วุฒิสภาวางคิวชำแหละร่าง พ.ร.บ.งบฯ 23 ม.ค.นี้ ส.ว.จองคิวอภิปรายเพียบ 86 คน ก่อนลงมติ 24 ม.ค. เผย กมธ.ตั้งข้อสังเกต งบขาดดุล 4 แสนล้าน ต้องกู้โปะ เพิ่มหนี้ แม้ไม่เกินเพดานร้อยละ 60 ของจีดีพี แต่รัฐบาลควรระมัดระวัง และมีมาตรการติดตามการใช้เงินอย่างใกล้ชิด
วันนี้ (21 ม.ค.) นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 เปิเผยว่า ในวันที่ 23 และ วันที่ 24 ม.ค. พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา มีคำสั่งนัดประชุมวุฒิสภา เพื่อพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 จำนวน 2.3 ล้านล้านบาทซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 168 วรรคสาม ที่ระบุให้วุฒิสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบภายใน 20 วัน และในการประชุมดังกล่าวจะได้พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ ที่ได้ศึกษาควบคู่กับการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว
“สำหรับเวลาอภิปราย ได้กำหนดให้เริ่มตั้งแต่เวลา 10.00-22.00 น. แต่หากไม่แล้วเสร็จจะขยายเวลาไปจนถึงเที่ยงคืน โดยขณะนี้มีผู้แจ้งความประสงค์ของอภิปรายแล้ว 86 คน โดยจะให้เวลาอภิปรายคนละ 15 นาที และในวันที่ 24 ม.ค.นั้นจะมีการลงมติในร่าง พ.ร.บ.งบฯ” นายนิคม กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อสังเกตของ กมธ.วิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 2555 สรุปสาระสำคัญในภาพรวมว่างบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 จำนวน 2.38 ล้านล้านบาทนั้น เป็นงบประมาณที่รัฐบาลได้ตั้งเป็นงบขาดดุลไว้ 400,000 ล้านบาท ทำให้ต้องมีการกู้เงินเพื่อมาแก้ไขการขาดดุลของงบประมาณดังกล่าวทำให้ยอดหนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) แม้ว่าจะไม่เกินเพดานที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 60 แต่ทาง กมธ.เห็นว่ารัฐบาลควรเพิ่มความระวังในการกู้เงิน เพราะอาจมีกรณีฉุกเฉินเกิดขึ้นในอนาคต และที่จำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มขึ้น รวมถึงเมื่อกู้เงินในจำนวนที่มากแล้ว รัฐบาลควรมีมาตรการติดตามการใช้เงินอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การใช้เงินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงต้องเร่งวางมาตรการแก้ไขปัญหาอุทกภัย
นอกจากนี้ กมธ.ยังได้ทำข้อสังเกตแยกเป็นรายกระทรวงและหน่วยงาน โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ คือ 1. สำนักนายกรัฐมนตรี ส่วนของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ควรมีนโยบายศึกษาวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนในสังคมไม่เคารพและละเมิดกฎหมาย เพื่อไม่ให้กลายเป็นปัญหาสังคมในอนาคต 2. กระทรวงกลาโหม แผนงบประมาณปี 2555 ตามยุทธศาสตร์ความมั่นคง ที่ตั้งงบฯ ไว้ 241,170 ล้านบาท หรือร้อยละ 97.71 ของงบประมาณที่ได้รับ ควรเน้นงานวิจัยและพัฒนายุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีที่ใช้ในภารกิจป้องกันประเทศแทนการใช้เพื่อสู้รบทางกำลังทหารที่ปัจจุบันมีน้อยลง
3. กระทรวงการคลัง การก่อหนี้หรือการกู้ยืมของภาครัฐต้องมีกรอบในการกู้เงินให้เหมาะสมกับสถานะทางการเงินและการพัฒนาตราสารหนี้ เบื้องต้นสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะควรเร่งพัฒนาตลาดตราสารหนี้ โดยบูรณาการทำงานร่วมกับสถาบันต่างๆ เพื่อให้การพัฒนาตราสารหนี้พัฒนาเป็นกลไกพัฒนาเศรษฐกิจ
