ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - 29 ก.ค.“ศาลปกครองสงขลา” นัดอ่านคำพิพากษาคดีประวัติศาสตร์ ที่ชาวจะนะฟ้องกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี อธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในข้อหาสร้าง “เขื่อนกันทราย” และ “เขื่อนกันคลื่น” บริเวณชายฝั่งโดยมิชอบและละเมิดกฎหมาย โดยเรียกค่าชดเชยเกือบ 200 ล้านบาท เพื่อนำไปฟื้นฟูชายฝั่งที่พังทลาย เผยคดีนี้แม้จะต้องรอนานถึงกว่า 4 ปีครึ่ง แต่ก็จะเป็นต้นแบบให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบที่กระจายอยู่ทั่วตลอดชายฝั่งทะเลของไทย
รศ.ดร.สมบูรณ์ พรพิเนตพงศ์ นักวิชาการจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ (มอ.หาดใหญ่) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชายฝั่ง เปิดเผยกับ ถึงความคืบหน้าคดีที่ชาวบ้านใน ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา ส่งตัวแทน 3 คนเป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสงขลา โดยมีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี เป็นจำเลยที่ 1 อธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี เป็นจำเลยที่ 2 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นจำเลยที่ 3 ในข้อกล่าวหาว่า หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย จากการสร้างเขื่อนกันทรายและเขื่อนกันคลื่นบริเวณชายฝั่งสะกอมตั้งแต่ปี 2551
รศ.ดร.สมบูรณ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา ระหว่างเวลา 10.30-11.15 น. ศาลปกครองสงขลาได้นั่งพิจารณาคดีนี้เป็นครั้งแรก พร้อมกับนัดให้คู่ความทั้ง 2 ฝ่ายส่งตัวแทนไปแถลงปิดคดีด้วย โดยตนได้รับมอบหมายจากตัวแทนชาวบ้านที่เป็นฝ่ายโจทก์ทั้ง 3 คนให้ไปเป็นผู้แถลงปิดคดีของฝ่ายโจทก์ ส่วนฝ่ายจำเลยอัยการที่ทำหน้าที่ว่าความให้แจ้งว่าไม่ขอแถลงปิดคดี อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นก็ได้มีตุลาการผู้แถลงคดี 1 ท่าน ซึ่งไม่ใช่ตุลาการในองค์คณะพิจารณาคดีดังกล่าวของศาลปกครองสงขลา ได้อ่านคำแถลงการณ์เสนอความเห็นต่อองค์คณะผู้พิพากษาในคดีนี้ด้วย แต่มีการยืนยันว่า คำแถลงการณ์ของตุลาการนี้ไม่ผูกพันต้ององค์คณะในการจัดทำคำพิพากษาในคดีนี้
ทั้งนี้ ในวันนัดแถลงปิดคดี มีชาวบ้านจากจะนะจำนวนมากเดินทางไปร่วมฟังการแถลงปิดคดี นอกนั้นก็มีนักศึกษาและชาวบ้านจากชุมชนเครือข่ายเฝ้าระวังชายหาดในหลายจังหวัดของภาคใต้เข้าร่วมด้วย รวมแล้วกว่า 80 คน เนื่องจากคดีนี้ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่จะเป็นต้นแบบให้แก่ชาวบ้านในชุมชนต่างๆ รวมถึงบุคคลหรือองค์กรที่ได้รับผลกระทบจากการพังทลายของชายฝั่งทะเล อันเป็นผลมาจากการกระทำของภาครัฐ ได้นำไปเป็นแบบอย่างในการต่อสู้ต่อไป
