ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ม.ทักษิณ เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจัดทำแผนแม่บทการขุดลอกเพื่อพัฒนาและฟื้นฟูทะเสลาบสงขลาตอนล่าง ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ชาวบ้านขานรับการดำเนินงานหลังจากที่มีหลายหน่วยงานเข้ามาศึกษาแล้วเงียบหายมาหลายครั้ง แต่ยังมีความเห็นต่างถึงแนวการขุดลอกและการนำดินที่ได้ใช้ประโยชน์อย่างไร ทั้งนี้จะมีการเปิดเวทีใน 5 อำเภอรอบทะเลสาบ ก่อนนำข้อมูลให้กรมเจ้าท่าดำเนินการต่อไป
วันนี้ (11 ธ.ค.) เมื่อเวลา 08.30 - 12.30 น. ณ ศาลาริมน้ำ วัดป่าขาด ต.ป่าขาด อ.สิงหนคร จ.สงขลา มหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมกับกรมเจ้าท่า และกลุ่มที่ปรึกษา ได้แก่ จัดเวทีเสวนาการมีส่วนร่วมเพื่อรับฟังความคิดเห็น เพื่อจัดทำแผนแม่บทการขุดลอกเพื่อพัฒนาและฟื้นฟูทะเสลาบสงขลาตอนล่าง ที่วัดป่าขาด อ.สิงหนคร จ.สงขลา ผู้เข้าร่วมประชุมมาจากพื้นที่เทศบาลตำบลชะแล้, อบต.ป่าขาด, อบต.ทำนบ, อบต.ปากรอ, อบต.บางเขียด และกลุ่มรักประชาชนชาวหัวเขา เข้าร่วม ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2554 - กันยายน 2556
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและวิเคราะห์สาเหตุปัญหาการตื้นเขินของทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นแหล่งน้ำใหญ่ขนาด 182 ตร.กม. และผลกระทบในด้านต่างๆ เพื่อสามารถเสนอการแก้ไข บรรเทาปัญหา ด้วยการขุดลอกร่องน้ำสายหลัก จัดระเบียบเครื่องมือประมง ติดตั้งเครื่องหมายการเดินเรือ และส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง โดยจะทำแผนกแม่บทการขุดลอก ศึกษาความเหมาะสมเพื่ออกแบบเบื้องต้น และทำรายงานการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
รศ.ดร.ประมาณ เทพสงเคราะห์ ทีมงานการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวว่า มหาวิทยาลัยทักษิณได้เริ่มเปิดเวทีย่อยเป็นครั้งแรกโดยมีประเด็นหลักคือ เห็นด้วยกับการขุดลอกอย่างไร, แนวการขุดและการจัดการดินที่มาจากการขุดลอกจะทำอย่างไร และมีผลกระทบหรือไม่และควรได้รับการแก้ไขอย่างไร โดยเริ่มจัด อ.สิงหนคร เป็นที่แรกจากทั้งหมด 5 อำเภอ ต่อมาจะจัดที่ อ.เมืองที่เกาะยอ, หาดใหญ่, บางกล่ำ และควนเนียง เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านอย่างรอบด้าน ว่าชาวบ้านเห็นด้วยที่จะขุดลอกทะเลสาบหรือไม่ อย่างไร โดยจะจัดเวทีย่อยลงพื้นที่ที่จะมีการขุดลอก เพื่อให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึงให้มากที่สุด ก่อนจะสรุปข้อคิดเห็นเสนอให้กับกรมเจ้าท่าภาย
