ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – “สุรพงษ์-พิชัย” ลงพื้นที่เชียงใหม่ นั่งโต๊ะ ดู 5 โครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน ทั้ง “จัดระเบียบสี่ล้อแดง-รถราง-ก่อสร้างถนน” เผยเห็นพ้องทั้งหมดเตรียมชงเรื่องให้ ครม.พิจารณาต่อ เน้นแผนก่อสร้างถนนสนามบิน-แยกรินคำกับแม่ริมสายเลี่ยงเมืองเข้า ครม.สัญจรพรุ่งนี้ ยันรัฐบาลเอาแน่เหตุโครงการทุกอย่างดีแถมหลายตัว ครม.ทักษิณเคยเห็นชอบมาแล้ว
วันนี้ (14 ม.ค. 2555) ที่ห้องประชุมสำนักทางหลวงที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการะทรวงพลังงาน เป็นประธานในการประชุมโครงการเพิ่มประสิทธิระบบขนส่งมวลชนของจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายฤทธิพงศ์ เตชะพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ นายสถิต เลาหเจริญยศ ผู้อำนวยการสำนักทางหลวงที่ 1 นายชาญชัย กีฬาแปง ขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
การประชุมในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของกำหนดการลงพื้นที่ของคณะรัฐมนตรี ในการเดินทางมาประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ที่จังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 15 ม.ค. ซึ่งได้มีการบ่งรัฐมนตรีออกเป็น 4 คณะเพื่อลงพื้นที่รับฟังข้อเสนอเกี่ยวกับการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ในด้านต่างๆ
โดยในที่ประชุมได้มีการนำเสนอโครงการจากหน่วยงานต่างๆ รวม 5 โครงการประกอบด้วย โครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบขนส่งมวลชนเชียงใหม่ เขตเทศบาลนครเชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งได้นำเสนอแผนการจัดระเบียบรถสองแถวสี่ล้อแดง การเพิ่มระบบขนส่งมวลชนใหม่ๆ และการปรับระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ภายใต้เป้าหมายให้มีเส้นทางที่ครอบคลุมทั้งเส้นทางหลักและเส้นทางรอง มีตารางการเดินรถที่แน่นอน และมีค่าโดยสารราคาเหมาะสม โดยเตรียมจะทดลองดำเนินโครงการระยะสั้นเป็นเวลา 2 ปี ใช้งบประมาณ 214 ล้านบาท
โครงการต่อมาได้แก่การพัฒนาระบบรถรางหรือ Tramway ซึ่งองค์กรบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ในฐานะผู้เสนอโครงการได้ทำการศึกษาไว้ใน 4 เส้นทาง และเสนอทำรถรางเส้นทางนำร่องสายสนามกีฬาเชียงใหม่ 700 ปี-ตลาดสันทราย โดยคาดว่าจะใช้เวลาทำการศึกษาประมาณ 18 เดือน และใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างจนแล้วเสร็จประมาณ 30 เดือน ภายใต้งบประมาณราว 800 ล้านบาท
ขณะที่กรมทางหลวง โดยสำนักทางหลวงที่ 1 เชียงใหม่ ได้เสนอโครงการรวม 3 โครงการเพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ประกอบด้วยโครงการเพื่อพัฒนาระบบ Logistic สนับสนุนระบบขนส่งมวลชนของจังหวัดเชียงใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในเขตเมือง มูลค่า 742 ล้านบาท ซึ่งมีโครงการที่สำคัญคือการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 11 ตอนท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่-แยกรินคำ และทางหลวงหมายเลข 121 (แนวใหม่) ตอนสนามกีฬา 700 ปี-อ.แม่ริม (เลี่ยงเมือง อ.แม่ริม)
โครงการแก้ไขปัญหาจราจรในเขตเมืองเพื่อสนับสนุนระบบขนส่งมวลชน มูลค่า 7,000 ล้านบาท ซึ่งมีโครงการที่สำคัญคือการก่อสร้างทางลอดจุดตัดทางหลวงหมายเลข 11 และทางหลวงหมายเลข 1001 บริเวณสามแยกแม่โจ้ แยกโรงพยาบาลเทพปัญญา และโครงการพัฒนาโครงข่าย Logistic Hub เพื่อสนับสนุนกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน มูลค่า 3,475 ล้านบาท ซึ่งมีโครงการที่สำคัญคือการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 1349 อำเภอสะเมิง-อำเภอกัลป์ยานวัฒนา-แม่ฮ่องสอน และการศึกษาความเหมาะสมในการก่อสร้างถนนวงแหวนรอบ 4
ทั้งนี้โครงการก่อสร้างต่างๆ ที่อยู่ในทั้ง 3 โครงการที่สำนักทางหลวงที่ 1 เชียงใหม่เสนอต่อที่ประชุมนั้น เกือบทั้งหมดเป็นโครงการที่เคยผ่านมติคณะรัฐมนตรีในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ ในสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว แต่ไม่มีการดำเนินการเนื่องจากมีข้อติดขัดต่างๆ หรือไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลชุดต่อๆ มา
