“ปู” สั่งปรับทัวร์ลุ่มน้ำ 9 จว. หาความชัดเจนลุ่มน้ำยมในพิษณุโลก-หาพื้นที่รองรับน้ำในอยุธยา พร้อมสั่ง”กิตติรัตน์”กำหนดหลักเกณฑ์การเยียวยา ถกภาคเอกชนหาแนวทางร่วม พร้อมยก ครม.พักค้างคืน 4 จว. “พิษณุโลก-นครสวรรค์-พระนครศรีอยุธยา-ลพบุรี”
วันที่ 31 ม.ค. แหล่งข่าวทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า การเดินทางทัวร์ลุ่มน้ำ 9 จังหวัดของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาน้ำ อาทิ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาคาทรรพ รัฐมนตรีว่ากระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, นายนิวัติธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, เลขาฯ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน, ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ, นายวิเชียร ชวลิต เลขาฯ กยน., เลขาธิการนายกรัฐมนตรี, เลขาธิการคณะรัฐมนตรี, อธิบดีกรมชลประทาน, อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ, อธิบดีกรมทางหลวงชนบท, อธิบดีกรมเจ้าท่า และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กยน. โดยทั้งหมดพักค้างคืน 4 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดพิษณุโลก นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา และลพบุรี
สำหรับกำหนดการลงพื้นที่ของนายกฯ และ ครม.เสร็จแล้ว 90 เปอร์เซ็นต์ โดยนายกฯให้มีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดในส่วนของจังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพราะนายกฯ เห็นความสำคัญในการจัดการลุ่มน้ำตอนบน และลุ่มน้ำตอนล่าง ซึ่งจังหวัดพิษณุโลก จะอยู่ในส่วนของลุ่มน้ำยม โดยนายกฯ ให้กระทรวงมหาดไทยไปดูเรื่องของงบประมาณ เพราะยังไม่มีความชัดเจนว่างบประมาณจะลงไปจุดไหนบ้าง พร้อมทั้งให้ กยน.ลงไปทำแผนงานก่อนนายกฯลงพื้นที่ ส่วนพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายกฯ ได้เน้นให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการท่องเที่ยว และนิคมอุตสาหกรรม พร้อมทั้งหาพื้นที่รับน้ำ 2 ล้านไร่ทั่วประเทศ ตามที่ กยน.เสนอ โดยนายกฯ ให้ไปดูว่าจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจะใช้พื้นที่ไหนรองรับน้ำ นอกจากนี้นายกฯยังขอให้นายกิตติรัตน์หารือร่วมกับภาคเอกชน เพื่อหาแนวทางร่วมกัน โดยเบื้องต้นรัฐบาลวางแนวทางในการหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ในการสร้างคันกั้นน้ำให้กับตัวเอง ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดต้องเสร็จเรียบร้อยภายในศุกร์นี้
ส่วนความขัดแย้งที่เกิดขึ้นใน กยน.นั้น ผู้ใหญ่ในรัฐบาลมองว่า เป็นเกมการเมืองที่ผู้ออกมาให้ข่าวต้องการเรียกความสำคัญให้กับตัวเอง และตัว กยน.เองทำหน้าที่ในวางแผนเท่านั้น และหมดวาระไปโดยปริยาย หลังจากมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาอีกชุดเพื่อบริหารจัดการเรื่องน้ำโดยเฉพาะ เชื่อว่ากรรมการที่ออกมาพูดก็เพื่อต้องการเข้าไปเป็นคณะทำงานในชุดที่จะตั้งขึ้นหลังจากนี้