นายสายัณฑ์ สุขมี นายก อบต.ป่าขาด กล่าวว่า ทะเลสาบกำลังประสบปัญหาตื้นเขินตามธรรมชาติน้ำเค็มจะขึ้นในเดือนยี่ แต่ตอนนี้ขึ้นช้าลงเดือนห้า เดือนแปด หรือบางปีก็เดือนเก้า เพราะทะเลสาบมีลักษณะคล้ายกระทะเป็นแหล่งรับน้ำจากเทือกเขาบนฝั่ง หน้าฝนก็เกิดน้ำท่วมพื้นที่รอบทะเลสาบ การทำมาหากินของชาวประมงก็ไม่มีความสมบูรณ์ดังเดิม โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่าควรจะขุดลอกห่างจากตลิ่ง 200-300 เมตร รอบทะเล เพื่อให้สัตว์น้ำได้วางไข่ในจุดที่น้ำลึก และให้นำดินที่ขุดลอกนั้นมากองริมฝั่งเพื่อเป็นพื้นที่ป่าชายเลนให้สัตว์น้ำได้วางไข่ขยายพันธุ์ได้ต่อไป
ด้านนายหมัดแสละ เส็นสิหมีน ประธานฟื้นฟูอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน กล่าวว่า อย่างน้อยที่สุดหากมีการขุดลอกทะเลสาบแล้วจะมีการไหลเวียนของน้ำลึก- น้ำตื้นได้ดีขึ้น กุ้งหอยปูปลาสามารถขยายพันธุ์ ฟักไข่ในน้ำเย็นได้ดีขึ้น ทั้งนี้หลาย อบต.มีความต้องการจะใช้ประโยชน์จากดินที่ได้จากการขุดลอกซึ่งมีจำนวนมหาศาล เพื่อขยายพื้นที่ปลูกป่าชายเลน หากมีการใช้ดินโคลนนั้นมาถมก่อนจะปลูกป่าชายเลนแล้ว ในเดือนธันวาคมระดับน้ำจะไม่จมต้นไม้อ่อนให้จมน้ำตาย
นายอิบรอฮิม หะยีสา คณะกรรมการมัสยิดบ้านท่าหัวเขา สะท้อนปัญหาว่า กว่า7 ปี แล้วที่เข้าร่วมเวทีเรื่องขุดลอกทะเลสาบ ต้องปะทะกับเจ้าหน้าที่มาก็เยอะเพราะมีการพูดข้อมูลที่ไม่จริง และการศึกษาก็ไม่เคยทำได้จริง ตนเห็นว่าปัญหาหนึ่งของการขุดลอกทะเลสาบคือเขื่อนกันคลื่นและท่าเรือน้ำลึกที่เกิดขึ้นแล้วปิดทางเข้าออกของทะเลสาบสงขลา แต่ส่วนใหญ่ไม่มีการพูดถึงและแก้ไข
เช่นเดียวกับความเห็นจองนายสุรศักดิ์ เสาวพันธุ์ ผู้ใหญ่บ้าน ม.4 ต.ทำนบ ที่ชี้ว่าชาวบ้านเห็นด้วยแผนแม่บทโครงการขุดลอกอยู่แล้ว แต่พบปัญหาว่าท่าเรือมีการสร้างและมีเขื่อนกันคลื่นเกิดขึ้นไปแล้ว เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ทะเลสาบเกิดการตื้นเขิน แต่เอกสารกลับชี้ว่าไซนั่งกีดขวางทางน้ำ โดยไม่เคยกล่าวถึงท่าเรือและเขื่อนเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่ชาวบ้านเจ็บช้ำมานานแล้วและไม่มีใครพูดถึงเพราะมีผลประโยชน์มาก
ส่วนนายธนา ไชยานุวงศ์ นายก อบต.ปากรอ กล่าวว่า ชาวบ้านปากรอหวังว่าการขุดลอกจะทำให้มีพื้นที่ทะเลสาบมากขึ้นเพื่อทำประโยชน์ในอาชีพ แต่ไม่เน้นให้ขยายป่าชายเลน เพราะบ้านชุมชนอยู่ติดทะเลอยู่แล้ว และนำดินมาถมใต้ถุนบ้าน ขณะที่นายสนั่น บัวงาม ม.5 ต.ปากรอ, นายกลิ่น ทองมี ชาวบ้าน ม.4 ต.