ประธาน กยน.แถลงแผนแม่บทบริหารจัดการน้ำ อ้างอุทกภัยเหตุป่าลด ระบบนิเวศโดนทำลาย บริหารน้ำยังไม่มีประสิทธิภาพ ขาดความทันสมัย ยันแผนเร่งฟื้นฟูก่อนฤดูฝน เน้นการเตือนภัย ทำแก้มลิง ยึดแนวพระราชดำริ พร้อมฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน
วันนี้ (20 ม.ค.) ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 10.30 น.นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) เป็นประธานการแถลงข่าวแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล ร่วมกับ นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ประธานคณะอนุกรรมการด้านการวางแผนและกำหนดมาตรการแก้ปัญหาระยะสั้น นายกิจจา ผลภาษี คณะอนุกรรมการวางระบบบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา คณะกรรมการ กยน.ได้ทำงานอย่างเข้มข้น และมีความจำเป็นที่จะเร่งทำงานให้ทันกับเวลา ซึ่งการทำงานบริหารจัดการน้ำอย่างถาวรต้องควบคู่กับการสร้างอนาคตของประเทศ ทั้งเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพราะขณะเดียวกันต้องสร้างความมั่นใจในการป้องกันมหาอุทกภัยที่จะเกิดกับประเทศไทย ซึ่งแผนแม่บทที่ได้วางไว้คือ 1.สาเหตุและความเสียหายจากอุทกภัยในปี 2554 เกิดจากปริมาณฝนที่ตกยาวนานตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ต.ค.54 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย 39% และ 22% ในภาคเหนือ และภาคกลาง ตามลำดับ จากพายุโซนร้อน ไหหม่า นกเต็น ไหถ่าง เนสาด และ นาลแก ติดต่อกันถึง 5 ลูก และที่ผ่านมา ไม่เคยมีปรากฏการณ์แบนี้มาก่อน ส่งผลทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักของภาคเหนือในเดือน ส.ค.54 มากกว่า ส.ค.53 ถึง 9,000 ล้าน ลบ.ม.และส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งก่อให้เกิดอุทกภัยและ ความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินประชาชน จำนวน 4,213,404 ครัวเรือน และมีผู้เสียชีวิต 676 ราย สูญหาย 3 คน
นายกฯ กล่าวอีกว่า สาเหตุของอุทกภัยในครั้งที่ผ่านมา มาจากการที่พื้นที่ป่าไม้ลดลง ระบบนิเวศถูกทำลาย ทำให้น้ำไหลลงมาอย่างรวดเร็ว เพราะไม่มีพื้นที่ป่าไม้ในการช่วยชะลอน้ำ หรือรับน้ำรวมถึงองค์กรที่มีอำนาจบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบยังไม่มีประสิทธิภาพอย่างเพียงพอ การขาดแผนหลักและงบประมาณในการบริหารจัดการน้ำในระยะยาว ตลอดจนระบบข้อมูลทรัพยากรน้ำของประเทศยังไม่มีประสิทธิภาพกฏหมายด้านการจัดการทรัพยากรน้ำไม่ทันสมัย และการขาดความพร้อมในการเผชิญอุทกภัยขนาดใหญ่ เราจึงต้องทำงานในการเตรียมแผน และป้องกันปัญหาในยามเกิดวิกฤตอุทกภัย วันนี้ถึงเวลาแล้วที่เราต้องจัดทำแผนต่างๆ เพื่อให้ทุกพื้นที่เตรียมพร้อม เมื่อเกิดเหตุอุทกภัยจะต้องทำอย่างไร ต้องอพยพหรือเตรียมตัวอย่างไร เราต้องเริ่มดำเนินการให้เร็วที่สุด
นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวอีกว่า สำหรับเหตุการณ์อุทกภัยดังกล่าว ได้สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งที่เป็นมูลค่าความเสียหายและค่าเสียโอกาส จากการเกิดอุทกภัยด้านการจัดการน้ำ การสาธารณูปโภคสาธารณูปการ แหล่งศิลปวัฒนธรรม ภาคเกษตร อุตสาหกรรม ความสูญเสียด้านสังคม บ้านเรือนประชาชนและความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม รวม 1.42 ล้านล้านบาท
