xs
xsm
sm
md
lg

“คนสิงหนคร” หนุนขุดลอกแบบผสมทั้งชายฝั่งและกลางทะเลสาบสงขลา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ชาวสิงหนคร 70% สนับสนุนจัดทำแผนแม่บทขุดลอกทะเลสาบสงขลานำไปสู่การปฏิบัติจริง เพื่อประโยชน์ใช้สอยในส่วนรวม โดยให้นำแนวทางการขุดลอกที่เคยศึกษาทิ้งไว้ของชาวบ้าน และกรมเจ้าท่ามาปรับปรุงทำร่วมกัน ซึ่งเป็นการการขุดลอกร่องน้ำเส้นหลัก และเส้นรองเพื่อให้รับน้ำจาก 5 อำเภอลงสู่อ่าวไทยได้ดีขึ้น

วันนี้ (27 ก.พ.) เวลา 09.00-12.00 น.ณ ศาลาอเนกประสงค์ ที่ว่าการอำเภอสิงหนคร จ.สงขลา เวลา 09.00-12.00 น.มหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมกับ กรมเจ้าท่าและกลุ่มที่ปรึกษา ประกอบด้วย สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, บริษัท ซีสเปคตรัม จำกัด และบริษัท เอส ที เอส เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด จัดเวทีเสวนาการมีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็น เพื่อจัดทำแผนแม่บทการขุดลอกเพื่อพัฒนาและฟื้นฟูทะเสลาบสงขลาตอนล่าง

ทั้งนี้ เวทีดังกล่าวได้ตระเวนพูดคุยกับชาวบ้านใน 5 อำเภอรอบทะเลสาบสงขลาตั้งแต่ปี 2554 ที่ผ่านมา ประกอบด้วย เมืองสงขลา, หาดใหญ่, สิงหนคร, บางกล่ำ และ ควนเนียง อำเภอละ 3 ครั้ง รวมเป็น 15 ครั้ง ในระยะเวลา 2 ปี นำโดย รศ.ดร.ประมาณ เทพสงเคราะห์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยทักษิณ และประธานโครงการและประธานคณะทำงานด้านการมีส่วนร่วมโครงการทำแผนแม่บทฯ, ดร.ปริญญา นุตาลัย ผู้จัดการโครงการ และ นายจรูญ หยูทอง รองผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดี มหาวิทยาลัยทักษิณ และหนึ่งในทีมประชาสัมพันธ์โครงการ

ดร.ปริญญา นุตาลัย ผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า จากที่มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นอย่างต่อเนื่องใน 5 อำเภอรอบทะเลสาบสงขลานั้น ภายหลังจากที่มีการสำรวจความคิดเห็นผ่านแบบสอบถาม พบว่าใน อ.สิงหนคร มีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นจำนวน 228 คนมากที่สุดใน 5 อำเภอ

โดยผลการสำรวจนั้นชี้ให้เห็นว่า สาเหตุทะเลสาบตื้นเขินส่วนใหญ่เกิดจากหน้าดินถูกน้ำฝนพัดพาไหลลงสู่ทะเลสาบ น้ำกัดเซาะดิน มีการสร้างถนน รุกป่าชายเลน เลี้ยงปลาในกระชัง และเห็นว่าควรมีการขุดลอก 70% ด้วยประโยชน์หลายประการ เช่น ความสะดวกด้านการคมนาคม ช่วยให้ระบบนิเวศดีขึ้น แก้ปัญหาน้ำท่วม เป็นต้น

ส่วนอีก 30% ไม่เห็นด้วยและควรปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ สำหรับความกว้างและความลึกของร่องน้ำที่จะมีการขุดลอกนั้น ส่วนใหญ่ชี้ว่าร่องน้ำควรจะกว้าง 50 เมตร ลึก 5 เมตร ซึ่งนักวิชาการจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปวิเคราะห์อีกชั้นหนึ่ง เพราะขึ้นอยู่กับความแข็งอ่อนของดินที่ต้องให้วิศวกรรมเข้ามาศึกษาว่ามีความเหมาะสมแค่ไหน และต้องคำนึงถึงตะกอนที่เกิดขึ้นระหว่างดำเนินการด้วยว่าจะกำจัด ป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร

ดร.ปริญญา กล่าวต่อด้วยว่า การขุดลอกทะเลสาบนั้นจะเกี่ยวข้องกับ 3 โครงการที่สรุปแนวทางการขุดลอกทะเลสาบไว้ก่อนแล้ว คือ ร่องน้ำที่ชาวบ้านร่วมกันออกแบบ, ร่องน้ำทางเดินทางทะเลสาบที่ออกแบบโดยสำนักงานเจ้าท่าและศูนย์รักษาร่องน้ำสำรวจเมื่อปี 2547 ซึ่งกรมเจ้าท่ามีความคุ้นเคยกับการขุดลอกร่องน้ำพอสมควร จึงรู้ว่าส่วนไหนเป็นตะกอน ขุดได้ไม่ได้อย่างไร และสุดท้ายคือจากคำพูดที่ว่าให้ขุดลอกตามแนวร่องน้ำเดิม

