ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ชาว อ.หาดใหญ่เสนอแนะผ่าน “เวทีประชาคมเพื่อร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการกำหนดพื้นที่ร่องน้ำที่จะขุดลอก” ระบุชัดขอให้โครงการศึกษาแผนขุดลอกทะเลสาบสงขลาต้องทำตามความต้องการของประชาชน ตอกย้ำต้องชดเชยผู้ประมง และหาอาชีพทดแทนหากไม่สามารถกลับไปทำได้
วันนี้ (26 ก.พ.) ณ ลานริมทะเลสาบสงขลา ภายในโรงเรียนบ้านบางลึก ม.2 บ้านบางโหนด ต.คูเต่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 5 หน่วยงานที่กรมเจ้าท่าว่าจ้างให้ดำเนิน “โครงการงานศึกษาเพื่อจัดทำแผ่นแม่บทการขุดลอกเพื่อพัฒนาทะเลสาบสงขลาตอนล่าง” ประกอบด้วย สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บริษัท ซี สเปคตรัม จำกัด มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ และบริษัท เอสทีเอส เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลเตนท์ จำกัด ได้ร่วมกันจัดเวที “ประชาคมเพื่อร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการกำหนดพื้นที่ร่องน้ำที่จะขุดลอก” ระหว่างเวลา 10.00-12.30 น.โดยมีประชาชนเข้าร่วมประมาณ 100 คน
รศ.ดร.ประมาณ เทพสงเคราะห์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ ในฐานะผู้รับผิดชอบด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน เปิดเผยว่า โครงการนี้ครอบคลุมพื้นที่ 5 อำเภอของ จ.สงขลา และจะมีการจัดเวทีย่อยในลักษณะนี้อำเภอละ 3 ครั้ง ครั้งนี้ถือเป็นหนแรกของ อ.หาดใหญ่ ซึ่งคณะที่ปรึกษาจะใช้เวลาดำเนินงานศึกษาทั้ง 2 ปีจึงแล้วเสร็จ
ศ.ดร.ปริญญา นุตาลัย จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ในฐานะผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า จากการวิเคราะห์แบบสอบถามที่โครงการทำขึ้นแล้วให้ประชาชนรอบๆ ทะเลสาบสงขลาตอนล่างทั้ง 5 อำเภอตอบกว่า 700 ชุด พบว่า มีผู้เห็นด้วยให้มีการขุดลอกทะเลสาบร้อยละ 70 ไม่เห็นด้วยร้อยละ 30 โดยในประเด็นเรื่องการขุดลอกจากระยะห่างของฝั่งส่วนใหญ่บอกว่าควรอยู่ที่ 200-300 ม. ทั้งนี้ฝั่งตะวันตกตะกอนดินจากคลองพัดมาเยอะมาก ถ้าจะขุดให้ใช้ได้นานๆ ก็ต้องขุดห่างฝั่งให้มากหน่อย
ส่วนเรื่องความกว้างและความลึกส่วนใหญ่อยากให้ขุดลึกๆ เพราะจะได้ตื้นช้า หลายคนแนะนำว่าให้ขุดห่างจากฟาร์มทะเลออกไป ส่วนสถานที่ในการทิ้งตะกอนดินก็ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ส่วนใหญ่ก็อยากให้ทิ้งดินในพื้นที่สาธารณประโยชน์ ตอนนี้มีแนวการขุดมี 2 แบบที่สรุปได้จากแบบสอบถามของชุมชน แบบแรกเป็นการขุดเลียบแนวฝั่งทะเลสาบ กับอีกแบบหนึ่งคือขุดห่างจากชายฝั่งออกมาเป็นแนวเส้นเดียวกัน
สำหรับผลสรุปของเวทีการมีส่วนร่วมของประชาคมชาว อ.หาดใหญ่ ครั้งนี้ มีประเด็นสำคัญประกอบด้วย ขอให้การขุดลอกเป็นไปตามความต้องการของชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ แถบ ต.คูเต่าถ้าขุดลอกห่างจากฝั่ง 200-300 ม.จะไปชนกับหาดที่ห่างจากชายฝั่งไปไม่มาก และเมื่อมีการขุดลอกก็ต้องแจ้งชาวบ้านทราบล่วงหน้า อีกทั้งต้องมีการชดเชยผู้มีอาชีพประมง รวมถึงหาอาชีพทดแทนสำหรับผู้ที่ไม่สามารถกลับไปทำประมงได้อีก มีชาวบ้านบางส่วนพร้อมที่จะยอมให้ทิ้งตะกอนดินในพื้นที่ของตัวเอง ขณะที่มีผู้เสนอให้เอาไปถมริมฝั่งแบบกั้นเป็นเขื่อน แล้วทำเป็นพื้นที่ปลูกป่าชายเลน
นอกจากนี้ ในเวทียังมีการเสนอให้ชาวบ้านทั้ง 12 ชุมชนใน ต.คูเต่า ร่วมมือร่วมใจกันทำข้อตกลงเพื่อที่จะดูแลกันเอง แล้วออกเป็นสัญญาประชาคม อาจจะดำเนินการไปสู่รูปแบบของสภาองค์กรชุมชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งและอำนาจต่อรอง ซี่งไม่ควรหวังพึ่งระบบราชการหรือนักการเมืองอย่างเดียว แม้ที่ผ่านมาจะเคยมีการรวมตัวกันเป็นสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงทะเลสาบสงขลามาแล้ว แต่องค์กรนั้นก็ไม่ค่อยมีบทบาทเท่าใดนัก
ด้าน นายจรูญ หยูทอง รองผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ ในฐานะฝ่ายประชาสัมพันธ์โครงการ กล่าวว่า ทุกเวทีก็มีปัญญาเรื่องการมีส่วนร่วมคล้ายๆ กัน คือคนทั้งหมู่บ้านมีกี่คน และเข้ามาร่วมเวทีนี้กี่คน และคนที่เข้ามาแล้วมีคนที่พูดในเวทีกี่คน ดังนั้นในโครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้นประชาชนต้องแสดงความคิดเห็นให้มากที่สุด เพราะเป็นเรื่องของคนในชุมชนเอง ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของชุมชนนั้นจะเกิดได้ก็เนื่องจากการเรียกร้องของคนในพื้นที่เท่านั้น