จำแนกเป็นความเสียหายภาครัฐ 0.14 ล้านล้านบาท และภาคเอกชน 1.28 ล้านล้านบาท สถานประกอบการ 28,679 แห่ง นิคมอุตสาหกรรม 7 แห่ง และแรงงาน 993,944 คน ได้รับผลกระทบ 2.การดำเนินงานของรัฐบาล รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญ เร่งด่วนของปัญหาดังกล่าว จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ หรือ กยน.ขึ้น
ซึ่งมีแนวคิดหลัก คือ การปรับปรุงและระบบป้องกันน้ำที่มีอยู่ให้แข็งแรง บรรเทา และลดผลกระทบจากอุทกภัยในอนาคต เราต้องวางแผนระยะยาว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน เกษตรกร ภาคธุรกิจและนักลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ ตลอดจนสร้างความมั่นคงของประเทศ และภาคการประกันภัย โดยได้จัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งรัฐบาลไม่นิ่งนอนใจในการที่จะหางบระมาณในการลงทุน และแก้ไขในสิ่งต่างๆ
นายกฯ กล่าวต่อว่า 3.สาระสำคัญของแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยการเชื่อมโยงการแก้ปัญหาอย่างบูรณาการ ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งวันนี้ทางกรุงเทพมหานครได้มาร่วมงาน และต้องขอขอบคุณพร้อมกับขออนุญาตบอกว่าจากนี้ไปเราต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ซึ่งทาง กยน. จะต้องทำงานร่วมกับทุกกระทรวง และผู้ว่าราชการจังหวดทุกจังหวัด 3.1 หลักการแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ มีหลักการในการวางแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญ 3 ด้าน คือ (1) ปรับปรุงและฟื้นฟูระบบป้องกันน้ำท่วมที่มีอยู่ให้สมบูรณ์ (2) สร้างความเชื่อมั่นในการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ชุมชน พื้นที่เกษตร พื้นที่อุตสาหกรรม และพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญและ (3) บูรณาการการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเพื่อบริหารจัดการน้ำให้ลงสู่ทะเลโดยเร็ว 3.2 แนวคิด การบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่ต้นน้ำ จะให้ความสำคัญกับการซับน้ำ ชะลอน้ำ มิให้ไหลบ่าอย่างรุนแรงในขณะที่พื้นที่กลางน้ำจะให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำเช่น ทางระบายน้ำหลาก (Floodway) แก้มลิง และพื้นที่ปลายน้ำ จะให้ความสำคัญกับการเร่งระบายน้ำและผลักดันน้ำออกสู่ทะเลอย่างรวดเร็วตามลำดับ
นายกฯ กล่าวต่อว่า 3.3 เป้าหมายระยะสั้น ได้แก่ การลดระดับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากอุทกภัยในปี 2555 ระยะยาว ได้แก่ การปรับระบบการบริหารจัดการอุทกภัยอย่างบูรณาการและยั่งยืน 3.4 แนวทางการดำเนินงาน ประกอบด้วยแผนปฏิบัติการที่จะดำเนินการในปี 2555 และแผนปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัยแบบบูรณาการและยั่งยืน คือ แผนปฏิบัติการที่จะดำเนินการในปี 2555 มีเป้าหมายคือ การลดระดับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากน้ำท่วมในปี 2555โดยใช้งบประมาณ 18,110 ล้านบาทซึ่งได้จัดสรรงบประมาณไว้เรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วยแนวทางการดำเนินงานในแต่ละด้าน ประกอบด้วย
(1) การจัดทำระบบข้อมูล ระบบพยากรณ์ และระบบเตือนภัยในพื้นที่ ที่มีประสิทธิภาพและเป็นเอกภาพโดยการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลน้ำแห่งชาติเพื่อพัฒนาระบบข้อมูล สร้างระบบพยากรณ์ และระบบเตือนภัยที่มีเอกภาพ และประสิทธิภาพ โดยจัดทำระบบการพยากรณ์สถานการณ์น้ำให้ทันเหตุการณ์จัดทำระบบเตือนภัยให้มีประสิทธิภาพและเป็นเอกภาพ ติดตั้งเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เช่น ระบบดาวเทียม ระบบติดตามผลระยะไกลเป็นต้น ซึ่งในเรื่องการเตือนภัยทางคณะกรรมการจะหาวิธีการบริหารจัดการ โดยต้องขอความร่วมมือจากทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการพยากรณ์ รวมถึงการแจ้งข่าวสารของภาครัฐทุกส่วน
ที่มีอยู่ รวมถึงการทำงานร่วมกับภาคประชาชนด้วย
(2) การบริหารจัดการพื้นที่ต้นน้ำโดยการเริ่มดำเนินปลูกป่าและพืชซับน้ำดำเนินการปลูกป่าและพืชซับน้ำตามแนวพระราชดำริอย่างต่อเนื่อง เช่น แนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องการปลูกป่าแบบไม่ปลูก ซึ่งต้องเข้าใจพื้นที่ที่ป่าจะงอกงามเองได้ ส่วนแนวทางของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ คือ คนอยู่กับป่า พื้นที่ที่มีประชาชนอยู่เราต้อง สร้างระบบนิเวศให้น้ำไหลมาอุดมสมบูรณ์ ปลูกพืชผักต่างๆ ไม่เน้นพื้นที่ล้างขาดคนดูแล โดยแนวพระราชดำริทุกพระองค์ต้องการให้เห็นว่าเป็นการสร้างเศรษฐกิจในชุมชน ส่วนแนวพระราชดำรัสของสมเด็จพระศรีนครินทร์ คือ ปลูกป่าปลูกคน จะเน้นเรื่องจิตสำนึกของคนกับป่าให้อยู่ด้วยกันได้ เช่น โครงการปลูกถั่วบนดอยตุง เพื่อให้ประชาชนเลี้ยงตนเเองได้ ซึ่งเราจะนำแนวพระราชดำรัสของทุกพระองค์มาประยุกต์ใช้ อย่างพื้นที่ห้วยฮ่องใคร้ บางพื้นที่ปลูกป่าไม่ทันก็ต้องทำแนวเสริมเพื่อชะลอนี้ สิ่งที่เราจะทำจากนี้ไปในส่วนของต้นน้ำ คือ การบูรณาการทุกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการปลูกป่าและอนุรักษ์หน้าดิน แบ่งสรรความรับผิดชอบ เพื่อที่จะกระจายการปลูกต้นไม้ให้เร็วที่สุด ถึงเวลาที่เราจะรวมกันในการแบ่งเขตพื้นที่ กระทรวงมหาดไทยจะเป็นตัวกลาง กองทัพ กระทรวงทรัพยากรจะเน้นในการปลูกพื้นที่ที่มีผลกระทบเรื่องการระบายน้ำ จะมีการปลูกพืชเศรษฐกิจ เพื่อเป็นการทดแทน
(3) การบริหารจัดการพื้นที่กลางน้ำ สิ่งที่เร่งด่วนคือการระบายน้ำออกฝั่งตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในระยะยาวจะเชื่อมลุ่มน้ำทั้งหมดและให้ใหลลงสู่ทะเล โดยบริหารจัดการการระบายน้ำของเขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนชัยนาท เป็นต้นจัดทำเส้นทางรับน้ำและแก้มลิงขนาดใหญ่ปรับปรุงคันกั้นน้ำ แม่น้ำเจ้าพระยา ป่าสัก คลองระพีพัฒน์ คลองหกวา ฯลฯ ทำกำแพงป้องกันตลิ่ง เช่น คลองบางกรวย ปรับปรุงประตูน้ำ สถานีสูบน้ำ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขุดลอกคูคลอง ประมาณ 100 แห่ง เช่น บางโฉมศรี ระพีพัฒน์รังสิต ฯลฯ
(4) การบริหารจัดการพื้นที่ปลายน้ำ คือฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกจะเสริมคันกั้นน้ำแนวพระราชดำริทั้งหมด พัฒนาระบายน้ำ การทำฟัดเวย์ การติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำเพิ่มในทุกจุด การขุดลอกคลองและกำจัดวัชพืช เช่น คลองสามวา, คลองแสนแสบ, คลองทวีวัฒนา, คลองประเวศ ฯลฯจัดทำและเสริมคันกั้นน้ำตามแนวพระราชดำริ เช่น คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ เป็นต้นปรับปรุงและขุดลอกทางระบายน้ำ กรุงเทพฯ 37 แห่ง นครปฐม 9 แห่ง นนทบุรี 4 แห่ง ปทุมธานี 19 แห่ง สมุทรสาคร 3 แห่ง สิงห์บุรี 1 แห่ง สุพรรณบุรี 1 แห่ง ฯลฯ ขุดลอกคลองใต้สะพานรถไฟข้ามคลอง สายตะวันออก 9 แห่ง สายวงเวียนใหญ่ มหาชัย 4 แห่ง สายเหนือที่ กม.24 1 แห่ง ขุดลอกคลองสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำท่าจีนปรับปรุงประตูน้ำ สถานีสูบน้ำ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ประมาณ 100 แห่ง เช่น ลาดพร้าว บางเขน บางซื่อ บางแก้ว มหาสวัสดิ์ พระยาบรรลือ เป็นต้น ตลอดจน ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ
(5) การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม โดยการสร้างแนวป้องกันน้ำที่มีการคำนวนใหม่ทั้งหมด ปรับปรุงคันคลอง สร้างประตูน้ำ และสถานีสูบน้ำ ประมาณ 15 แห่ง เช่น คลองเชียงรากน้อย คลองพระองค์ฯ คลองหกบน สถานีสูบน้ำเปรมเหนือ บางปะอิน เป็นต้นเสริมถนนเป็นคันกั้นน้ำ รอบนิคมอุตสาหกรรม ปทุมธานี 3 แห่ง กม.58 ทางหลวงหมายเลข 346 บางพูน และ กม.20 เสริมถนนเป็นคันกั้นน้ำ รอบนิคมอุตสาหกรรม พระนครศรีอยุธยา 5 แห่ง เช่น ทางหลวง 308 และ 309 ประตูน้ำพระอินทร์ จัดสรรเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับนิคมฯ เพื่อจัดทำระบบป้องกันน้ำท่วม และระบบระบายน้ำด้วยตนเอง จัดสรรเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับนิคมฯเพื่อจัดทำระบบป้องกันน้ำท่วมและระบบระบายน้ำด้วยตนเอง และจัดตั้งกองทุนประกันภัย 5 หมื่นล้าน เพื่อช่วยเหลือการประกันวินาศภัยในภาคอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม
(6) พัฒนาและปรับปรุงการบริหารจัดการ โดยการจัดตั้งองค์กรบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการแบบ Single Command คือเชิญผู้ทรงคุณวุฒิและผู้มีความรู้ทั้งหมดมานั่งประจำศูนย์นี้ เพื่อจัดการน้ำทั้งระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบปรับปรุงระบบเตือนภัยและแผนเผชิญเหตุ ปรับปรุงแผนช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยอย่างมีประสิทธิภาพทั้งในระหว่างน้ำท่วมและน้ำลดปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป ส่วนงบประมาณ 120,000 ล้าน เพื่อฟื้นฟูเยียวยาสิ่งที่เสียหายจากอุทกภัยให้กลับมาสู่สภาพเดิม จะถูกกลั่นกรองโดยคณะ กฟย.
เช่น เรื่องถนน โรงเรียน เกษตรกร บ้านเรียนเสียหาย เป็นต้น ซึ่งบางส่วนผ่านไปแลว ยังรองบที่จะผ่านอีกจากสภาในต้นเดือนกุมพาพันธ์อีก โดยเป็นหน้าที่ผู้ว่าราชการทุกจังหวัด ส่วนระยะที่สองจะอยู่ในกยน.เพื่อแซ่มแซมส่วนที่เสียหาย โดยมีมาตรการดูแลพื้นที่ชุมชนที่เสียหาย โดยนายปิติพงศ์ จะเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนการดูแลระยะยาวนายกิจจาจะเป็นผู้รับผิดชอบ ในส่วนของคณะนายปิติพงศ์ มีการอนุมัติงบอีก 180,000 หมื่นล้าน เพื่อพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ ส่วนคณะนายกิจจา เป็นแผนปฎิบัติการอุทกภัยแบบยั่งยืนในระยะยาว คือ การพัฒนาระบบคลังข้อมูล เชื่อมส่วนต่างด้วยกัน ติดกล้องวงจรปิดที่ประตูระบายน้ำ เป็นต้น
นายกฯ กล่าวอีกว่า ด้านแผนปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัยแบบบูรณาการและยั่งยืน ซึ่งมีเป้าหมายคือการปรับระบบการบริหารจัดการน้ำท่วมอย่างบูรณาการและยั่งยืนประกอบด้วยการดำเนินงาน คือ 1.การพัฒนาระบบคลังข้อมูล ระบบพยากรณ์ และระบบเตือนภัยวงเงิน 3,000 ล้านบาท 2.การฟื้นฟู อนุรักษ์ป่าและระบบนิเวศ วงเงิน 60,000 ล้านบาท ประกอบด้วย การปลูกป่า สร้างฝายแม้ว อนุรักษ์ดินและน้ำด้วยการปลูกหญ้าแฝก และการสร้างอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนในลุ่มน้ำยม สะแกกรัง น่าน และป่าสัก 3.การกำหนดพื้นที่รับน้ำนองและมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้พื้นที่เพื่อการรับน้ำ วงเงิน 60,000 ล้านบาท ประกอบด้วยการกำหนดพื้นที่รับน้ำนองในเขตเจ้าพระยาตอนบน และตอนล่าง ประมาณ 10 แห่ง การกำหนดมาตรการชดเชยความเสียหายเป็นกรณีพิเศษ การปรับปรุงพื้นที่เกษตรชลประทานให้เป็นแก้มลิงประมาณ 2 ล้านไร่ ในฤดูน้ำหลาก
