พิจิตร - รมช.คมนาคม ควง ส.ส.เพื่อไทยเมืองชาละวัน ล่องเรือดูน้ำท่วม ก่อนเห็นพ้องต้องกันดันแผนขุดน้ำยม-ทำฝายทดน้ำ-ลอกบึงสีไฟ เล็งเปิดเวทีทำประชาคมก่อนดัน “ยิ่งลักษณ์” ตัดสินใจ บอก “เสือไม่ยอมเต้น” ทำชาวบ้านเดือดร้อนหนัก ด้านผู้ว่าฯ เผยคนพิจิตรตกน้ำตายแล้ว 23 - พระ 110 วัดบิณฑบาตไม่ได้-84 โรงเรียนต้องปิดยาว แถมน้ำจะท่วมยาวอีก 30-40 วันแน่
รายงานข่าวจากจังหวัดพิจิตร แจ้งว่า ตลอดช่วงบ่ายจนถึงเย็นของวานนี้ (12 ก.ย.) นายกิติติศักดิ์ หัตถสงเคราะห์ รมช.คมนาคม พร้อมด้วย น.ส.สุณีย์ เหลืองวิจิตร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ได้ร่วมกันลงเรือท้องแบนตรวจดูสภาพน้ำท่วมในเขตลุ่มน้ำยมของ อ.สามง่าม พิจิตร โดยพบว่า น้ำยังท่วมขังและมีแนวโน้มสูงขึ้น และขณะนี้น้ำได้ท่วมบ้านเรือนราษฎรที่อยู่ริมแม่น้ำยมไปแล้ว 5 อำเภอและพบนาข้าวเสียหายมากกว่า 1.5 แสนไร่
นายกิตติศักดิ์ได้ให้สัมภาษณ์ว่า แนวทางแก้ไขคือจะต้องวางแผนขุดลอกแม่น้ำยมและเสริมแนวคันตลิ่ง โดยจะให้กรมเจ้าท่าเป็นผู้ดำเนินการ นอกจากนี้ยังพบว่าพิจิตรมีแหล่งน้ำสาธารณะขนาดตั้งแต่ 10 ไร่ขึ้นไป รวมถึงบึงสีไฟขนาด 5,300 ไร่ อยู่ในสภาพตื้นเขิน
ดังนั้น ถ้าได้ขุดลอกก็กลายเป็นแก้มลิงเก็บน้ำได้อย่างมากมายมหาศาล ยามหน้าน้ำก็เป็นพื้นที่รับน้ำ ยามหน้าแล้งก็จะเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่จะสามารถดึงน้ำไปใช้ทำการเกษตรได้
โดยสรุปการแก้ปัญหาน้ำท่วมในลุ่มน้ำยมของพิจิตรจะทำ 3 วิธี คือ ขุดลอกแม่น้ำยมทำประตูทดน้ำในแม่น้ำยมเป็นระยะๆ และขุดลอกบึงสีไฟที่เป็นแหล่งน้ำใหญ่อันดับ 3 ของประเทศให้กับมามีชีวิตอีกครั้งหลังจากที่ปล่อยให้ตื้นเขินมานาน
ด้าน น.ส.สุณีย์ได้เปิดเผยว่า ชาวพิจิตรขณะนี้เดือดร้อนมาก จะรอให้สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เสือก็ไม่เต้นสักที พอเสือจะเต้นก็มีคนออกมาคัดค้าน ดังนั้นต้องใช้โมเดลชาละวันเต้น คือ พัฒนาศักยภาพแหล่งน้ำที่มีอยู่ในหลายพื้นที่โดยเฉพาะห้วยหนองคลองบึงที่มีทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่
ทั้งนี้ หากนำพื้นที่มากางรวมๆ กันก็จะคิดเป็นพื้นที่กักเก็บน้ำได้มากกว่า 15,000 ไร่ นี่ยังไม่รวมแม่น้ำพิจิตรเก่า ที่มีระยะทาง 127 กม. ที่หัวอยู่ทางทิศตะวันออกจดแม่น้ำน่านบ้านดงเศรษฐี ต.ย่านยาว อ.เมือง จ.พิจิตร ด้านทิศตะวันตกจดหน้าวัดบางคลาน อ.โพทะเล เชื่อมต่อกับแม่น้ำยม ซึ่งสามารถผ่องถ่ายแม่น้ำน่าน แม่น้ำพิจิตรเก่า แม่น้ำยม และคลองชลประทาน เชื่อมต่อได้หลายสาย รวมถึงเชื่อมเข้ากับคลองสวนแตง ต.ฆะมัง อ.เมืองพิจิตร ที่เชื่อมเข้าต่อกับบึงสีไฟกับแม่น้ำน่านได้อีกด้วย
