xs
xsm
sm
md
lg

ดูให้เต็มตา! ภาพดินแดนไทยเตรียมยกให้เขมรกับแผนที่ 1 ต่อ 200,000

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ณ บ้านพระอาทิตย์”
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

นักโบราณคดีคนหนึ่งที่เป็นเครือข่ายประชาชนผู้รักชาติและติดตามสถานการณ์กรณีเขาพระวิหารอย่างใกล้ชิด ได้ส่งภาพแผนที่ที่น่าสะเทือนใจยิ่งนัก ที่ได้แสดงให้เห็นว่าหากรัฐบาลยังคงยืนยันใช้แผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 ต่อไป ดินแดนไทยจะสูญเสียตามที่ปรากฏเป็นพื้นที่สีแดงช่วงระเหว่างช่องสะงำถึงช่องบกประมาณ 140 ตารางกิโลเมตร

คิดเปรียบเทียบให้เห็นภาพมากขึ้นเมื่อพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร รอบพื้นที่เขาพระวิหารเท่ากับพื้นที่ประมาณ 3,000 ไร่ ดังนั้นพื้นที่ประมาณ 140 ตารางกิโลเมตรก็คิดเป็นประมาณ 9 หมื่นกว่าไร่

แผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 และเขตแดนที่ฝ่ายกัมพูชาได้พยายามให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศพิพากษานั้น แต่คำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505 ไม่รับแผนที่และเขตแดนตามที่กัมพูชาได้ร้องขอแต่ประการใด

ฝ่ายไทยไม่เคยยอมรับแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 ตลอดระยะเวลา 38 ปี!

แต่ 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลและรัฐสภากลับมายอมรับแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 ซ้ำแล้วซ้ำเล่าหลายครั้ง

2543 สมัยรัฐบาลนายชวน 2 มีการลงนาม MOU 2543 ระหว่างไทย-กัมพูชายอมรับแผนที่ 1 ต่อ 200,000 โดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 2540 มาตรา 224

2544 รัฐบาลทักษิณ 1 ไปลงนามแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา กรณีการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ทางทะเล พร้อมแนบแผนที่ทับซ้อนทางทะเล โดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา (ซึ่งอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 2540 มาตรา 224) พร้อมๆกับการแปรรูป ปตท.หลังจากนั้น 2 เดือนครึ่ง

2546 รัฐบาลทักษิณ 1 ลงนามใน TOR 2546 ระหว่างไทย-กัมพูชา ชัดเจนว่าให้จัดทำการสำรวจและปักปันเขตแดนตามแผนที่ 1 ต่อ 200,000 โดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งก็อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 2540 มาตรา 224 อีกเช่นกัน

2551 รัฐบาลสมัคร ต้องการเอาใจฮุนเซนให้ชนะเลือกตั้งที่กัมพูชา ให้นายนพดล ปัทมะ ลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ยกปราสาทพระวิหารและพื้นที่โดยรอบให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว พร้อมแนบท้ายแผนที่ของฝ่ายกัมพูชา โดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา อันเป็นการขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 190

2551 รัฐบาลนายสมชาย สมาชิกรัฐสภา ซึ่งรวมถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้ผ่านความเห็นชอบกรอบการเจรจาระหว่างไทย-กัมพูชา และเห็นชอบตามบัญชีเอกสาร TOR 2546 และ MOU 2543 อันเป็นการยอมรับ แผนที่ 1 ต่อ 200,000 ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาครั้งแรก

2552 รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เตรียมร่างข้อตกลงชั่วคราวให้ผ่านที่ประชุมรัฐสภาซึ่งระบุการยืนยันอีกครั้งถึงสิทธิและพันธะตาม MOU 2543 และ TOR 2546 ซึ่งหมายถึงให้ยืนยันแผนที่ 1 ต่อ 200,000 อีกครั้งหนึ่งด้วย พร้อมเดินหน้าในการให้ทหารทั้งสองฝ่ายออกจากพื้นที่โดยยังคงให้ชนชาวกัมพูชายึดครองที่ดินต่อไปในระหว่างการเจรจา

คำถามว่าวันนี้เราจะทวงดินแดนของไทยที่ถูกรุกล้ำและยึดครองหรือไม่ และควรจะดำเนินการอย่างไร?

1.รัฐบาลควรแสดงความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหานี้โดยการเป็นเจ้าภาพเอง ด้วยการยื่นต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า MOU 2543 ที่จัดทำในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย แถลงการณ์ร่วมระหว่างไทย-กัมพูชาในเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลปี 2544 และ TOR 2546 ที่ทำขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ มีการอ้างอิงแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 นั้นขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญปี 2540 มาตรา 224 หรือไม่?

