ชุมพร - ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร นำเจ้าหน้าที่ทหารกองกำลังป้องกันชายแดน พร้อมคณะกรรมาธิการฯ สภาผู้แทนราษฎร ขึ้นบินพิสูจน์ข้อเท็จจริง กรณีชาวบ้านร้องเรียนทหารกับป่าไม้ เผาบ้าน ทำลายทรัพย์สิน และกรณีประเทศพม่าร้องเรียนยูเอ็น กล่าวหาราษฎรไทยบุกป่ารุกล้ำข้ามเขตแดน แฉมีนายทุนว่าจ้างแรงงานต่างด้าวบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า
ที่ค่ายชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จังหวัดทหารบกชุมพร (จ.ทบ.ชุมพร) พ.ท.โกศล พันธุรัตน์ ผู้บังคับอากาศยานกองบินปีกหมุนที่ 2 ศูนย์การบินทหารบก พ.ต.ฐิระรัตน์ แก้วกระบิน นักบิน ได้นำเฮลิคอปเตอร์นำคณะของนายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร พ.อ.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ ผบ.หน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารราบที่ 25 กองกำลังป้องกันชายแดนไทย–พม่า ค่ายเทพสตรี นายสุวโรช พะลัง ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแก้ปัญหาที่ดินทำกิน สภาผู้แทนราษฎร พร้อมผู้ที่เกี่ยวข้องขึ้นบินสำรวจพื้นที่แนวรอยต่อพื้นที่ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร กับ อ.กระบุรี จ.ระนอง ซึ่งเป็นพื้นที่แนวชายแดนไทย-พม่า โดยใช้เวลาบินประมาณ 1 ชั่วโมง
จากนั้น คณะทั้งหมดได้ลงสำรวจพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเสด็จในกรม กรมหลวงชุมพรด้านทิศเหนือ (ตอนล่าง) บ้านสะตงบน ม.20 ต.รับร่อ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร พบว่า มีพื้นที่ป่าหลายจุดถูกทำลายแผ้วถาง ไม้ใหญ่ถูกตัดโค่นไปจำนวนมาก จนเตียนโล่งรวมพื้นที่กว่า 20,000 ไร่ บางแห่งมีการปลูกปาล์ม ปลูกกาแฟทิ้งไว้ นอกจากนั้นจากการสำรวจบริเวณป่าพรุชิง ที่มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ พบว่ามีสิ่งปลูกสร้างใช้เป็นที่พักแรมของแรงงานต่างด้าว แต่ไม่มีผู้ใดอยู่ เนื่องจากได้ไหวตัวหลบหนีไปก่อนหน้าเจ้าหน้าที่เข้าถึงพื้นที่ จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่พบซากลิงเสน 2 ตัว และค่างแว่น 2 ตัว ที่เพิ่งถูกยิงเลือดยังไหลสดๆ มากองทิ้งไว้ภายในที่พักเพื่อเตรียมทำเป็นอาหาร และจำหน่ายให้แก่แรงงานต่างด้าวด้วยกัน เจ้าหน้าที่จึงตรวจยึดไว้เป็นหลักฐาน
ทั้งนี้ พบว่าพื้นที่ที่ถูกทำลายประกอบด้วย บริเวณพิกัด MM ๙๖๙๕, MM ๙๗๙๕, MM ๙๘๙๕, MM ๙๙๙๕, MM ๙๙๙๖, MM ๙๘๙๖ และ MM ๙๗๙๖ ทั้งหมดอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเสด็จในกรม กรมหลวงชุมพรด้านทิศเหนือ (ตอนล่าง) บ้านสะตงบน ม.20 ต.รับร่อ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีลักษณะเป็นสันเขาตามแนวชายแดนคาบเกี่ยวกับสหภาพพม่า
จากนั้นคณะได้เดินเท้าผ่านแม่น้ำลำธาร และภูเขาที่ค่อนข้างชันระยะทางกว่า 5 กิโลเมตร โดยมีชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าวกว่า 100 คนมารวมตัวเพื่อร้องทุกข์ขอความเป็นธรรม โดยอ้างว่าทหารและเจ้าหน้าที่ป่าไม้บุกเข้าไปยึดเผาทำลายผลอาสิน บ้านเรือน พร้อมขโมยทรัพย์สินไปจำนวนมาก ทำให้ได้รับความเดือดร้อน
นางอุไรวรรณ เขมมารัตน์ อายุ 55 ปี อยู่บ้านเลขที่ 35 ม.20 ต.รับร่อ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร กล่าวว่า ตนเอง และชาวบ้าน ในพื้นที่คลองกะใน กว่า 200 ครัวเรือน ได้ปลูกพืชผลทางการเกษตรมากว่า 10 ปี จนพืชผลทางการเกษตรออกดอกออกผลมาแล้วหลายปี ที่ผ่านมาขาดความมั่นใจในหน่วยของรัฐว่าจะช่วยเหลือจึงร้องเรียนไปยัง ส.ส.ซึ่งพอผู้เกี่ยวข้องมาดูพื้นที่แล้วก็ต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง แม้ว่า ผลจะออกมาอย่างไรก็ต้องสู้ต่อไป โดยผ่านนักการเมืองที่เป็นตัวแทนของเรา เพราะพวกเรายืนยันว่าเข้ามาทำกินโดยสุจริต
