xs
xsm
sm
md
lg

ชาวควนเนียงหนุนเยียวยาประมงก่อนขุดลอกทะเลสาบสงขลา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจรูญ หยูทอง ทีมประชาสัมพันธ์กำลังทำความเข้าใจกับชาวบ้านถึงแนวทางการทำงาน
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ชาวควนเนียง เห็นประโยชน์การขุดลองทะเลสาบสงขลาได้มากกว่าเสีย สนับสนุนให้นำรูปแบบการขุดลอกตามชาวสิงหนครเป็นทางเลือกสู่เวทีการทำประชาคมระดับจังหวัดอีกครั้ง 21 มี.ค.นี้ แนะรัฐหาแนวทางช่วยเหลือชาวประมงที่จะได้รับผลกระทบจากการไม่สามารถประกอบอาชีพได้ระหว่างดำเนินการ

วันนี้ (4 มี.ค.) เมื่อเวลา 09.30-12.30 น.ณ ที่ทำการชมรมรักชาติไทย (แทนศาลาประชาคม) อ.ควนเนียง จ.สงขลา มหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมกับ กรมเจ้าท่าและกลุ่มที่ปรึกษา ประกอบด้วย สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, บริษัท ซีสเปคตรัม จำกัด และบริษัท เอส ที เอส เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด จัดเวทีเสวนาการมีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็น เพื่อจัดทำแผนแม่บทการขุดลอกเพื่อพัฒนาและฟื้นฟูทะเสลาบสงขลาตอนล่างท่ามกลางผู้เข้าร่วมกว่า 60 คน

นายจรูญ หยูทอง ทีมประชาสัมพันธ์ กล่าวแนะนำคณะทีมงาน และชี้ให้เห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการทำแผนแม่บทขุดลอกทะเลสาบ ว่า เพื่อประโยชน์ของทุกคนที่เป็นเจ้าของพื้นที่ร่วมกัน ซึ่งรัฐธรรมนูญก็ได้ให้สิทธิรับรองไว้ด้วย ดังนั้น การรับฟังความคิดเห็นของทุกคนจึงเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วม และได้รับข้อมูลที่หลายหลายเพื่อการแลกเปลี่ยนความเห็นต่อไป

ศ.ดร.ปริญญา นุตาลัย ผู้จัดการโครงการ กล่าวถึงความคืบหน้าขอผลวิเคราะห์แบบสอบถามใน 3 ตำบลของ อ.ควนเนียง ว่า มีผู้ร่วมตอบแบบสอบถาม 155 คน ซึ่งมากเป็นอันดับ 2 รองจาก อ.สิงหนคร พบว่าส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงเป็นหลัก รองลงมาคือเกษตรกร รับจ้างทั่วไป ข้าราชการ พนักงาน-ลูกจ้างเอกชน นักธุรกิจ และอื่นๆ ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การดูแลเขตทะเลสาบและใช้ประโยชน์ทิศตะวันตกซึ่งติดพื้นที่ อ.ควนเนียง นั้น ชาวบ้านต้องให้ความสำคัญและมีส่วนร่วมให้มากที่สุด

สำหรับปัญหาและอุปสรรคในการสัญจรทางน้ำในทะเลสาบสงขลา ชาวบ้านให้ความเห็นว่ามี 7 ประเด็น คือ น้ำทะเลตื้นเขิน, อุปกรณ์ประมงกีดขวางทางน้ำ, ทำอาชีพประมงมากเกินไป ไม่เป็นระเบียบ, น้ำลึกและคลื่นลมแรง, ใช้เรือหางยาวสัญจรทางน้ำ, ก่อสร้างอาคารยื่นลงทะเลมากเกินไป และไม่มีร่องน้ำที่ทำให้เรือสัญจรชัดเจน

โดยสาเหตุของการตื้นเขินและคุณภาพน้ำที่เสื่อมโทรมนั้น จากแบบสอบถามชี้ว่า พื้นดินริมฝั่งถูกน้ำกัดเซาะแล้วไหลสู่ทะเลสาบ, หน้าดินถูกน้ำฝนพัดพาไปแล้วไหลลงทะเลสาบ, การเลี้ยงปลาในกระชัง, การบุกรุกป่าชายเลน, สร้างถนนและสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ, สร้างที่พัก และน้ำที่เสื่อมคุณภาพลงมาจากน้ำที่ระบายจากโรงงานอุตสาหกรรม, ชุมชน, กิจกรรมทางเกษตร, กิจการท่าเรือ, ประมง, การท่องเที่ยวทางเรือ
ศ.ดร.ปริญญา นุตาลัย ชี้แนวการขุดลอกทะเลสาบที่ชาวสิงหนครได้ลงฉันทามติ เช่นเดียวกับ อ.ควนเนียง โดยจะนำไปร่วมทำประชาคมจังหวัดเร็วๆ นี้ ก่อนที่จะออกแบบหากได้รับความเห็นชอบจากเสียงส่วนใหญ่
ดังนั้น ผู้ตอบแบบสอบถาม 70.13% เห็นว่า ควรมีการขุดลอกทะเลสาบสงขลา เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศและแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำมากที่สุด รองลงมาคือประโยชน์ต่อประมง เรือท่องเที่ยว การคมนาคมขนส่ง ช่วยระบายน้ำ และหากขุดลอกควรจะมีตำแหน่งที่แตกต่างกันไปในแต่ละตำบล ระยะห่างจากฝั่งตั้งแต่ 500-1,000 เมตร

