xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

1,515 ล้าน ขุดลอกคูคลอง ระวังซ้ำรอย “ถุงยังชีพ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กิตติศักดิ์ หัตถสงเคราะห์
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เชื่อว่า “กรมเจ้าท่า” หรือชื่อเดิม“กรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี” สังกัดกระทรวงคมนาคม ที่มีหน้าที่ดูแลพื้นน้ำและการเดินทางทางน้ำ เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ควรจะต้องรับผิดชอบ ในฐานะเกี่ยวข้องกับปัญหาอุทกภัยในประเทศขนาดนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ต่างจาก กทม. ศปภ. หรือกรมชลประทาน ที่ถูกชาวบ้านร้านตลาดกร่นด่ากันอยู่ในขณะนี้

เมื่อเร็วๆนี้ในการประชุมคณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยด้านโครงสร้างพื้นฐาน (กคฐ.) ที่มี “พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต” รมว.คมนาคม เป็นประธาน ได้อนุมัติงบประมาณให้ “กรมเจ้าท่า” เพื่อดำเนินการขุดลอกและบำรุงร่องน้ำในพื้นที่ต่างๆ วงเงิน 1,515 ล้านบาท

จากงบประมาณ สัดส่วนกระทรวงคมนาคม 4,444 ล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินเฉพาะ “โครงสร้างพื้นฐาน” ที่ครม.อนุมัติไปเมื่อเร็วๆนี้ โดยรวม 12,983 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้“กรมเจ้าท่า” ที่มี“กิตติศักดิ์ หัตถสงเคราะห์” รมช.คมนาคม กำกับดูแล มี “วัน อยู่บำรุง”เป็นเลขานุการรัฐมนตรี ตั้งเป้า จะขุดลอกคูคลองทั่วประเทศเสร็จใน 3 ปี

เมื่อเข้ารับตำแหน่ง เขาชูนโยบายแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในระยะยาว ตามแผน 3 ปี (2555-2557) โดยเสนอจะขุดลอกแม่น้ำสายหลัก สายรองและคูคลองทั่วประเทศ ระยะทางประมาณ 14,000 กิโลเมตร วงเงิน 14,000 ล้านบาท

เฉพาะปี 2555 “กรมเจ้าท่า”ยื่นของบประมาณ4,800 ล้านบาท

ล่าสุดได้งบประมาณเฉพาะฟื้นฟูน้ำท่วมจาก กคฐ. มา 1,515 ล้านบาท เพื่อขุดลอกและบำรุงร่องน้ำโดยเฉพาะ

รมช.ผู้นี้ยังเคย เสนอแนวคิดโครงการขุดแก้มลิงใต้ดิน อ้างว่าเป็นแนวคิดที่มีต้นแบบมาจากอังกฤษ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และออสเตรีย โดยนำโพรงหินธรรมชาติใต้ดินที่อยู่ลึกลงไปจากพื้นดินประมาณ 200 เมตร มาเป็นแก้มลิงในการกักเก็บน้ำ ฤดูแล้งสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ คาดว่าใช้เงินลงทุนต่อจุดประมาณ 700 ล้านบาท

แถมกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มี “ปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข”เป็นเจ้ากระทรวงก็เห็นด้วย

อย่างไรก็ตามมีการตั้งข้อสังเกต ที่“อธิบดีกรมเจ้าท่า”คนปัจจุบัน เคยบอกว่า จะต้องใช้งบประมาณสำหรับจ้างเหมา “ขุดลอก”ประมาณ 300 ล้านบาท/ปี ซึ่งสามารถขุดลอกได้เพียง 8 ล้านล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น

ถามว่า งบประมาณสำหรับจ้างเหมา เหตุใดจึงไม่ให้ องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) พื้นที่น้ำท่วม เป็นผู้ดำเนินการ อย่างแม่น้ำลำคลองใด ที่ผ่านอบต.ใด ก็ควรให้อบต.นั้นดำเนินการ โดยอาจให้ “กรมเจ้าท่า” หรือกรมที่เกี่ยวข้อง เป็นที่ปรึกษาควบคุมคุณภาพและให้เสร็จในปีเดียว หรือก่อนที่น้ำอาจจะท่วมอีกในปีหน้า

หรือเป็นการดำเนินการตามแนวคิด “NEW THAILAND”ของรัฐบาลด้วยหรือไม่ ที่รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงจะต้องมีผลงานเสนอนายใหญ่ หรือนายกรัฐมนตรีในช่วงที่ตัวเองได้กำกับดูแล เกรงว่าจะถูกร่างแหปรับครม.เหตุไม่มีผลงาน

อดคิดไม่ได้ว่า ในอนาคต“การขุดลอกคูคลอง”จะไม่ซ้ำซากกับปัญหา“ถุงยังชีพ”ในปัจจุบัน
กำลังโหลดความคิดเห็น