ด้าน พ.อ.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ ผบ.หน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารราบที่ 25 กองกำลังป้องกันชายแดนไทย-พม่า ค่ายเทพสตรี ได้ชี้แจงกับชาวบ้านที่เข้าร้องทุกข์ต่อนายสุวโรช พะลัง ประธานกรรมมาธิการวิสามัญพิจารณาแก้ปัญหาที่ดินทำกิน สภาผู้แทนราษฎรว่า ทหาร และเจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้าไปเผาทำลายบ้านเรือนของประชาชนนั้น ยืนยันว่าเป็นการเข้าใจผิด เนื่องจากที่ผ่านมาทหารได้สนธิกำลังกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปในพื้นที่ เพื่อดำเนินการรื้อถอนนั้น
เป็นที่พักของแรงงานต่างด้าวที่เข้ารับจ้างแผ้วถางตัดไม้ทำลายป่า และปลูกพืชผลทางการเกษตรให้กับกลุ่มนายทุนที่เข้าไปยึดครองที่ดินบริเวณป่าสงวนดังกล่าว ซึ่งแรงงานต่างด้าวชาวพม่าได้ปลูกสิ่งก่อสร้างไว้เป็นที่อยู่อาศัย ตามบริเวณแนวเขตชายแดนไทย-พม่า และมีแรงงานต่างด้าวส่วนหนึ่ง เข้ามาปลูกสร้างไว้เป็นที่พักแรม สำหรับหลบซ่อนเพื่อรอช่วงจังหวะลักลอบหนีเข้าเมือง ส่วนทรัพย์สินบางอย่างที่ต้องนำไป เพราะต้องตรวจยึดไว้เป็นของกลางในการดำเนินคดี โดยเฉพาะที่ผ่านมา อ.ท่าแซะ เป็นพื้นที่ประกาศกฎอัยการศึก ดังนั้นทหารจึงมีอำนาจเต็ม
นอกจากนั้น ทางการทหารพม่ายังได้ประท้วงต่อทางการไทยว่า มีราษฎรไทยบุกรุกแผ้วถางป่ารุกล้ำเข้าไปในเขตแดนของประเทศพม่าจำนวนมากด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิสูจน์ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย แต่ในส่วนที่เป็นพื้นที่ของประเทศไทย ป่าที่ถูกทำลายไปได้ตรวจยึดกลับคืนมาทั้งหมด เพื่อปลูกป่าถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสนองพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
ด้าน นายสุวโรช พะลัง ประธานกรรมมาธิการวิสามัญพิจารณาแก้ปัญหาที่ดินทำกิน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า จากการเข้าพื้นที่ หลังได้รับการร้องเรียนจากประชาชน โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเฮลิคอปเตอร์จากนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพราะการเดินทางค่อนข้างยากลำบากมาก เมื่อลงพื้นที่จริงจึงรู้ว่าต้องจำแนกออกเป็นหลายประเด็นด้วยกัน เช่น
กรณีที่ราษฎรเข้ามาอยู่อาศัยทำกินเกินกว่า 10 ปี ก็ต้องหามาตรการในการช่วยเหลือก่อน คือให้มีสิทธิในผลอาสินแต่ที่ดินยังเป็นของรัฐ ส่วนที่ไม่ถึง 10 ปี ก็ต้องพิจารณาดำเนินการตามกฎหมาย ทั้งนี้ขอให้ประชาชนเปิดข้อเท็จจริงทั้งหมด โดยเฉพาะการได้มาของที่ดิน เพื่อจะได้หาทางออกร่วมกัน ยืนยันที่จะยืนเคียงข้างประชาชน แต่ต้องชอบธรรมตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ต้องขอย้ำว่า พื้นที่ดังกล่าวมีความละเอียดอ่อนมาก เพราะนอกจากจะเป็นแนวชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ยังเป็นพื้นที่ประกาศกฎอัยการศึกด้วย
ขณะที่ นายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมีกรณีทับซ้อนหลายประเด็น เช่น กรณีบุกรุกป่าล่าสุด ซึ่งเป็นพื้นที่คาบเกี่ยวกับชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน เรื่องนี้ต้องให้ทางทหารเข้ามากัน และรักษาพื้นที่ไว้ จากนั้นจะทำเป็น “ชุมพรโมเดล” ร่วมกับกองทัพภาพ 4 ปลูกป่าถวายพระราชินี เพื่อฟื้นคืนสภาพป่า ควบคู่กับการพิสูจน์เขตแดน เพราะประเทศเพื่อนบ้านทำหนังสือประท้วงไปที่องค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นว่า ราษฎรไทยรุกล้ำดินแดนเขา ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ส่วนพื้นที่ที่มีราษฎรเข้ามาทำกินเกินกว่า 10 ปี ตามมติ ครม.ก็ต้องมีการพิสูจน์กัน
โดยขอย้ำว่า ประชาชนมีสิทธิในผลอาสิน แต่ที่ดินยังเป็นของรัฐอยู่สามารถเก็บเกี่ยวผลอาสินได้ แต่ต้องจัดระเบียบจำกัดการเข้าออกพื้นที่เพราะเป็นเขตแนวชายแดนที่ประกาศกฎอัยการศึกอยู่ และต่อไปทหารจะตั้งด่านตรวจเพื่อควบคุมการเข้าออกได้เฉพาะราษฎรที่ขึ้นทะเบียนไว้เท่านั้น