จากบทเรียนเรื่องน้ำท่วมที่ผ่านมา ก็เป็นเหตุให้หลายๆ หน่วยงานเริ่มจะคิดปรับปรุงทางระบายน้ำเสียใหม่ ซึ่งวิธีขุดลอกคูคลอง ก็ถือเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ถูกพูดถึงมากที่สุด
สังเกตได้จากตัวเลขที่รัฐบาลอนุมัติสำหรับภารกิจนี้สูงมาก เช่นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีคลองหลักอยู่ 29 คลองนั้น ได้รับจัดสรรงบประมาณอยู่ที่ 67.8 ล้านบาท ส่วนในคูคลองขนาดเล็กอีก 347 สาย ใช้งบประมาณอีก 770 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) โดยมีกองทัพบกเป็นผู้รับผิดชอบ
ขณะที่การขุดลอกในแม่น้ำทั่วประเทศระยะทาง 14,400 กิโลเมตรนั้น รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณให้กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม จำนวน 1,215 ล้านบาท โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 และจะต้องแล้วเสร็จภายใน 180 วัน โดยกรมฯ จะดำเนินขุดใน 3 แม่น้ำหลักก่อน คือ แม่น้ำท่าจีน เจ้าพระยา และบางปะกง โดยงบประมาณที่ได้สำหรับแม่น้ำหลัก 2 สายแรกนั้น น่าจะอยู่ที่ประมาณ 277 ล้านบาท
คำถามก็คือ ถ้าเงินเกือบ 2,000 ล้านบาทที่ลงไปนั้นป้องกันน้ำไม่ให้ท่วมได้จริงๆ หรือ ซึ่งถ้ามองเผินๆ ก็คงต้องบอกว่าคุ้มค่าแน่นอน โดยเฉพาะเมื่อต้องมาแลกกับความเสียหายในปีที่ผ่านมาซึ่งสูงถึง 200,000 ล้านบาท
อุปทานความเชื่อ
เอาง่ายๆ ถ้าคิดตามสามัญสำนึก การที่มีแม่น้ำหรือคลองโล่งๆ ไม่มีสิ่งกีดขวางย่อมดีกว่า ซึ่งเรื่องเหล่านี้ได้เข้าไปอยู่ในความคิดของผู้คนไม่น้อย โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ
ตัวอย่างเช่น คณิต ผลเพิ่มศีลกุล เซลล์แมนซึ่งบ้านติดคลองสมเด็จเจ้าพระยาก็บอกว่า การขุดลอกคูคลองน่าจะเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ เพราะมันจะเป็นช่องทางให้น้ำผ่านไปได้ แถมเมื่อย้อนไปดูความใสสะอาดของแม่น้ำแล้ว ก็บอกได้เลยว่าไม่กล้าลงน้ำจริงๆ เพราะขยะเต็มไปหมด
"ตั้งแต่เด็กมา ผมเห็นมีคนมาขุดลอกน้อยมาก ซึ่งยิ่งนานวัน ตะกอนดินก็ยิ่งสูงขึ้น ทำให้คลองตื้นเขิน แต่ยังดี ช่วงน้ำท่วม ไม่เป็นอะไรเพราะกรุงเทพฯ มาเขื่อนมากั้น แต่ถึงไม่ท่วมเขาก็ไม่ปล่อยน้ำออกจากคลองเลย สุดท้ายมันก็เลยเน่า ยิ่งมาบวกกับตะกอนที่เยอะอยู่แล้ว ก็เลยยิ่งสกปรกเข้าไปใหญ่ เพราะฉะนั้น หากมีขุดลอกกันจริง ผมคิดว่า มันน่าจะช่วยได้ และถ้าเป็นได้อยากให้ขุดให้ลึกหน่อย น้ำจะได้ระบายออกไปเร็วๆ"
เปิดขั้นตอนแบบชัดๆ