นายกฯ กล่าวอีกว่า 4.การจัดสร้างและปรับปรุงโครงข่ายระบายน้ำขนาดใหญ่ของประเทศ วงเงิน 177,000 ล้านบาท ประกอบด้วย การจัดทำทางน้ำหลากหรือทางผันน้ำจากแม่น้ำป่าสักถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ไปทางตะวันออกหรือทั้ง 2 ฝั่ง การจัดทำโครงการจัดทำผังการใช้ที่ดิน/และการใช้ประโยชน์ที่ดินในผัง รวมทั้งจัดทำพื้นที่ปิดล้อม และโครงการปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลัก และคันริมแม่น้ำส่วนที่เหลือ
ด้าน นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา กรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) แผนระยะสั้น แถลงแผนแม่บทบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ว่า แผนแม่บทระยะสั้นเรียกได้ว่าเป็นแผนมะรุมมะตุ้มที่ได้จากประสบการณ์น้ำท่วมปี 2554 โดยมาตรการแรกเป็นแผนที่เน้นบริหารจัดการ เพราะงานด้านวิศวกรรมที่จะต้องมีการเวนคืนที่ดินนั้นใช้เวลาอีกนาน และจะเป็นงานประกอบด้านการบริหารจัดการ โดยข้อมูลเบื้องต้นน้ำที่มีอยู่ประมาณ10,000 ล้านคิว ซึ่งสิ่งที่จะต้องดำเนินการนั้น ประกอบด้วย 1.เก็บน้ำไว้ที่เขื่อนในจำนวนครึ่งหนึ่ง ประมาณ 5,000 ล้านคิว 2.พยายามทิ้งน้ำหรือโรยน้ำส่วนหนึ่งในพื้นที่ฟลัดเพลนหรือพื้นที่น้ำท่วมในระดับหนึ่ง ประมาณ 5,000 ล้านคิว และ 3.ส่วนที่เหลือจะเกิดขึ้นจากปัญหาต่างๆ เช่น ฝนตกในกรุงเทพมหานครมาก หรือฝนตกหลังหรือหน้าเขื่อนมาก ซึ่งจะเป็นการบริหารจัดการที่ปลายน้ำ ในพื้นที่ของจ.อยุธยา จ.ปทุมธานี จ.นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร เป็นหลัก โดยปริมาณน้ำที่เกินมานั้นก็จะทดไว้ที่เขื่อนหรือทดไว้ที่พื้นที่ทิ้งน้ำและพื้นที่บริหารจัดการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
นายปีติพงศ์ กล่าวว่า สำหรับวิธีการทำงานในพื้นที่อ่างเก็บน้ำทั้งหมด ได้เริ่มกระบวนการในการจัดสรรน้ำทั้งหมดแล้ว โดยในทุกวันกรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตและกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ร่วมกันจัดทำแผนการระบายน้ำ และเมื่อน้ำท่วมก็ต้องให้เขื่อนจัดการพื้นที่น้ำเพียงพอ สำหรับมาตรการที่ 2 พื้นที่ฝากน้ำนั้น จะเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งที่มีน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ในปี 2555 จะต้องฝากน้ำไว้และต้องให้กรมชลประทานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ที่ไหนบ้าง ขณะเดียวกันจะต้องมีระบบการชดเชยผู้ที่เสียหายจากการฝากน้ำ โดยได้ตั้งเป้าหมายว่าพื้นที่ฝากน้ำจะต้องมีน้ำไม่เกิน 1 เมตร
ส่วนพื้นที่ด้านล่างนั้น นายปีติพงศ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องการดำเนินการป้องกัน โดยเป็นงานด้านวิศวกรรม ประกอบด้วย 1.การป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจและพื้นที่ชุมชนที่ป้องกันเด็ดขาด 2.การป้องกันพื้นที่น้ำล้นจากแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น แม่น้ำป่าสัก หรือแม่น้ำสะแกกรัง 3.การเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำในพื้นที่ต่างๆ เช่น การขุดลอกคลอง การทำประตูระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และ 4.การจัดการพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร การจัดการสร้างที่ระบายน้ำบนคันคลอง ถนนต่างๆ ที่เป็นคันคลองอยู่แล้ว โดยในส่วนนี้ตั้งงบประมาณ 17,000 ล้านบาท และอีก 1,000 ล้านบาท เป็นงบประมาณด้านระบบข้อมูล
ขณะที่ความคืบหน้าการดำเนินการ ประกอบด้วย ส่วนที่ 1.กรมชลประทานได้เสนอโครงการมาแล้วงบประมาณ กว่า 5,000 ล้านบาท เป็นการป้องกันน้ำล้นจากแม่น้ำ 34 โครงการ รวมทั้งโครงการเสริมในพื้นที่เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และชุมชน 23 โครงการ และ 300 กว่าโครงการเป็นโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ อีกทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและการเตือนภัย 2 โครงการ ซึ่งทั้งหมดเมื่ออนุมัติแล้วก็จะเริ่มสร้างได้ทันที
ส่วนที่ 2.กรมเจ้าท่า มี 2 โครงการ มูลค่า 277 ล้านบาท คือ การขุดลอกสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยาและปากแม่น้ำท่าจีน เพื่อให้น้ำไหลเร็ว เนื่องจากปี 2554 มีปัญหาน้ำเอ่อ
ส่วนที่ 3.กรุงเทพมหานคร ได้เสนอโครงการ 144 โครงการ มีมูลค่า1,965 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการขุดลอกคูคลอง อย่างไรก็ตามทั้งหมดจะเป็นงานด้านการซ่อมแซม ป้องกันและเสริมคันกั้นน้ำ 28 โครงการ งานเพิ่มประสิทธิระบบระบายน้ำ 71 โครงการและงานสร้างระบบการเตือนภัย 16 โครงการ
สำหรับโครงการด้านเศรษฐกิจ อาทิ วิธีการป้องกันน้ำทางด้านนิคมอุตสาหกรรม ที่น้ำมาจากแม่น้ำป่าสัก ขณะที่มีโครงการเพิ่มประสิทธิการจัดการประตูระบายน้ำบางโฉมศรี ที่ต้องใช้เวลาและเงินมากพอสมควร รวมทั้งจัดทำประตูระบายน้ำข้าวเม่า ประตูระบายน้ำคลองกัมมัง ประตูระบายน้ำหันตรา โดยเป็นการป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจและชุมชนต่างๆ นอกจากนี้การป้องกันน้ำล้นจากแม่น้ำจะมีการปรับปรุงคันกั้นน้ำใหญ่ ฝายน้ำล้น ในเขื่อนเจ้าพระยา ส่วนพื้นที่ใกล้กรุงเทพมหานครกานครจะมีหลายโครงการ อาทิ กำแพงป้องกันตลิ่งที่ปากคลองบางกรวย ปรับปรุงคันป้องกันน้ำสายสิงหนาถ-สามโคก จะมีต่อ จ.อยุธยา และ จ.ปทุมธานี โครงการสร้างกำแพงป้องกันตลิ่งเชียงรากน้อย คลองเปรมประชากร-แม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งนี้ โครงการทั้งหมดเมื่อผ่าน กยน.และสภาพัฒน์ฯ แล้วก็จะเสนอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดูว่ามีอะไรขาดตกบกพร่องหรือไม่ เพื่อให้การทำงานเสร็จเรียบร้อย
โดยทั้งหมดเป็นงานด้านการป้องกันน้ำที่เขื่อน การฝากน้ำ และการป้องกันพื้นที่ต่างๆ ที่มีความสำคัญ ขณะที่ส่วนเสริมที่ต้องรีบทำ ได้แก่ ข้อมูลเตือนภัย การจัดทำแผนที่ระดับของพื้นที่ โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะดำเนินการให้เสร็จในเดือนเมษายนนี้ รวมทั้งการคำนวณพื้นที่ใหม่ที่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าน้ำจะไปทางไหน การปรับปรุงการเตือนภัย ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะดำเนินการให้เสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์จะส่งวิธีการดำเนินการและค่าใช้ จ่าย และการทำแผนเผชิญเหตุ ที่ กยน.ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปจัดทำแผนนี้ร่วมกับชุมชนและนิคมฯ ต่างๆ ส่วนสุดท้ายเรื่องบริหารจัดการ ที่จะดูว่าทำอย่างไรการสั่งการในช่วงปกติกับฉุกเฉิน จะมีความแตกต่างกันมากยิ่งขึ้น ส่วนนี้มีความสำคัญที่จ้ะต้องแก้ไขในระยะสั้นจะต้องปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับภัยพิบัติ อาจจะทำให้การสั่งการของนายกรัฐมนตรีสั่งได้เป็นพื้นที่ ไม่ใช่เขตการปกครอง และต้องให้รัฐบาลทำได้ในการสร้างทางระบายน้ำที่จำเป็น
“จะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข 3 ประการ คือ 1.คอนโทรลไม่ได้ ดิน ฟ้า อากาศ 2.ส่วนราชการต้องทำงานให้เสร็จตามเป้าที่กำหนดไว้ 3.ประชาชนทั้งหลายต้องให้ความร่วมมือในพื้นที่ริมคลอง พื้นที่ที่มีผักตบชวา พื้นที่สาธารณะ ควรต้องช่วยกันเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม เมื่อจัดการข้อมูลทั้งหมดเสร็จแล้วจะสิ่งพิมพ์ให้ประชาชนได้มีความเข้าใจในสิ่งที่เราจะทำ ซึ่งตอนนี้ก็เร่งเต็มที่แล้ว และเวลาน้อย” นายปีติพงศ์ กล่าว
ด้าน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขานุการ กยน.กล่าวว่าการบริหารจัดการน้ำ โครงการระยะสั้น เราได้รับความร่วมมือจากกรุงเทพมหานคร โดยได้มีการเสนอโครงการขุดคู คลอง แต่เท่าที่ตนสังเกตพบว่าจะมีบ้านเรือนคร่อมคลองอยู่ ซึ่งตนไม่ทราบว่าจะมีการจัดการอย่างไร ดังนั้นโครงการระยะสั้นจึงมีความชัดเจนทั้งในเรื่องพื้นที่โครงการ และการได้รับความร่วมมือกับทางกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ต้องให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่รู้ว่าพื้นที่ของเขาจะมีการก่อสร้างระบบป้อง เช่น พื้นที่รอบเขตอุตสาหกรรมจะมีการทำทางยกระดับขึ้นเพื่อการขนส่งวัตถุดิบเข้าโรงงาน ซึ่งขณะนี้โครงการในระยะเร่งด่วนทำเสร็จแล้ว เพียงต้องมีการคำนวณว่าจำนวนโครงการที่จะมีการเปิดประตูน้ำ และการเพิ่มเครื่องสูบน้ำเท่าใด ทั้งนี้ในการวิเคราะห์ว่าหากปริมาณน้ำมาเท่ากับปี 2554 จะมีการรองรับน้ำได้พอหรือไม่ ขั้นต้นหากปริมาณน้ำจากเหนือเขื่อนมีประมาณ 4,600 ลูกบากศ์เมตร ในพื้นที่ตอนกลางและตรงปลายน้ำเราสามารถรับได้ หากมากกว่านี้จะต้องมีการเพิ่มจุดบ้างจุด
นายปีติพงศ์ กล่าวเสริมว่า การทำโครงการดังกล่าวมีเทคนิคในการทำ คือ 1.ต้องบอกว่าทางเดินของน้ำที่ไหนเท่ากับเท่าไหร่ ในแม่น้ำเจ้าพระยาเท่าไหร่ ในแม่สายหลักเท่าไหร่ 2.ตำแหน่งของพื้นที่ที่จะทำโครงการ ที่จะต้องมีการเข้าไปดูในพื้นที่
นายกิจจา ผลภาษี คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ(กยน.) ระยะยาว กล่าวว่า การทำงานของอนุกรรมการทั้งสองชุดจะทำงานร่วมกัน ฉะนั้น ในระยะสั้นและระยะยาวจึงไม่มี การทำงานซ้ำซ้อน และแผนการบริหารระยะสั้นนั้นแผนระยะยาวก็จะนำมาพิจารณาร่วมด้วย ซึ่งในแผนระยะยาวได้วางกรอบไว้ 8 มาตรการ ประกอบด้วย 1.แผนงานฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าและระบบนิเวศ คือ การฟื้นฟู และอนุรักษ์ดิน บริเวณพื้นที่ปิง วัง ยม น่าน สะแกกรัง และป่าสัก 2.แผนงานการบริหารจัดการเขื่อนเก็บน้ำหลักและจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำของประเทศประจำปี 3.แผนงานฟื้นฟูและปรับปรุงประสิทธิภาพสิ่งก่อสร้างเดิมหรือตามแผนที่วางไว้ เพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำท่วม 4.แผนงานพัฒนาคลังข้อมูล ระบบพยากรณ์ และเตือนภัย 5.แผนงานเผชิญเหตุเฉพาะที่ 6.แผนงานกำหนดพื้นที่รองรับน้ำนอง และมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบการใช้พื้นที่เพื่อการรับน้ำ 7.แผนงานปรับปรุงองค์กรเพื่อบริหารจัดการน้ำ และ 8.แผนงานสร้างความเข้าใจ การยอมรับและการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการอุทกภัยขนาดใหญ่ของทุกภาคส่วน