ด้าน นายสนั่น ลิ้มวิวัฒน์กุล ข้าราชการบำนาญ อดีตหัวหน้ากลุ่มบริหารจัดการด้านประมง จ.สงขลา กล่าวว่า โดยปี 2547 รัฐบาลสั่งให้เปิดเวทีสำรวจความคิดเห็นรอบทะเลสาบว่าจะขุดลอกร่องน้ำกันอย่างไร และตนได้มีส่วนร่วมในการจัดเวทีหาข้อสรุปนั้น ได้ข้อคิดว่า ในทะเลสาบสงขลาต้องมีร่องน้ำที่เหมือนซุปเปอร์ไฮเวย์ หรือซุปเปอร์คลองประมาณ 20 กม. และแยกเป็นถนนตามหมู่บ้าน ทางย่อย มีคลองแยกย่อยเพื่อให้น้ำจากที่ต่างๆ ได้ไหลลงสู่ทะเลสาบระบายสู่อ่าวไทยได้โดยง่าย และไม่เกิดน้ำท่วม

ส่วนเส้นที่เลียบขอบทะเลสาบซึ่งซอยเส้นทางระบายน้ำได้เร็วขึ้นอีกด้านหนึ่งนั้น นายธำรง เจริญกุล อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้ทำเรื่องของบประมาณรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กว่า 1,300 ล้าน เป็นงบสำหรับการจ่ายบรรเทาความเดือดร้อนของชาวประมงประมาณ 50 ล้านบาท แต่โครงการก็ไม่สามารถดำเนินขึ้นได้

ในส่วนของผู้เข้าร่วมประชุมได้ร่วมเสนอให้ว่า 2 แบบในนั้นเกิดขึ้นจากประชาชนเป็นผู้ร่วมออกแบบอย่างแท้จริง ดังนั้น หากเป็นไปได้จึงควรนำทั้ง 2 แบบมาปรับปรุงและผสมผสาน เพื่อให้การขุดลอกคูคลองครั้งนี้เกิดขึ้นจริงเสียที เพราะที่บอกว่ากรมเจ้าท่าเป็นผู้ออกแบบ ชาวบ้านก็รับรู้และมีส่วนร่วมด้วย ส่วนขี้เลนมาถมตลิ่งเพื่อทำเป็นป่าชายเลน ซึ่งคาดว่าจะแปรสภาพได้ภายใน 2 ปี

ส่วนการแก้จัดระเบียบเครื่องมือประมงในทะเลนั้น เห็นด้วยว่าควรจะต้องมี และเสนอว่าให้หยุดการทำประมงช่วงดำเนินงาน และกลับมาประกอบอาชีพอีกครั้งเมื่อขุดลอกทะเลเรียบร้อยแล้วได้หรือไม่ โดยจะจ่ายค่าทำขวัญระหว่างที่ประกอบอาชีพได้หรือไม่นั้น อยากให้คณะศึกษายึดหลักความยุติธรรมช่วยเหลือผู้เดือดร้อนอย่างแท้จริง เพราะอย่ายึดจำนวนเสียงส่วนใหญ่และจะเกิดควาไม่เป็นธรรม เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่บางอำเภอนั้นไม่ได้เลี้ยงปากท้องด้วยอาชีพประมงจึงไม่เห็นด้วยที่จะช่วยเหลือชาวประมง เห็นได้ชัดเจนจากการเปิดเวทีเมื่อปี 2547 จำนวน 36 เวทีซึ่ง 33 เวทีเห็นว่าไม่ควรชดเชย แต่นั่นคือ ความไม่เป็นธรรมที่เกิดจากเสียงคนส่วนใหญ่มอบให้แก่ชาวประมง

สุดท้าย เวทีการเสวนาได้รับฟังประเด็นเพิ่มเติมอื่นๆ จากโครงการจัดทำแผนแม่บท โดยที่ประชุมแสดงความเห็นว่า ขณะนี้เมืองหาดใหญ่มีแผนป้องกันน้ำท่วม เพื่อระบายลงสู่ทะเลสาบสงขลาและอ่าวไทยได้เร็วขึ้น ส่วนหนึ่งจากการขุดคลองระบายน้ำเพิ่ม และขุดวางท่อน้ำบนถนนลพบุรีราเมศวร จึงเสนอว่า แทนที่จะเอาทะเลสาบเป็นแก้มลิงนั้น ขอให้มีการชะลอน้ำโดยทำแก้มลิงบนบกด้วย เพื่อลดผลกระทบด้านตะกอนที่จะเกิดขึ้นกับพี่น้องชาวประมงชายฝั่งที่มีการเพาะเลี้ยงปลา

เรื่องนี้ ดร.ปริญญา ให้ความเห็นว่า การแก้ปัญหาเช่นนี้เป็นการย้ายปัญหาของเมืองหาดใหญ่มาท่วมทะเลสาบสงขลาแทน ทำไมไม่ระบายออกทะเลโดยตรง และฝากข้อคิดกับทุกฝ่ายว่า ให้ทุกพยายามเข้าใจกฎเกณฑ์กติกา และถ้อยทีถ้อยอาศัย อย่าตั้งแง่ในเรื่องกฎหมาย มิฉะนั้นแล้วโครงการก็จะเกิดไม่ได้ และไม่เกิดประโยชน์ใดๆ กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง















กำลังโหลดความคิดเห็น