xs
xsm
sm
md
lg

แผนที่อุบาทว์ 1 ต่อ 200,000 ! หลักฐานในรอบ 10 ปี กับความล้มเหลวของรัฐบาลไทย คิดแบบ “คนขี้แพ้เขมร”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ นักวิชาการสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายผู้ติดตามสถานการณ์ปราสาทเขาพระวิหาร ยื่นหนังสือและรายชื่อประชาชนผ่านศูนย์รับเรื่องประชาชน ทำเนียบรัฐบาล ถึงนายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 ต.ค.52  เพื่อขอให้ยกเลิก เพิกถอน มติรัฐสภาเมื่อวันที่ 28 ต.ค.51 ที่รับรองกรอบเจรจาไทย-กัมพูชา ตามแผนแม่บทที่ทำไว้เมื่อปี พ.ศ.2546 เรื่องการใช้แผนที่ 1:200,000 ต่อเรื่องเขตแดนและสถานการณ์ปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา
"ณ บ้านพระอาทิตย์"
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2502 (ค.ศ. 1959) กัมพูชาได้ยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีปราสาทพระวิหาร โดยกัมพูชาได้พยายามให้ศาลพิพากษารับรองแผนที่ที่ทำขึ้นโดยฝรั่งเศสตามสนธิสัญญาปี พ.ศ. 2450 (ค.ศ. 1907) ซึ่งเป็นแผนที่ 1 ต่อ 200,000 อยู่ในภาคผนวก 1 ท้ายคำฟ้องของกัมพูชาว่าเป็นแผนที่ที่ทำขึ้นถูกต้องตามสนธิสัญญาปักปันเขตแดนปี พ.ศ. 2447 (ค.ศ. 1904) และมีลักษณะเป็นสนธิสัญญา และยังขอให้ศาลพิพากษาเส้นเขตแดนระหว่างกัมพูชากับไทยตามแผนที่ดังกล่าวอีกด้วย

15 มิถุนายน 2505 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ตัดสินจากพฤติการณ์นิ่งของฝ่ายไทยที่มิได้ประท้วงความไม่ถูกต้องของแผนที่ตามหลักกฎหมายปิดปาก (Estoppel) พิพากษาเฉพาะตัวปราสาทพระวิหารว่าอยู่บนอธิปไตยของกัมพูชา พร้อมๆ กับให้ประเทศไทยมีพันธะต้องถอนทหารหรือตำรวจออกจากพื้นที่ และคืนวัตถุโบราณให้กับกัมพูชา

แต่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศไม่ได้พิพากษาทั้งแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 ท้ายคำฟ้องและเส้นเขตแดนตามที่กัมพูชาร้องขอแต่ประการใด !

เพราะถ้าเกิดว่าในเวลานั้น ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเกิดพิพากษาแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 และพิพากษาเส้นเขตแดนตามที่กัมพูชาร้องขอ ประเทศไทยคงไม่ได้สูญเสียเพียงแค่ ตัวปราสาทพระวิหารเท่านั้น แต่จะสูญเสียพื้นที่ตามแผนที่นับแสนไร่ตั้งแต่ จังหวัด ศรีสะเกษ, บุรีรัมย์, อุบลราชธานี และ สุรินทร์

รัฐบาลไทยจึงไม่เคยยอมรับแผนที่อัตราส่วน 1 ต่อ 200,000 อยู่แล้ว แม้แต่ตัวปราสาทพระวิหารก็ยังได้ประท้วงคำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศและสงวนสิทธิในการต่อสู้ในอนาคตเอาไว้แล้วตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2505

ไม่มีใครนึก และไม่มีใครรับรู้มาก่อนว่าแผนที่ 1 ต่อ 200,000 จะกลับมาผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาลไทยและรัฐสภาไทยช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา

ไม่ว่าจะเป็นบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชา ที่จัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2543 ในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ชุดที่ 2 (MOU ปี 2543)

ไม่ว่าจะเป็นแผนแม่บทและข้อกำหนดหน้าที่ของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (TOR ปี 2546) ซึ่งจัดทำขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2546 ซึ่งเขียนเอาไว้อย่างชัดเจนว่าให้ทำตามแผนที่มาตราส่วน 1:200,000

ไม่ว่าจะเป็นแผนที่และเอกสารประกอบกรอบการเจรจาระหว่างไทย-กัมพูชา ที่เกิดขึ้นสมัยรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่ง สมาชิกรัฐสภาเสียงข้างมากทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลได้เห็นชอบกับกรอบการเจรจาดังกล่าว เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2551

และล่าสุดก็ไม่เว้นแม้แต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะโดย นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เสนอร่างข้อตกลงชั่วคราวระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชากับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยเพื่อขอความเห็นชอบจากรัฐสภาซึ่งยืนยันเอกสารประกอบและแผนที่ดังกล่าวด้วย

ที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้แสดงความหวาดกลัวกัมพูชาเกินไป ส่วนหนึ่งมาจากความคิดและอิทธิพลที่ส่งต่อโดยตรงมาจากข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศระดับสูงจำนวนหนึ่ง ซึ่งได้ข่มขู่ให้รัฐบาลหวาดกลัวต่อคำพิพากษาของศาลยุติธรรมเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505

ส่งสัญญาณข่มขู่ว่าถ้ามีข้อพิพาทกันอีกครั้งกัมพูชาจะนำเรื่องแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศอีกครั้ง เมื่อถึงเวลานั้นฝ่ายไทยจะเสียเปรียบและจะแพ้มากกว่านี้