ในการพิจารณาโครงการต่างที่มีการนำเสนอนั้น ที่ประชุมได้มีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการต่างๆ โดยนายสุรพงษ์และนายพิชัยได้สอบถามรายละเอียดและร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย ซึ่งในส่วนของโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบขนส่งมวลชนเชียงใหม่ เขตเทศบาลนครเชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียง ที่ประชุมเห็นว่าควรได้รับการสนับสนุน เนื่องจากในระยะยาวหากไม่มีการดำเนินใดๆ จะทำให้สภาพการจราจรของเชียงใหม่วิกฤตหนักจนยากจะแก้ไข ประกอบกับโครงการดังกล่าวเป็นโครงการระยะสั้นที่สามารถดำเนินการก่อนได้
ขณะที่นายสุรพงษ์ระบุว่า การดำเนินการจะต้องคิดถึงความเป็นอยู่ของผู้ขับรถสองแถวสี่ล้อแดงซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงการตอบรับของประชาชนในพื้นที่ด้วย เนื่องจากถือเป็นปัจจัยสำคัญว่าโครงการจะประสบความสำเร็จหรือไม่ พร้อมทั้งกล่าวว่าหากโครงการไม่มีความมั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จก็ไม่ควรทำ เพราะจะส่งผลต่อชื่อเสียงของรัฐบาล ส่วนนายพิชัยเสนอว่ากระทรวงพลังงานยินดีจะสนับสนุนให้รถสองแถวสี่ล้อแดงเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์เอ็นจีวี เพื่อช่วยลดต้นทุนในระยะยาว
ด้านโครงการพัฒนาระบบรถรางหรือ Tramway นายสุรพงษ์กล่าวว่าอาจจะเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติเนื่องจากปัญหาเรื่องพื้นที่ถนน หรือหากจะเปลี่ยนเป็นระบบโมโนเรลหรือรถไฟลอยฟ้าก็อาจถูกประชาชนในพื้นที่คัดค้านได้ อย่างไรก็ตามระบบดังกล่าวถือว่าจำเป็นสำหรับการจัดการระบบขนส่งมวลชนในระยะยาว พร้อมกันนี้ยังได้เสนอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพิจารณาถึงการสร้างระบบกระเช้าในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ อย่างเช่นดอยสุเทพหรือดอยอินทนนท์ โดยได้ยกตัวอย่างการทำกระเช้าลอยฟ้าของเทศบาลนครหาดใหญ่ประกอบ
สำหรับโครงการก่อสร้างต่างๆ ที่สำนักทางหลวงที่ 1 เชียงใหม่เสนอนั้น นายสุรพงษ์ได้สั่งการให้นำโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 11 ตอนท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่-แยกรินคำ และทางหลวงหมายเลข 121 (แนวใหม่) ตอนสนามกีฬา 700 ปี-อ.แม่ริม (เลี่ยงเมือง อ.แม่ริม) เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 15 ม.ค. พร้อมทั้งกำชับให้หน่วยงานที่รับผิดชอบระบุในเอกสารและการชี้แจงด้วยว่า โครงการก่อสร้างอื่นๆ ที่นำเสนอนั้นเคยมีมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาแล้วในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ครั้งที่ผ่านๆ มา ทั้งที่จังหวัดพะเยาและลำพูน
นายสุรพงษ์และนายพิชัยกล่าวภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมว่า เห็นพ้องกันว่ารัฐบาลควรให้การสนับสนุนโครงการต่างๆ ที่เสนอเข้ามา อย่างไรก็ตามต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐบาลว่าเรื่องใดควรจะทำก่อนหลัง เนื่องจากหลายโครงการแม้จะมีการเสนอของบประมาณมาแล้ว แต่ในขั้นตอนการปฏิบัติยังต้องใช้เวลา ทั้งจาการขอใช้พื้นที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การออกพระราชบัญญัติเพื่อเวนคืนที่ดิน หรือแม้แต่การศึกษาความเป็นไปได้
อย่างไรก็ตามเชื่อว่าคณะรัฐมนตรีจะเห็นชอบ เพราะโครงการต่างๆ ส่วนใหญ่ เป็นโครงการที่คณะรัฐมนตรีในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณเคยมีมติเห็นชอบแล้ว หรือเป็นนโยบายที่รัฐบาลในอดีตได้คิดเอาไว้ แต่รัฐบาลต่อๆ มาอาจจะไม่เห็นด้วยจึงไม่มีการสานต่อ ซึ่งทำให้จังหวัดเชียงใหม่สูญเสียโอกาสในการพัฒนาไป อย่างไรก็ตามรัฐบาลชุดนี้เห็นว่าโครงการต่างๆ เหล่านี้เป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ จึงพร้อมที่จะให้การสนับสนุนอย่างแน่นอน