4. กระทรวงการต่างประเทศ ควรกำหนดให้สถานทูตต่างๆ มีมาตรการคุ้มครองคนไทยและชุมชนไทยในต่างประเทศให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานไทยที่มีปัญหาทางด้านกฎหมาย ดังนั้นทางสถานทูตต้งอมีมาตรการช่วยเหลือทางกฎหมายที่เป็นรูปธรรม อีกทั้งควรส่งเสริมให้บุคลากรใช้ภาษาของประเทศที่ประจำอยู่ได้ รวมถึงต้องจัดกลุ่มประเทศและจัดส่งทูตไปประจำตามประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่ไทยต้องการเพื่อพัฒนาด้านการทำธุรกิจ
5. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ควรประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว รวมถึงควรปรับปรุงงานป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติ และป้องกันการรีดไถนักท่องเที่ยว
6. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ควรปรับปรุงกลยุทธ์ในการทำงานให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส รวมถึงควรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ด้อยโอกาส คนพิการ รวมถึงให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชนที่พบว่ามีปัญหาเรื่องติดเกม สำหรับประเด็นบ้านเอื้ออาทรนั้น ควรทำบ้านที่ได้มาตรฐานและจัดให้เป็นชุมชน ที่มีสถานรับเลี้ยงเด็ก ตลาด เพื่อส่งเสริมความน่าอยู่
7. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควรกำหนดมาตรการช่วยเหลือเยียวยาชาวนาที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย รวมถึงบูรณาการทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อหาที่ดินทำกินให้กับเกษตรกร ที่พบว่ามีจำนวนไม่น้อยต้องเช่าพื้นที่ในราคาแพงเพื่อทำการเกษตร รวมถึงควรเร่งตั้งสภาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายแก้ปัญหาของภาคเกษตรกรรม
“ด้านการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม กรมชลประทาน ควรร่วมทำแผนป้องกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมพัฒนาที่ดิน กรมทรัพยากรและกรมเจ้าท่า”
8. กระทรวงคมนาคม ควรกำหนดมาตรการป้องกันการทุจริตในการทำโครงการต่างๆ โดยเฉพาะโครงการที่มีงบประมาณสูง นอกจากนั้นต้องกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาเรือขนส่งสินค้าล่มในแม่น้ำ นอกจากนั้นในส่วนของกรมทางหลวงชนบทและกรมทางหลวง ต้องปรับปรุงระบบตรวจสอบการก่อสร้างทางให้มีมาตรฐาน และคำนึงถึงเส้นทางน้ำไหล เพื่อเป็นส่วนหนึ่งเพื่อไม่ให้เกิดมหาอุทกภัยที่สร้างความเสียหายเหมือนอย่างที่ผ่านมา
9. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควรเพิ่มโอกาสการเข้ามามีส่วนร่วมในการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันความขัดแย้ง รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการมลพิษ ต้องมีมาตรการทางกฎหมายที่ชัดเจนและบังคับใช้จริงจัง เพื่อควบคุมขยะ น้ำเสีย จากโรงงานอุตสาหกรรม
10. กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ควรเร่งพัฒนาระบบเตือนภัย และสนับสนุนให้เกิดศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ให้เป็นหน่วยงานหลักในด้านการเตือนภัยพิบัติที่เกิดขึ้น รวมถึงต้องเร่งกระจายความรู้ด้านภัยพิบัติลงไปสู่ชุมชนที่ห่างไกล
11. กระทรวงพลังงาน การควบคุม กำกับกิจการราคาพลังงาน ทั้งไฟฟ้า และเชื้อเพลิง ต้องทำด้วยความรอบคอบ และคำนึงถึงประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก ในส่วนของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงควรทำหน้าที่เพียงรักษาเสถียรภาพราคาเท่านั้น รวมถึงต้องทำราคาเชื้อเพลิงที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เพื่อลดการบิดเบือนตลาด และลดภาระของรัฐบาล โดยราคาก๊าซเอ็นจีวี และแอลพีจี นั้นต้องเป็นราคาที่ไม่ผูกขาด เปิดให้มีการแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นธรรม และที่สำคัญควรส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานทดแทนจากเอทานอล