ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ชาวอำเภอบางกล่ำ ร่วมเวที “โครงการงานศึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บทการขุดลอกเพื่อพัฒนาและฟื้นฟูทะเลสาบสงขลาตอนล่าง” ส่วนใหญ่เห็นด้วยเพราะต้องเผชิญกับปัญหาตื่นเขิน พร้อมเสนอ อยากให้ผู้รับผิดชอบเรื่องน้ำท่วมเข้าร่วมเวทีด้วย
เมื่อเวลา 13.30 น. วันนี้(3 มี.ค.) ที่ศาลาประชาคมอำเภอบางกล่ำ จ.สงขลา มหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมกับกรมเจ้าท่าและกลุ่มที่ปรึกษา จัดเวทีเสวนาการมีส่วนร่วมเพื่อรับฟังความคิดเห็น “โครงการงานศึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บทการขุดลอกเพื่อพัฒนาและฟื้นฟูทะเลสาบสงขลาตอนล่าง” ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่ 6 โดยมีประชาชนในพื้นที่ อ.บางกล่ำ มาเข้าร่วมประมาณ 50 คน โครงการนี้เป็นโครงการที่ครอบคลุมพื้นที่ 5 อำเภอของ จ.สงขลา จะมีการจัดเวทีย่อยในลักษณะนี้อำเภอละ 3 ครั้ง ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งแรกของ อ.บางกล่ำ โดยจะใช้เวลาในการดำเนินการศึกษา 2 ปีจึงแล้วเสร็จ ทั้งนี้ อ.บางกลี่พื้นที่ติดกับทะเลประมาณ 2 กิโลเมตร และแนวขุดประมาณ 500 เมตร
ศ.ดร.ปริญญา นุตาลัย จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ในฐานะผู้จัดการโครงการ ได้อธิบายถึงรายละเอียดผลการวิเคราะห์แบบสอบถามจาก 5 เวทีที่ผ่านมา ให้กับผู้เข้าร่วมเสวนาฟัง และกล่าวว่า ผู้ที่จะใช้ประโยชน์กับทะเลสาบต้องคิด ขณะนี้ความเห็นต่อเรื่องนี้มี 2 อย่างคือเห็นด้วยให้ขุดมี 70 เปอร์เซ็น และไม่ให้ขุดมี 30 เปอร์เซ็น ส่วนความลึกและความกว้างของการขุดนั้นขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของดิน เราต้องไปสำรวจดินก่อน ว่าดินอ่อนหรือดินแข็งอย่างไร และอีกอย่างขึ้นอยู่กับวิศวกรด้วย
ส่วนใหญ่จะเป็นที่สาธารณะประโยชน์แต่ที่สาธารณะประโยชน์จะถูกบุกรุกเยอะมาก ซึ่งอำเภอกับ อบต.ดูแลอยู่ ถ้าทุกฝ่ายร่วมกันมันจะง่ายขึ้น ทุกอย่างมันจะไปได้เร็ว นี่คือหัวใจของการพัฒนาทะเลสาบสงขลาได้ เราต้องตัดสินใจกันเอง เห็นได้ว่าที่ผ่านมาจะมีการขุดกันหลายครั้งแล้วแต่ไม่ได้มีการทำประชาคม หรือหาข้อมูลพื้นฐานของประชาชน จึงไม่สามารถดำเนินการได้
ศ.ดร.ปริญญา ยกตัวอย่างเรื่อง ฟาร์มทะเล เมื่อปี 2547 ว่า รัฐบาลให้มีการเพาะลูกกุ้ง และลูกปลากะพง ลูกกุ้งปีละ 3-4 ล้านตัว โดยมีการปล่อย 3 รอบ ปล่อยแล้วห้ามจับ 3 เดือน แล้วจึงปล่อยรอบที่ 2 แล้วรอ 3 เดือน ค่อย จับ พอปี 54 ปีสุดท้าย ถ้าชาวประมงเองไม่ร่วมกันทำฟาร์มทะเลและปล่อยลูกกุ้งเอง ไม่เช่นนั้นจะไม่มีกุ้งให้จับถ้าเราไม่ช่วยกัน ที่ผ่านมาปล่อยแล้วจับได้เพียงแค่ 7 เปอร์เซ็น เพราะฉะนั้นอยากให้ประชาชนช่วยกันปล่อยกันเองด้วย และส่งเสริมการปล่อยพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาและกุ้ง
ส่วนการออกแบบการขุดร่องน้ำทะเลสาบสงขลา ทางกรมเจ้าท่าได้มีการออกแบบไว้แล้วแต่เมื่อมีการจัดเวทีประชาคมที่ อ.สิงหนคร ประชาชนได้มีการเสนอแบบขุดลอกแบบใหม่ และมีความเห็นว่าให้เอา 2 แบบมารวมกัน ระหว่างแบบที่กรมเจ้าท่าเป็นคนออกแบบและที่ชาวบ้านได้นำเสนอไป จึงได้นำแบบทั้ง 3 แบบนี้มาให้ชาว อ.บางกล่ำได้ลงมติกันอีกครั้งว่าจะเลือกแบบไหน
ด้าน นายปัญญา จินดาวงค์ ปลัดอำเภอบางกล่ำ ตัวแทนของนายอำเภอบางกล่ำที่เข้าร่วมเวทีได้กล่าวสรุปถึงโครงการทั้งหมดให้ พี่น้องประชาชนได้ฟังอีกครั้ง เนื่องจากยังมีอีกหลายคนยังไม่เข้าใจไม่ชัดเจนในข้อมูล โดยได้อธิบายว่า นี้คือโครงการศึกษาเพื่อออกแบบการขุดลอกร่องน้ำ ทางคณะทำงานจึงมาสอบถามความเห็นของประชาชนเพื่อร่วมกันพัฒนาทะเลสาบสงขลาโดยเฉพาะพี่น้องที่ต้องใช้ทะเลสาบในชีวิตประจำวัน เพราะตอนนี้ทะเลสาบเริ่มจะตื่นเขินแล้ว จึงต้องพัฒนาให้ทะเลาสาบเป็นที่ทำมาหากินในระยะยาว เพราะคนที่เห็นความเปลี่ยนแปลงของทะเลสาบมากที่สุดคือพี่น้องประชาชน เพราะฉะนั้นเราต้องมาร่วมกันเสนอความคิดเห็นเพื่อให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องมากที่สุด ที่ผ่านมาได้มีการไปรับฟังความคิดเห็นของพื้นที่อื่นๆ มาแล้ว เพื่อจะนำมาประกอบร่วมการตัดสินใจกับพี่น้องชาวบางกล่ำด้วย เพราะฉะนั้นอยากให้พี่น้องได้ช่วยกันเสนอความคิดเห็น เพราะเรารู้ดีว่าร่องน้ำบริเวณไหนที่เราควรจะขุด
พร้อมมีการเสนอด้วยว่า การใช้ประโยชน์ในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา น่าจะเชิญผู้รับผิดชอบแก้ปัญญาน้ำท่วมมาร่วมในเวทีเสนอความคิดเห็นนี้ด้วย ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาต้องรองรับน้ำที่มาจากคลองแห และ หาดใหญ่ เรื่องระบบระบายน้ำ อ.หาดใหญ่ทำอย่างไรให้กระทบคนที่นี้น้อยที่สุด เมื่อมีการศึกษาตรงนี้แล้ว ทั้งชลประทาน กรมเจ้าท่า ทำไมเราไม่คุยกันว่าทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสีย ในฐานะคนที่อาศัยอยู่ที่นี้ ไหนๆ ก็มีการศึกษาเรื่องทะเลสาบสงขลาแล้ว จะได้เกิดประโยชน์ร่วมกัน
ด้าน ชาวบ้านมีการเสนอ ว่าอยากให้ขุดปากอ่าว หรือปากคลองเพราะเวลาเรือออกทะเลจะไม่สามารถออกได้เนื่องจากน้ำตื่นระยะทางจากปากคลอง และหนักสุดหลังจากน้ำท่วมดินได้ทับถมทำให้น้ำตื่นขึ้นอีก ยิ่งช่วงเดือนเมษายนของทุกปี เรือออกไม่ได้เลย ทางชลประทานเคยมาขุดและขุดออกไม่หมด เมื่อน้ำท่วมตะกอนจากคลอง ร.1 มาทับถมซ้ำอีก ทำให้ตื่นเขินอีก แต่ถ้ามีการขุดลอกอาจจะทำให้ดีขึ้น ปลาก็จะได้เจริญเติบโต ขยายพันธุ์ได้มากขึ้น ทั้งนี้ มีที่สาธารณะอยู่ประมาณกว่า 100 ไร่ คงจะเป็นที่ทิ้งตะกอนที่ขุดขึ้นมาได้ ส่วนค่าชดเชยไม่มีต้องมีค่าชดเชยเพราะไม่ได้รับผลกระทบจากส่วนนี้
ผู้ใหญ่บ้าน ม.7 อ.บางกล่ำ กล่าวว่า อยากเตือนเรื่องขุดลอก ที่เคยขุดมาแล้วที่บ้านท่าเมร ความกว้าง 20 เมตร ตอนนี้แคบมากเหลือประมาณ 5 เมตร และตื่นเขินแล้วที่ริมทะเล ชาวประมงเอาเรือออกไปแล้ว กลับเข้ามาไม่ได้ น้ำตื่นเพราะช่วงปากคลองกว้างแต่ปลายทางคือใกล้ถึงทะเลทางกลับแคบลง ก็เห็นใจชาวประมง อีกประการคือเรื่องน้ำท่วม ถ้ามีการต่อคันกลองให้ยาวลงทะเลน้ำจะได้ไม่วนกลับมาท่วม พี่น้องเกษตรที่ปลูกข้าวได้รับความเสียหายหมด เพราะฉะนั้นอยากเสนอว่า ควรจะมีแก้มลิงที่ท่าช้าง จะได้ลดปริมาณน้ำลงได้
ปิดท้ายด้วย อ.จรูญ รองผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ ในฐานะฝ่ายประชาสัมพันธ์โครงการ ได้เชิญชวนให้ชาว อ.บางกล่ำ ร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งใน วันที่ 21 มี.ค.55 ที่ ม.ทักษิณ ตึกที่ 15 ชั้น 4 ห้อง 15403 เริ่มเวลา 08.30 น. โดยมีผู้ว่าราชการมาเปิด มาร่วมแรกเปลี่ยนกันทั้ง 5 อำเภอ ของ จ.สงขลา เพื่อจะได้ฟังความคิดเห็นจากพี่น้องในอำเภออื่นทั้ง 5 อำเภอด้วย