“มีเรื่องที่ต้องถือว่าน่าระทึกใจเกี่ยวกับคดีนี้มากที่สุด คือ ศาลปกครองสงขลาได้นัดทั้งโจทก์และจำเลยให้ไปฟังการอ่านคำพิพากษาในวันที่ 29 ก.ค.นี้ เวลา 10.00 น.ซึ่งคำพิพากษาดังกล่าวจะถูกเขียนขึ้นจากองค์คณะตุลาการศาลปกครองผู้พิจารณาคดีรวม 3 ท่าน ส่วนผลจะออกมาอย่างไร เชื่อว่า พี่น้องประชาชนชาวจะนะพร้อมน้อมรับได้แน่นอน และต่างก็เชื่อมั่นว่าจะนำไปสู่การพลิกหน้าประวัติศาสตร์ของการต่อสู้เรื่องชายหาดพังด้วย” รศ.ดร.สมบูรณ์ กล่าว
สำหรับคดีนี้ได้มีการฟ้องร้องเมื่อวันที่ 29 ม.ค.2551 โดยมีผู้ฟ้องคดี 3 คน ประกอบด้วย นายสาลี มะประสิทธิ์ นายเจะหมัด สังข์แก้ว และ นายดลรอหมาน โต๊ะกาหวี ส่วนผู้ถูกฟ้องคดี ได้แก่ กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 อธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ในข้อกล่าวหาว่า หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย โดยมีสาระสำคัญการฟ้อง ดังนี้
ผู้ฟ้องทั้ง 3 เป็นชาวบ้านในชุมชนบ้านบ่อโชนและบ้านโคกสัก ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งใช้ประโยชน์จากชายหาดสะกอม ได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำของกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี ที่อนุญาตให้สร้างเขื่อนกันทรายและเขื่อนกันคลื่นบริเวณปากคลองสะกอม ซึ่งผลจากการสร้างสิ่งก่อสร้างดังกล่าว ทำให้การประกอบอาชีพเสียหาย ที่ดินและทรัพย์สินอื่นๆ ของผู้ร้องซึ่งตั้งอยู่บนชายฝั่งริมชายหาดถูกน้ำทะเลกัดเซาะอย่างรุนแรง และได้พังทลายลง และยังคงลุกลามต่อไปไม่มีที่สิ้นสุดจนถึงปัจจุบัน
ลำดับความเป็นมา คือ ในปี 2540-41 กรมเจ้าท่า (กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี ในปัจจุบัน) ได้ก่อสร้างเขื่อนกันทรายปากคลองสะกอม และสร้างเขื่อนกันคลื่นอีก 4 ตัวโดยวางเรียงเข้าหาฝั่ง ซึ่งการก่อสร้างโครงสร้างรุกล้ำชายฝั่งเหล่านี้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชายหาดและฝั่งของ ต.สะกอม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชายฝั่งอ่าวไทยที่มีกระแสน้ำชายฝั่งไหลเวียนสุทธิขึ้นไปทางทิศเหนือ การสร้างโครงสร้างรุกล้ำชายฝั่งลงไปเท่ากับเป็นการเพิ่มสิ่งกีดขวางกระแสน้ำและการเคลื่อนที่ของตะกอนชายฝั่ง ทำให้กระแสน้ำเกิดเปลี่ยนทิศทางและชายหาดขาดตะกอนไปหล่อเลี้ยง เป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการกัดเซาะหาดทรายและชายฝั่ง เพราะชายฝั่งเสียสมดุลตามธรรมชาติ
ดังนั้น ทันทีที่สร้างเขื่อนกันทรายและเขื่อนกันคลื่นเสร็จ หาดทรายและชายฝั่งของบ้านบ่อโชน ต.สะกอม ถูกกัดเซาะหายไปกว่า 10 เมตร และปัจจุบันนี้พังทลายลึกกว่า 80 เมตร เป็นระยะทางยาวมากกว่า 3 กิโลเมตร และยังคงพังทลายต่อไปไม่สิ้นสุด
ผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและเขื่อนกันคลื่นชายฝั่งสะกอม ยังส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและผลกระทบต่อความรู้สึกด้านจิตใจของผู้ฟ้องคดี ซึ่งเป็นชาวบ้านในชุมชนบ่อโชนและบ้านโคกสัก ต.สะกอม ที่ใช้ประโยชน์จากชายหาดสะกอม ดังต่อไปนี้