ส่วนอีก 29.87% เห็นว่า ไม่ควรขุด แต่ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ขยายที่ทำกิน และโฮมสเตย์ให้ประชาชน ขยายพื้นที่ป่าชายเลน-ป่าพรุ และเป็นแก้มลิงรับน้ำท่วม

ศ.ดร.ปริญญา กล่าวต่อถึงรูปแบบการขุดลอกทะเลสาบสงขลา ว่า ที่ผ่านมา สำนักเจ้าท่าที่ 4 และศูนย์ขุดลอกร่องน้ำ จ.สงขลา ออกแบบและขุดลอกปากคลองต่างๆ อีก 20 แห่ง ซึ่งเป็นงานของกรมชลประทาน โดยใช้แบบสอบถามที่กรมประมงสำรวจไว้เมื่อปี 2547 ตนจึงนำรูปแบบทั้ง 2 นี้ไปสอบถามชาวบ้านในเวทีต่างๆ ที่ผ่านมา จึงรวมเป็นรูปแบบที่เป็นฉันทามติจากการประชุมประชาคมสิงหนคร โดยมีการปรับระยะห่างจากปากคลองมากขึ้นเพื่อเลี่ยงตะกอน

ในประเด็นนี้ นายไสว หมานระโต๊ะ ชาวบ้าน ม.3 บ้านภูมิ ต.รัตภูมิ อ.ควนเนียง กล่าวโต้แย้งว่า การที่จะตัดสินใจว่าจะใช้รูปแบบการขุดลอกทะเลสาบแบบใดนั้น ยังเป็นเรื่องยาก เพราะชาวบ้านยังไม่เข้าใจและไม่มีข้อมูลเพียงพอ และเชื่อว่า ชาวบ้านที่กรอกแบบสอบถามอีกหลายคนก็ไม่ได้เข้าใจทั้งหมด แม้ว่าผลสำรวจจากแบบสอบถามเสียงส่วนใหญ่จะขอให้มีการขุดลอก

อย่างไรก็ตาม เมื่อลงมติโดยการยกมือแล้ว เสียงส่วนใหญ่สนับสนุนให้ใช้รูปแบบการขุดที่ผ่านการระดมความคิดเห็นที่ได้รับฉันทามติจากการประชุมประชาคมใน อ.สิงหนคร โดยจะนำไปสู่การทำประชาคมในระดับจังหวัดสงขลาในวันพุธที่ 21 มีนาคมนี้ ที่มหาวิทยาลัยทักษิณ

ศ.ดร.ปริญญา ยังถามต่อถึงแนวทางการจัดการเครื่องมือประมงใน อ.ควนเนียง ว่า ควรจะเป็นอย่างไร ซึ่งการเปิดเวทีในช่วงแรกๆ นั้น ชาวประมงออกมาเรียกร้องค่าชดเชยเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อพิจารณาถึงหลักเกณฑ์ที่ ครม.พิจารณาใหม่ว่า พื้นที่ทะเลเป็นที่สาธารณะจึงห้ามชดเชยนั้น ทำให้เวทีต่อๆ มาชาวบ้านเข้าใจมากขึ้น และยินดีที่ให้มีการขุดลอก เพียงแต่ต้องแจ้งก่อนล่วงหน้า

ผู้ใหญ่บ้าน ม.5 ต.ควนโส ได้สอบถามถึงพื้นที่อื่น ซึ่งได้ยินว่าจะมีการช่วยเหลือกลุ่มประมงที่ทำกินไม่ได้ แต่ตนเพิ่งเข้าร่วมประชุมได้ไม่นานจึงอยากทราบข้อเท็จจริงที่ชัดเจนว่าเป็นอย่างไร อีกทั้งเมื่อไม่นานมานี้ได้ยินว่าจะมีการชดเชยในกลุ่มอวนรุนซึ่งผิดกฎหมายเสียด้วยซ้ำ

เช่นเดียวกับเสียงสนับสนุนของชาวบ้านที่ขอให้มีการช่วยเหลือเพื่อให้เกิดความเดือดร้อนในการดำรงชีพ โดย นายอะหมัด โต๊ะหมัด กล่าวว่าการขุดลอกจะกระทบต่อชาวประมงที่ลงทุนเป็นเงินหลายหมื่นบาท จึงควรมีการชดเชยเครื่องมือประกอบอาชีพ