นายกิจจา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้หากเรามีการบริหารจัดการน้ำ โครงการต่างๆ ตามแผนแม่บททั้ง 8 มาตรการแล้วจะเกิดผลสัมฤทธิ์ในการป้องกัน แก้ไข บรรเทาอุทกภัยโดยสรุปได้ 5 ข้อประกอบด้วย 1.มั่นใจได้ว่าน้ำจะไม่ท่วมกลุ่มพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศและจังหวัด 2.พื้นที่เกษตร ชลประทาน ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ประมาณ 2 ล้านไร่จะต้องได้รับการปรับปรุงเพื่อใช้เพิ่มข้าวและเป็นที่พักของยอดน้ำหลาก 3.ควบคุมการใช้ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบรวมทั้งมีทางน้ำหลาก ฟลัดเวย์และระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่มีส่วนสัมพันธ์กัน 4.อ่างเก็บน้ำที่มีน้ำเพิ่มขึ้น เพื่อนำมาใช้เพิ่มผลผลิตในพื้นที่เกษตรกรรม ชลประทานและพื้นที่เกษตรน้ำฝน พื้นที่อุปโภคบริโภค พาณิชยกรรม อุตสาหกรรมและรักษาระบบนิเวศ และ 5.การเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ เพื่อรักษาความสมดุลของระบบนิเวศวิทยา ทั้งหมดเป็นมาตรการคร่าวๆ เป็นแผนแม่บทที่ กยน.ได้วางไว้เพื่อประสานกับระบบ ซึ่งแผนงานเราไม่ได้กำหนดแน่นอน ความคิดเห็นการมีส่วนร่วมของแต่ละองค์กร บุคคลต่างๆ เราจะนำเข้ามาเพื่อพิจาณาแก้ไขปรับปรุง หากมีสิ่งที่ดีกว่าก็จะนำมาใช้ไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามแผนที่ตนวางไว้
นายอาคม กล่าวเสริมว่า ในส่วนของระยะยาวพื้นที่โครงการจะเน้นในส่วนของต้นน้ำ และกลางน้ำ ระยะสั้นจะให้ความสำคัญในพื้นที่ปลาย โดยเฉพาะพื้นที่เศรษฐกิจและพื้นที่โดยรอบ ทั้งนี้ส่วนที่เป็นพื้นที่รับน้ำหากดูตามแผนจะเป็นพื้นที่ตามแนว 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งประมาณเดือนเม.ย.นี้จะรู้ถึงขอบเขตพื้นที่รับน้ำ ทั้งนี้ ในเรื่องของแผนเผชิญเหตุจะเป็นแผนที่ระยะสั้นและระยะยาวจะมีการทำ รวมถึงจะต้องมีการซักซ้อมในพื้นที่อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง อย่างไรก็ตาม แผนแม่บทต้องมีการปรับปรุงอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ทันสมัย เมื่อมีข้อมูลเข้ามาเพิ่มเติม อย่างเช่นในการประชุมคณะรัฐมนตรีหากมีข้อเสนออะไรก็ต้องมาวิเคราะห์ด้วย
นายอาคม กล่าวอีกว่า แผนแม่บทในส่วนของแผนปฏิบัติได้มีการระบุพื้นที่โครงการชัดเจนโดยเฉพาะแผนระยะสั้นนั้น ขั้นตอนต่อไปจะมีการระบุพิกัดของโครงการให้ประชาชนได้ทราบ ซึ่งทาง กยน.จะมีการประชุมประชุมจำนวน 4 ครั้ง โดยการประชุมครั้งที่ 1 จะเป็นการประชุมหน่วยปฏิบัติทั้งหมดเพื่อทำความเข้าใจ 2.การลงไปดูพื้นที่ต้นน้ำ 3.การลงพื้นที่ดูปลายน้ำ 4.การลงพื้นที่ดูกลางน้ำ ทั้งนี้ในการติดตามการทำงานนั้น จะมีการติดตามประเมินผล ซึ่งจะมี กยน.และผู้ตรวจของกระทรวงต่างๆ ลงพื้นที่โดยจะไม่มีการบอกล่วงหน้าว่าจะไปตรวจพื้นที่ไหน รวมถึงนายกรัฐมนตรีจะลงไปดูพื้นที่เองด้วย จึงมั่นใจได้ว่า เมื่อพื้นที่ใดรับเงินไปแล้วจะไม่ล่าช้า มีการทำจริงและประชาชนมีส่วนร่วมในพื้นที่ตรงนั้น