ป่าขาด เห็นด้วยว่าควรจะมีการขุดลอกทะเลสาบสงขลาอย่างจริงจังเสียที เพราะที่ผ่านมามีการศึกษามาแล้วหลายครั้งแต่เรื่องเงียบหายไป ทำให้ชาวบ้านรอเก้อและเสียเวลาร่วมประชุมมาหลายปีแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในประเด็นระยะในการขุดลอกว่าจะห่างจากฝั่งเท่าไหร่ และควรจะนำขี้เลน หรือดินที่มาจากการขุดลอกนั้นใช้ประโยชน์อย่างไรนั้น ในที่ประชุมยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เพราะสภาพพื้นที่ริมทะเลสาบนั้นต่างกัน กล่าวคือ บางหมู่บ้านมีป่าชายเลนก็ต้องการให้ถมป่าชายเลนเพื่อเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ และเพิ่มพื้นที่ป่าให้ขยายมากขึ้น แต่บางหมู่บ้านที่มีบ้านเรือนติดริมทะเลสาบอยากให้นำดินขึ้นมาถมใต้ถุนบ้านแทน หรือบางคนเสนอให้นำไปกองไว้ในที่ดินสาธารณะ เป็นต้น
ดร.ปริญญา นุตาลัย ผู้จัดการโครงการ กล่าวสรุปเวทีเสวนานี้ว่า ด้วยความหลากหลายของพื้นที่มีมากทำให้ความต้องการชาวบ้านมีไม่เหมือนกัน คณะทำงานจึงจะลงพื้นที่ทุกตำบลทั้ง 17 หมู่บ้านรอบทะเลสาบ และแก้ปัญหาทันทีในประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้อง คือ อวนรุนที่ส่งผลกระทบต่อพันธุ์สัตว์น้ำ โดยจะขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดลงมาจัดการทันที
เช่นเดียวกับการเปิดเขื่อนที่ปากน้ำทะเลสาบ เพราะเกิดขึ้นโดยไม่มีการรับฟังความคิดเห็นชาวบ้านและมีผลกระทบมาอย่างต่อเนื่อง ต้องมาดูว่าแก้ไขอย่างไร แม้ว่าการสั่งรื้อจะทำไม่ได้เพราะใช้งบไปเป็นพันล้านแล้ว และนำเรื่องนี้เสนอในอีกเวทีของกรมเจ้าท่าให้รับรู้ว่าชาวบ้านประสบปัญหาอย่างไร
ส่วนการขุดลอกที่ไหน ห่างจากฝั่งเท่าไหร่ชี้ชัดไม่ได้ เพราะบางที่มีป่าชายแดน มีบ้านเรือน วิธีการทำจึงต้องฟังเสียงแต่ละแห่ง เพื่อให้ได้ประโยชน์ร่วมกันโดยมีผลกระทบเกิดน้อยที่สุด, การทิ้งดินที่ไหน เวทีนี้มีการถามชัดแล้วว่าดินที่ขุดลอกมาได้นั้นเป็นของใคร ถ้ายังไม่ได้ก็ต้องกองในที่สาธารณะประโยชน์ซึ่งมีได้รับข้อมูลว่ามีอยู่หลายแห่ง ทั้งที่เป็นบ่อกุ้ง สวนยาง โรงเรียน แต่ต้องได้รับการยืนยันด้วยว่ามีที่อยู่จริง ไม่มีใครบุกรุก และใช้ประโยชน์จริง ซึ่งต้องขอเอกสารยืนยันจากเจ้าของหน่วยงานที่ดูแลด้วย เพราะหากไม่มีการตรวจสอบและยืนยันแล้วหากพบว่าไม่มีที่ทิ้งดินอย่างเพียงพอจะมีปัญหาภายหลังอีก
“ประเด็นการชดเชยนั้นซึ่งรัฐบาลสมัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ มีมติ ครม.ยกเลิกนั้น จะต้องติดตามเอยกเลิกมติ ครม.ดังกล่าวคืน เพื่อให้ชาวบ้านที่เสียพื้นที่และโอกาสทำกินได้รับการเยียวยา แต่คงต้องให้หน่วยงานระดับกระทรวงเข้ามาดูแล การทำงานโครงการนี้จึงมีขั้นตอนจำนวนมากที่ต้องเร่งทำ และขอให้ชาวบ้านใจเย็นๆ เพราะเราจะพยายามอย่างเต็มที่ที่จะผลักดันให้งานเดินไปได้” ผู้จัดการโครงการกล่าวทิ้งท้าย