1.กระทบต่อการประกอบอาชีพ คือ ผู้ฟ้องเป็นผู้มีอาชีพทำประมงพื้นบ้านโดยใช้เรือประมงขนาดเล็ก และใช้บริเวณชายหาดดังกล่าวเป็นแหล่งที่พักจอดเรือ นอกจากนี้ในบริเวณชายหาดดังกล่าวยังเป็นพื้นที่ที่ผู้ฟ้องเก็บหอยเสียบและสัตว์น้ำอื่นๆ เพื่อนำไปเลี้ยงชีพ และรุนกุ้งเคยเพื่อนำไปขายร่วมกับสัตว์น้ำต่างๆ อีกด้วย เมื่อชายหาดพังทลายไปทำให้ผู้ร้องไม่สามารถใช้บริเวณดังกล่าวประกอบอาชีพประมง และอาชีพเก็บหอยเสียบและกุ้งเคยไปขายเพื่อเลี้ยงชีพได้ดังเดิม ทำให้ผู้ฟ้องขาดรายได้จากการประกอบอาชีพประมง เก็บหอยเสียบและกุ้งเคยเพื่อขายเลี้ยงชีพ รวม 3 คนประมาณเดือนละ 30,000 บาท
2.กระทบต่อการใช้ประโยชน์ในบริเวณชายหาดสะกอมคือ ก่อนมีการสร้างเขื่อนฯ ผู้ฟ้องสามารถใช้พื้นที่บริเวณชายหาดสะกอมเป็นเส้นทางสัญจรไปมาเพื่อติดต่อระหว่างหมู่บ้านได้โดยอิสระ เมื่อชายหาดสะกอมถูกทำลายลงจึงต้องเดินทางสัญจรบนเส้นทางอื่นแทน ทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ระยะทางในการหาจับสัตว์น้ำก็ไกลขึ้น และไม่สามารถใช้ชายหาดเดิมเป็นที่จอดเรือได้ ทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นรวม 3 คน ประมาณเดือนละ 3,500 บาท
3.กระทบต่อระบบนิเวศ หาดทรายเป็นแหล่งวางไข่ของเต่าทะเล ปูลม หนอนทรายทะเล ทะเลใกล้ชายฝั่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมงดาทะเล ปลาทรายและปลากระบอก และเป็นแหล่งอาหารของนกที่อพยพในฤดูหนาว ดังนั้นการทำลายชายหาดจึงเป็นการทำลายที่อยู่อาศัยของบรรดาสัตว์และพืชทะเลและทำลายห่วงโซ่อาหาร ซึ่งนกอาศัยกินสัตว์ทะเลเป็นอาหาร นอกจากนี้ชายหาดยังทำหน้าที่หลักในการป้องกันคลื่นมิให้ซัดเข้าทำลายผืนดินบนฝั่ง และในขณะเดียวกันชายหาดก็พัฒนากลายเป็นผืนแผ่นดินให้ได้อยู่อาศัยต่อไป เพราะเหตุว่าตะกอนดินที่ไหลจากแม่น้ำลงสู่ทะเลจะถูกคลื่นพัดพามาทับถมบนชายหาดและพัฒนาเป็นแผ่นดินในที่สุด
4.กระทบต่อความรู้สึกด้านจิตใจของผู้ฟ้องและชุมชนชาวสะกอมที่ผูกพันและตระหนักถึงคุณค่าของชายหาดสะกอม และต้องการรักษาไว้ให้เป็นมรดกแก่ลูกหลานคนรุ่นหลัง และแก่สังคมไทยที่จะได้ใช้ประโยชน์จากชายหาดสะกอม ที่มีความสวยงาม สงบสุข เป็นแหล่งทำมาหากิน และเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของชุมชนตลอดจนนักท่องเที่ยว เมื่อชายหาดสะกอมถูกทำลายลงย่อมส่งผลกระทบต่อความรู้สึกและจิตใจ และอาชีพเสริมของผู้ฟ้องรวมทั้งชุมชนชาวบ้านสะกอม นับว่าเป็นความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่เพราะยากที่จะได้ชายหาดอันงดงามกลับคืนมา คิดเป็นความเสียหายประมาณปีละ 21,000,000 บาท รวม 9 ปีเป็นเงิน 189 ล้านบาท
และ 5.นอกจากนี้ ผู้ฟ้องเห็นว่า มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องฟื้นฟูและรักษาชายฝั่งทะเลไทยให้กลับเข้าสู่สภาพสมดุลดังเดิม โดยให้หน่วยงานหลักที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการติดตามแก้ไข และฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงแนวชายฝั่งทะเลของประเทศไทย โดยนำเงินจากข้อ 4 มาใช้จ่ายในการฟื้นฟู