ด้าน นายไสว หมานระโต๊ะ ที่ชี้ว่า สำหรับชาวบ้านนั้นมีทะเลสาบเป็นแหล่งทำมาหากิน จึงไม่ต้องการให้กระทบกับการประกอบอาชีพ หากต้องมีการขุดลอกทะเลสาบ ซึ่งรัฐต้องเข้ามาดูแลเพื่อให้เกิดประโยชน์กับชาวประมงด้วย ส่วนนายล่ำ แสงกล้า ข้าราชการบำนาญ กล่าวเสริมว่า แม้ว่าตนจะไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับกลุ่มอาชีพประมง แต่เห็นควรว่าต้องมีการช่วยเหลือชาวบ้านกลุ่มนี้ ตามจำนวนที่สามารถพิจารณาได้

ศ.ดร.ปริญญา ชี้แจงประเด็นนี้ว่า เรื่องค่าชดเชยนั้นถ้าก็จะผิดมติ ครม.แต่จะมีการผลักภาระให้ผู้รับเหมา โดยนำเงินชดเชยไปใส่ไว้ในมูลค่าโครงการซึ่งจะทำให้มูลค่าโครงการสูงขึ้น แต่ปริมาณการทำงานน้อยลงด้วยการจ่ายค่าชดเชย หรือบางครั้งก็ต้องชดเชยใต้โต๊ะ และเป็นช่องโหว่ให้เครื่องมือประมงผุดขึ้นเพื่อรับเงินส่วนนี้ ท้ายที่สุดโครงการนี้ก็อาจจะพัฒนาต่อไปไม่ได้เช่นเดิม จึงต้องคิดทั้งสองด้าน

เพราะสุดท้ายการพัฒนาก็ไม่เกิดขึ้น ประชาชนก็ไม่ได้ประโยชน์จากการใช้ทะเลสาบที่มีการปรับปรุง และต้องดูภาพรวมของประเทศด้วย เพราะหากต้องมีการชดเชยการทำประโยชน์ในพื้นที่สาธารณะ ปัญหาก็จะไม่จบเพราะความโลภ และให้ลองพิจารณาดู และหากเสียงของที่นี้ต้องการให้ชดเชยแล้ว ก็ต้องเรียกร้องการแก้มติ ครม.ปี 48 หรือเลี่ยงคำว่าชดเชยและเวนคืนไปใช้คำอื่นที่ไม่ขัดกฎหมาย เช่น ค่ารื้อถอน

สำหรับประเด็นดินที่ได้จากการขุดลอกจำนวน 20 ล้านคิวนั้น ศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า เวทีที่ผ่านมาเสนอให้ทิ้งในที่เอกชนที่มีเจ้าของ และที่สาธารณประโยชน์ แต่ดินเป็นของหลวงต้องมีการทำสัญญากัน โดยเฉพาะที่ อ.ควนเนียง มีที่สาธารณะนับหมื่นไร่ แต่ประกาศเขตสาธารณะไม่ได้เพราะมีการบุกรุก ต้องนำเรื่องขึ้นศาลให้เสร็จสิ้นก่อนซึ่งใช้เวลานาน

ด้านที่ประชุมเสนอให้ทิ้งดินที่ปากบาง-ภูมี มีแหล่งท่องเที่ยวซึ่งสามารถทิ้งดินนี้ได้ ซึ่ง อบต.เป็นผู้ดูแล แม้ว่ากรมเจ้าท่าจะถมให้แล้วแต่ก็ยังมีความต้องการอีก อีกจุดหนึ่งหลังป้อมตำรวจใกล้บ้านนายปราโมทย์ กาฬสินธุ์ ประมาณ 50 ไร่

นายดิษฐ์ เพชรปาน อนุคณะกรรมการลุ่มน้ำฯ กล่าวว่า ทะเลเป็นที่สาธารณะ การขุดลอกจึงต้องประสานกับทุกฝ่าย และการพัฒนาต้องยอมเสียสละส่วนใดส่วนหนึ่ง เพื่อให้ส่วนรวมได้รับประโยชน์ร่วมกัน

ทั้งนี้ สำหรับประชามติของชาวควนเนียงต่อรูปแบบการขุดลอก และความคิดเห็นอื่นๆ จะมีการนำไปร่วมเวทีประชาคมร่วมจัดทำแผนแม่บทการขุดลอกทะเลสาบสงขลาตอนล่างในระดับจังหวัด ซึ่งเป็นการรวมความคิดเห็นในพื้นที่ 5 อำเภอของ จ.สงขลา ในวันที่ 21 มีนาคม 2554 ตั้งแต่เวลา 08.30-12.30 น.ณ ห้องประชุม 15403 ชั้น 4 อาคารเรียน 15 มหาวิทยาลัยทักษิณ อ.เมือง จ.สงขลา และภายหลังจากนั้นจะดำเนินการสู่ขั้นตอนการออกแบบ และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม

กำลังโหลดความคิดเห็น