“แต่ที่ผ่านมาขาดการบูรณาการแผนงาน ซึ่งเมื่อเกิดวิกฤตอย่างนี้จึงเป็นโอกาสที่ทุกฝ่ายจะต้องมาช่วยกันคิดมาช่วยกันทำ”
ส่วนข้ออ้างที่ว่าติดขัดเรื่องข้อกฎหมายหรือระเบียบทั้ง EIA, HIA รวมถึงการขึ้นทะเบียนแรมซ่า หรือพื้นที่ชุ่มน้ำนานาชาตินั้น น.ส.สุณีย์บอกว่า ทุกอย่างร่างโดยมนุษย์ ก็สามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขด้วยมือมนุษย์ได้ แต่ต้องขึ้นอยู่ว่าสังคมและชาวพิจิตรต้องได้ประโยชน์ ซึ่งเร็ววันนี้อาจจะต้องมีการเปิดเวทีประชาคมใหญ่เพื่อทำประชาพิจารณ์ ว่าชาวพิจิตรจะเอาบึงสีไฟไว้ในสภาพโทรมๆเช่นนี้ หรือ ต้องการให้ปรับปรุงแต่งขุดลอกบึงสีไฟให้มีสภาพเป็นที่เก็บน้ำ มีปลา มีบัว มีบึง มีนก มีธรรมชาติ
ทั้งนี้ หากประชาชนลงมติเช่นไรก็จะจัดทำแผนเดินหน้าส่งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พิจารณาตัดสินใจอนุมัติงบประมาณแล้วเดินหน้าทันที
ด้าน รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ที่ลงพื้นที่มาจังหวัดพิจิตรร่วมคณะด้วยนั้นก็ได้เปิดเผยว่า หลังน้ำลดแล้วจะลงพื้นที่ทำการสำรวจความเป็นไปได้ในการทำ 3 โปรเจกต์ คือ ขุดลอกแม่น้ำยม ทำประตูทดน้ำในแม่น้ำยมเป็นระยะๆและขุดลอกบึงสีไฟ ซึ่งมั่นใจว่าถ้ามีงบประมาณทุกอย่างทำได้แน่นอน และถ้าทำสำเร็จปัญหาน้ำท่วมหนักในลุ่มน้ำยมของพิจิตรก็จะเบาบางลง จะแก้ปัญหาได้ทั้งหน้าน้ำท่วมและฤดูแล้ง
ในโอกาสนี้ คณะรมช.คมนาคม ยังได้นำถุงยังชีพจำนวน 3,000 ชุด แจกจ่ายให้แก่ชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วม ณ ที่ว่าการอำเภอสามง่าม นอกจากนี้ยังล่องเรือท้องแบนนำสิ่งของไปแจกจ่ายให้กับชาวบ้านที่เป็นผู้สูงอายุและออกมารับสิ่งของไม่ได้ เพราะน้ำท่วมบ้านสูงมีสภาพเหมือนติดเกาะมานานกว่า 1 เดือนแล้วด้วย
ขณะที่ นายสุวิทย์ วัชโรทยางกูร ผู้ว่าฯ พิจิตร กล่าวว่า ผลจากน้ำท่วมชาวพิจิตรเป็นโรคน้ำกัดเท้าแล้วมากกว่า 8 พันราย และตกน้ำตายไปแล้ว 23 ราย พระสงฆ์จาก 110 วัด ไม่สามารถออกรับบิณฑบาตได้ โรงเรียนถูกสั่งปิดไปแล้ว 84 โรง ถนนทางหลวงชนบทถูกน้ำพัดกัดเซาะตัดขาด 6 เส้นทาง นาข้าวล่มเกือบ 2 แสนไร่ สร้างความเดือดร้อนให้แก่ราษฎรอย่างมาก และคาดว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นนี้ไปอีกอย่างน้อย 30-40 วัน