธรรมนูญฯ บัญญัติว่า ประเทศไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจะแบ่งแยกมิได้ (มาตรา 1) เรื่องใดที่จะกระทบต่ออธิปไตยของชาติ องคมนตรีย่อมสามารถแสดงความคิดเห็นในการปกป้องดินแดนไทยได้

เมื่อรัฐธรรมนูญฯ บัญญัติว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (มาตรา 2) การกระทำที่ก้าวล่วงพระราชอำนาจใด องคมนตรีย่อมแสดงออกให้เห็นถึงการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ได้เช่นกัน

เมื่อรัฐธรรมนูญฯ บัญญัติว่า การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม (มาตรา 3) หากมีการกระทำที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม องคมนตรีย่อมแสดงความคิดเห็นหรือท้วงติงการบริหารงานขององค์กรดังกล่าวได้

รวมถึงเรื่องเพื่อเป็นทางออกแก่สังคม บางครั้งแม้ไม่มีในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญบังคับ องคมนตรีย่อมให้ความคิดเห็นโดยวินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้

หากเปรียบประเทศชาติคือวัด องคมนตรีก็เสมือนเป็นพระในวัด

การจะดูแลรักษาพระประธานในพระอุโบสถและวัด ให้คงอยู่สืบไปได้นั้น เจ้าอาวาสวัดและพระลูกวัดต้องยับยั้งห้ามผู้คนเมื่อมีการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ไม่บังควรในวัด หากเงียบเฉยปล่อยให้คนทำสิ่งต่างๆ ในวัดตามอำเภอใจได้แล้ว ถึงวันหนึ่งก็ยากแก่การรักษาวัดและพระประธานวัดให้คงอยู่ได้

เมื่อบวชเป็นพระแล้วไม่ใส่ใจในการงานของวัด ก็ไม่ควรอยู่วัดสึกออกอยู่บ้านดีกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น