ซึ่งมาตรา 224 ในรัฐธรรมนูญบัญญัติเอาไว้ว่า:

“พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่น กับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ

หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตอำนาจแห่งรัฐหรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญา ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา

2.หลังจากดำเนินการตามข้อ 1. แล้ว รัฐบาลไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศต้องทำหนังสือถึงกัมพูชาเพื่อ “ยกเลิก” แถลงการณ์ร่วมระหว่างไทย-กัมพูชาทั้งทางบกและทางทะเล, ยกเลิก MOU ปี 2543, ยกเลิก TOR ปี 2546, ยกเลิกและไม่ยอมรับแผนที่มาตรา 1 ต่อ 200,000 ทำให้มีความชัดเจน โดยอ้างคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

3.ให้รัฐภาไทยแสดงความรับผิดชอบเพิกถอนมติของรัฐสภาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2552 ที่เห็นชอบกับกรอบการเจรจาระหว่างไทย-กัมพูชา ที่เห็นชอบตามบัญชีเอกสาร TOR 2546 และ MOU 2543 อันเป็นการยอมรับ แผนที่ 1 ต่อ 200,000 ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาครั้งแรก พร้อมกับแจ้งยกเลิกกรอบการเจรจากดังกล่าวให้รัฐบาลกัมพูชาได้ทราบ

4.แจ้งองค์การยูเนสโกในเจตนารมณ์ของประเทศไทยคัดค้านการปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนมรดกโลก และห้ามมิให้นำแผนที่มาตรา 1 ต่อ 200,000 มาใช้ในการพิจารณาเนื่องจากขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไทย

5.รัฐบาลต้องเร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์อย่างเร่งด่วนกับประเทศที่เป็นสมาชิกในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ โดยเฉพาะ จีน และรัสเซีย เพื่อให้เป็นหลักประกันและเป็นเสียงหลักในการคัดค้านมิให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมาแทรกแซงก้าวก่ายในเรื่องข้อพิพาทระหว่างดินแดนไทยกับกัมพูชา ในขณะเดียวกันก็ต้องคัดค้านมิให้อาเซียนเข้ามายุ่งเกี่ยวในเรื่องนี้โดยเด็ดขาด

6. เจรจาให้กัมพูชาออกนอกพื้นที่ดินแดนไทยโดยทันที พร้อมกับเชิญธงชาติไทยให้แสดงสัญญลักษณ์ความเป็นอธิปไตยเหนือดินแดนไทย ในพื้นที่รอบเขาพระวิหาร ตรึงกำลังทหารเอาไว้โดยรอบเพื่อป้องกันไม่ให้กัมพูชาได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกสำเร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2553

7.อาศัยกฎอัยการศึก และกฎบัตรสหประชาชาติมาตรา 51 ในการใช้สิทธิในการป้องกันตนเองและผลักดันให้กัมพูชาออกจากดินแดนไทย
โดยมาตรา 51 ในกฎบัตรสหประชาชาติ บัญญัติเอาไว้ว่า

“ไม่มีข้อความใดในกฎบัตรฉบับปัจจุบันอันจักรอนสิทธิประจำตัวในการป้องกันตนเองโดยลำพังตน หรือโดยร่วมกัน หากการโจมตีโดยกำลังอาวุธบังเกิดแก่สมาชิกของสหประชาชาติ จนกว่าคณะมนตรีความมั่นคงจะได้ดำเนินมาตรการ ที่จำเป็นเพื่อธำรงไว้ซึ่ง สันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ มาตรการที่สมาชิกได้ดำเนินไปในการใช้สิทธิป้องกันตนเองนี้ จักต้องรายงานให้คณะมนตรีความมั่นคงทราบโดยทันที และจักไม่กระทบกระเทือนอำนาจและความรับผิดชอบของคณะมนตรีความมั่นคงภายใต้กฎบัตรฉบับปัจจุบันแต่ทางหนึ่งทางใด ในอันที่จักดำเนินการเช่นที่เห็นจำเป็นเพื่อธำรงไว้หรือสถาปนากลับคืน มาซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศในขณะหนึ่งขณะใด”

หากนักการเมืองและข้าราชการไม่สนใจที่จะแก้ไขปัญหาก็คงจะโดนประชาชนดำเนินคดีในความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายนอกราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 119 ซึ่งบัญญัติเอาไว้ว่า:

“ผู้ใดกระทำการใดๆ เพื่อให้ราชอาณาจักรหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักรตกไปอยู่ใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐต่างประเทศ หรือเพื่อให้เอกราชของรัฐเสื่อมเสียไป…

ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต!
กำลังโหลดความคิดเห็น