แต่สิ่งเหล่านี้อาจจะไม่ชัดเจน เท่ากับการมาดูข้อมูลจริง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายต่างก็ยืนยันว่า วิธีนี้น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ง่ายๆ สุด ในการป้องกันอุทกภัย แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะไม่ค่อยเข้ามาทำบ่อยๆ ก็ตาม
“จริงๆ แล้วมันต้องมีคิว มีการจัดตารางในการทำให้สม่ำเสมอกว่านี้ อย่างคลองหลักของ กทม. ต้องมีทำอย่างมีระบบและก็ทำเป็นประจำ ส่วนคลองซอยก็อาจทำปีเว้นปี หรือสองปีก็ได้ มันต้องเริ่มจัดตาราง ไม่งั้นพอมาหรือจะท่วม มันขุดไม่ทัน ซึ่งตามหลักมันต้องมาขุดลอกกันตอนหน้าแล้ง เร่งให้มันแมตชิ่งตามเวลา คือถ้าเรือไม่พอจากเดิมใช้ 2 ลำ ก็จะต้องเพิ่มอีกลำหนึ่ง และแทนที่จะขุดเฉพาะกลางวันก็ต้องขุดกลางคืนไปด้วย”
รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการขุดลอกคูคลองที่หลายภาคส่วนกำลังให้ความสำคัญอยู่ในตอนนี้ ส่วนในการดำเนินงานนั้น มันก็ต้องแยกย่อยลงไปว่าจะเป็นการลอกคลองเล็กๆ หรือลอกแม่น้ำ
“ถ้าพูดถึงการขุดลอกคูคลองเล็กๆ นี่มันมี 2 แบบ แบบแรกจะขุดจากพื้นดินลงไปในคลอง ถ้าพื้นที่ด้านข้างมี เราก็เอาเครื่องจักรไปจอดบนฝั่ง อาจจะเป็นแบ็กโฮตัก แล้วก็จะมีรถมาขนพวกโคลนเลนออกไป ส่วนอีกแบบหนึ่ง ถ้าพื้นที่ด้านข้างไม่มี เขาก็จะทำทุ่นลอยน้ำ แล้วก็เอารถแบ็กโฮลงไปตั้งในทุ่น จากนั้นก็ใช้เรือลากไป”
ส่วนการขุดลอกแม่น้ำนั้นก็จะมีทั้งการใช้รถซึ่งไม่สามารถขุดได้ลึกมากนัก กับการใช้เรือขุดซึ่งสามารถขุดลอกและดูดตะกอนได้ในระดับที่ลึกกว่า
“เดิมทีในการลอกแม่น้ำนั้นมีอยู่ 2 วัตถุประสงค์ คือทำไว้ให้เรือท้องลึกผ่านได้ และเรื่องของการระบายน้ำด้วยซึ่งปกติถ้าจะให้เรือขนาด 5 ตัน เข้ามาได้ก็ต้องขุดลุกสัก 8 เมตร โดยการทำงานของเรือขุดก็จะเป็นเรือลำใหญ่แล้วก็จะมีท่อยื่นลงไป 2 ท่อ อันนึงก็จะเอาน้ำฉีดให้โคลนตะกอนฟุ้งขึ้นมา ท่ออีกอันก็ใช้ดูดตะกอนเหล่านั้นขึ้นมาอยู่ในเรือ พอดูดมามันก็จะมาอยู่ในยุ้ง พอตกตะกอน น้ำที่เป็นน้ำใสก็จะล้นออกไป ซึ่งในต่างประเทศเขาเอาระบบดูดนี้มาใช้ร่วมกับรถแบ็กโฮ ในการลอกคลองขนาดเล็กด้วย”
ซึ่งเรือที่ใช้ขุดลอกคูคลองเหล่านี้จริงๆ แล้วสามารถผลิตขึ้นเองในไทยได้ แต่ส่วนใหญ่นิยมใช้กับแม่น้ำมากกว่า เพราะส่วนใหญ่ คูคลองที่ต้องการขุดมักจะมีหน้าตัดที่เล็กเกินว่าเรือขุดลอกจะเข้าไปถึง และในบ้านเราก็ยังไม่มีการนำเอาระบบดูดตะกอนมาใช้ร่วมกับแบ็กโฮ เพราะความสกปรกของคลองบ้านเรานั้นเหลือรับนั่นเอง