ส่งสัญญาณข่มขู่อีกว่าอย่าให้มีการปะทะกันเด็ดขาดระหว่างไทย-กัมพูชา เพราะต้องระวังว่ารัฐบาลกัมพูชาจะยื่นเรื่องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เข้ามาเป็นคนกลางในการพิจารณาแทรกแซง
เพราะมีคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศอยู่แล้ว และฝ่ายไทยจะเสียเปรียบและจะแพ้มากยิ่งกว่าที่เป็นอยู่นี้

ทั้งสองสัญญาณข้างต้นนั้นมีความต้องการให้รัฐบาลไทยได้ตระหนักว่า “ให้ยอมกัมพูชาเสียเท่าที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ ดีกว่าเสียดินแดนมากกว่านี้ให้กัมพูชาในวันหน้า”

ด้วยสัญญาณข่มขู่จากกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผลทำให้ไทยอยู่ในสภาพคนขี้แพ้เขมร ที่ต้องยอมทุกอย่างจนไม่รู้ว่ายอมแล้วจะดีกับประเทศไทยได้อย่างไร

ถึงขนาดยอมให้พื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร, วัดแก้วสิขะคีรีสวารา ภูมะเขือ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร (3,000 ไร่) ถูกฝ่ายกัมพูชารุกล้ำและยึดครองและขยายชุมชนและสิ่งปลูกสร้างอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีการผลักดันแต่ประการใด เป็นเขตหวงห้ามสำหรับคนไทย และไม่มีแม้แต่ธงชาติไทยที่แสดงความเป็นเจ้าของดินแดนไทยในพื้นที่ดังกล่าว

และสุดท้ายถึงขนาดให้ยอมรับแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ในการเจรจาปักปันเขตแดนระหว่าง ไทย-กัมพูชา ! ...แล้วฝ่ายไทยจะยังเหลืออะไรอีก ?

จึงต้องตั้งคำถามว่ารัฐบาลไทยและกระทรวงการต่างประเทศของไทยกำลังติดกับดักความกลัวของตัวเองมากเกินไปหรือไม่?

เพราะการขึ้นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หากประเทศใดประเทศหนึ่งไม่ยินยอมขึ้นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ก็ไม่มีใครในโลกที่จะไปบังคับได้ ยกเว้นว่าไทยจะแกล้งโง่ยินยอมขึ้นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเองอีกครั้ง

และการวิตกกังวลว่าหากมีการปะทะเรื่องจะถูกร้องเรียนไปที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาตินั้น ก็ลองคิดดูเอาเถิดว่าเรื่องแบบนี้หากทำได้จริงกัมพูชาคงทำไปนานแล้ว เพราะไทย-กัมพูชาได้เคยปะทะกันหลายครั้งตั้งแต่ปี 2505 แม้กัมพูชาได้เคยพยายามยื่นร้องขอต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติก็ไม่เคยประสบผลสำเร็จแม้แต่ครั้งเดียว ไม่เว้นแม้แต่ปลายเดือนกรกฎาคม 2551 ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเช่นเดียวกัน เพราะคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ โดยเฉพาะ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน และฝรั่งเศส ต่างเห็นว่าเป็นเรื่องพิพาทกันระหว่าง 2 ประเทศ ที่ต้องเจรจาตกลงกันเอง

เพราะกรณีนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องร้ายแรงประเภท การล้างฆ่าเผ่าพันธุ์ หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือ เป็นภัยร้ายแรงต่อนานาชาติเพราะมีอาวุธนิวเคลียร์ ที่ต้องอาศัยองค์การสหประชาชาติเข้ามาแทรกแซง แต่เป็นการพิพาทกันตามตะเข็บชายแดนของ 2 ประเทศ ซึ่งมีปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นได้ทั่วโลกเป็นปกติ ดังปรากฏอยู่ในกฎบัตรสหประชาชาติมาตรา 51 ซึ่งระบุเอาไว้ว่า

“ไม่มีข้อความใดในกฎบัตรฉบับปัจจุบันอันจักรอนสิทธิประจำตัวในการป้องกันตนเองโดยลำพังตน หรือโดยร่วมกัน หากการโจมตีโดยกำลังอาวุธบังเกิดแก่สมาชิกของสหประชาชาติ จนกว่าคณะมนตรีความมั่นคงจะได้ดำเนินมาตรการ ที่จำเป็นเพื่อธำรงไว้ซึ่ง สันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ
มาตรการที่สมาชิกได้ดำเนินไปในการใช้สิทธิป้องกันตนเองนี้ จักต้องรายงานให้คณะมนตรีความมั่นคงทราบโดยทันที และจักไม่กระทบกระเทือนอำนาจและความรับผิดชอบของคณะมนตรีความมั่นคงภายใต้กฎบัตรฉบับปัจจุบันแต่ทางหนึ่งทางใด ในอันที่จักดำเนินการเช่นที่เห็นจำเป็นเพื่อธำรงไว้หรือสถาปนากลับคืน มาซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศในขณะหนึ่งขณะใด”

ดังนั้นกระทรวงการต่างประเทศของไทยจึงไม่ควรแสดงความหวาดกลัว จนยินยอมเสียดินแดนแบบคนขี้แพ้ให้กับกัมพูชาตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาเช่นนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น