“ในต่างประเทศ เขาก็มีการการขุดลอกคูคลองเหมือนกับเรา ถ้าเป็นคลองขนาดใหญ่หน่อยก็จะมีเรือขุดประจำ แต่ถ้าคลองขนาดเล็กก็ใช้มีแบ็คโฮล แต่ว่าเขาก็จะมีเครื่องขนาดเล็กที่ใช้ฉีดและดูดเหมือนกับที่เราใช้ในแม่น้ำแต่มันไม่ค่อยเหมาะกับสภาพคลองไทย เพราะว่าขยะในคลองบ้านเราเป็นขยะหนัก บางทีจะมีฟูกอยู่ข้างล่างเลย ไม่ใช่แค่โคลน บางทีเราไปขุด ไม่เจอดิน แต่เจอเก้าอี้ เตียง ของพวกนี้จะมาหมด แล้วที่ผ่านมาเราไม่มีระบบที่แน่นอน แต่จะดูตามความจำเป็น ทว่าจากนี้ไปต้องมีแผนประจำแล้วว่า 2 ปี 3 ปี ต้องกลับมาคลองนี้ที ที่ผ่านมาเราไม่มี แล้วแต่ว่างบประมาณ ถ้ามีเราก็ไปทำ”
ลอกอย่างเดียวยังไม่พอ
นอกจากการขุดลอกคูคลองแม่น้ำแล้ว การปรับปรุงและต่อยอดระบบระบายน้ำ ด้วยกระบวนการอย่างอื่น ไม่ว่าจะเป็นการสูบน้ำ การซ่อมบำรุง และการจัดหาอุปกรณ์ใหม่ๆ ก็ถือว่าสำคัญและจำเป็นไม่เป็นกัน
“ตอนนี้ทาง กทม.มีปัญหาอยู่ 3 เรื่องคือ ที่ปลายคลองก็มีปัญหาเครื่องสูบไม่พอหรือเสีย ซึ่งต้องเร่งซ่อมแซมและจัดหาเพิ่ม อย่างที่ 2 คลองหลายคลองนั้นไม่มีหน้าตัดใหญ่พอที่จะขุดลอก และสุดท้ายเราพบว่าบางทีมีการสูบน้ำไปแล้ว แต่น้ำยังไปไม่ถึงปลายทางเลย เหตุเพราะบางคลองมันไม่มีองศาลาดเทเลย ต้องพึ่งแต่การสูบน้ำซึ่งถ้ามันไกลมากๆ ก็สูบไม่ทัน ในกรณีนี้ก็ต้องเอาเครื่องดันน้ำไปช่วยให้น้ำไหลไปได้แรงๆ กว่าเดิมซึ่งลักษณะของมันก็จะคล้ายๆ กับสกีน้ำ มันใช้เป่าเพื่อให้น้ำวิ่งเร็วขึ้น เราหวังให้มันไหลไปตามที่มันควรจะเป็น"
ซึ่งกรณีนี้ รศ.ดร.สุจริตยกตัวอย่างในปีที่แล้วให้ฟังว่า ถึงแม้จะมีทางให้น้ำไหลอยู่ก็ตาม แต่มันก็ไหลได่ไม่เร็วและแรง ทำให้น้ำจำนวนมากที่หนุนลงมาต้องทั่วมขัง แต่ถ้ามีการแก้ปัญหาด้วยการจัดหาเครื่องสูบน้ำมาเพิ่ม หรือการคิดเครื่องดันน้ำแล้ว การระบายน้ำก็น่าจะทำได้ดีขึ้นกว่าเดิมมาก
“นอกจากนั้น ในปีนี้ก็มีการไปขุดที่ปากแม่น้ำเพิ่มขึ้น โดยที่ปากแม่น้ำก็จะให้กรมเจ้าท่าเป็นคนดูแล ในกรุงเทพฯ ก็แก้ปัญหาทางไหลของน้ำไป ซึ่งตอนนี้ก็ได้ทหารมาช่วยดูแลตรงนี้อย่างเต็มที่ ส่วนกรมชลประทาน เขาก็ดูแลเฉพาะในส่วนคลองที่เขารับผิดชอบ ก็เป็นการแบ่งหน้าที่กันไป"
...........
แม้การขุดลอกคูคลองจะยังไม่ได้เป็นเครื่องรับประกัน 100 เปอร์เซ็นต์ว่าจะสามารถป้องกันและลดความรุนแรงของอุทกภัยในปีต่อมา (ซึ่งจะเกิดแน่นอน) ได้หรือไม่ แต่นี่ก็ถือเป็นทางออกที่สำคัญและเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด ง่ายที่สุดในสถานการณ์เช่นนี้ เพราะนอกจากมันจะช่วยในเรื่องที่หลายคนห่วงกันแล้ว
อีกมุมหนึ่ง นี่ยังถือเป็นโอกาสสำคัญที่สังคมไทยจะได้กลับไปจัดการกับคุณภาพของทรัพยากรธรรมชาติอย่าง แม่น้ำลำคลอง หลังจากที่ทิ้งไปนานแสนนาน และคงไม่ได้เหลียวมองแน่ๆ ถ้าไม่เกิดวิกฤตการณ์ขึ้นมา
********
เรื่อง ทีมข่าว CLICK
เอื้อเฟื้อภาพประกอบโดย กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์