ยะลา - สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย สาขา หาดใหญ่ (สรส.รฟท.) เรียกสมาชิกในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชุมด่วนเพื่อหาแนวทางปกป้องการรถไฟฯ หลังคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบแผนฟื้นฟูองค์กรของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
ภายหลังจากการประชุมของคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบแผนฟื้นฟูองค์กรของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยนายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้เสนอของบประมาณการตั้งบริษัทลูก เพื่อขอเงินมาลงทุนหมุนเวียนวงเงิน 560 ล้านบาท ทางสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สรส.รฟท.) ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ร่วมปกป้องรักษาผลประโยชน์ของการรถไฟฯ ภายหลังจากที่ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2552 เรื่องขอให้ระงับแผนฟื้นฟูการรถไฟฯ เข้าพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรี
วันนี้ (10 มิ.ย.) ที่ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารสถานีรถไฟยะลา อ.เมือง จ.ยะลา นายวิรุฬห์ สะแกคุ้ม รองประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สรส.รฟท.) สาขาหาดใหญ่ ได้เรียกสมาชิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟฯ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กว่า 30 คน ประชุมชี้แจง เพื่อหาข้อตกลงในการปฏิบัติงานของพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ต้องได้รับผลกระทบจาก มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2550 ข้อ 18 ความว่า
”ในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กรของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งแผนการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในครั้งนี้ ยังไม่มีความชัดเจนในการส่งเสริมการขนส่งทางรางตามนโยบายแห่งรัฐ ในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2550 และไม่เป็นไปตามข้อตกลงสภาพการจ้างระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย กับ ทางสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย “ในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กรของการรถไฟแห่งประเทศไทย ต้องทำความตกลงกับสหภาพแรงงานรถไฟฯ ก่อนทุกกรณี”
ประกอบกับการดำเนินงานดังกล่าวมีลักษณะเร่งรีบไม่โปร่งใส โดยเฉพาะการตั้งบริษัทลูก ซึ่งจะทำให้นิติสัมพันธ์ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัทที่เกิดขึ้นใหม่ขาดจากกัน มีผลกระทบต่อประเทศชาติ ประชาชน และ พนักงานในที่สุด”
นายวิรุฬห์ สะแกคุ้ม รองประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สรส.รฟท.) สาขาหาดใหญ่ จ.สงขลา กล่าวว่า ตนเอง และทีมงานลงมาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในครั้งนี้ มาประชุมชี้แจงเกี่ยวกับข้อตกลงในการปฏิบัติงานของพนักงานการรถไฟฯในพื้นที่
ที่สำคัญในส่วนของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟ สาขาหาดใหญ่ ได้รับมอบหมายจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟฯส่วนกลางให้มาชี้แจงในประเด็นผลกระทบที่มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2552 ที่จะให้การรถไฟแห่งประเทศไทยแยกออกเป็น 2 บริษัท ซึ่งจะมีผลกระทบต่อประชาชนในภายภาคหน้า และที่สำคัญเกี่ยวกับสวัสดิ์ภาพของพนักงานการรถไฟฯ
ทั้งนี้การรถไฟฯได้เข้าในมติคณะรัฐมนตรี ไม่ได้ทำการตกลงกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย ก่อน ซึ่งทางการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้มีข้อตกลงร่วมกันกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟ ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมาย ได้จดทะเบียนกับกระทรวงแรงงาน แล้วว่า
กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของการรถไฟฯ การรถไฟฯต้องตกลงกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟฯ ทุกๆ กรณี ซึ่งที่ออกมาชี้แจงในครั้งนี้ เพื่อให้พนักงานของการรถไฟ ฯ ให้เล็งเห็นถึงประกระทบ และสามารถชี้แจงกับประชาชนได้ว่า ในภายภาคหน้าผลกระทบจะตกอยู่กับพี่น้องประชาชนอย่างแน่นอน เพราะรูปแบบของบริษัท ไม่ได้แก้ปัญหาในเรื่องของการมีประสิทธิภาพ แต่จะเน้นในเรื่องของผลกำไร เพราะบริษัท ไม่ใช่องค์กรทางการกุศล เป้าหมายคือ การได้ผลกำไรสูงสุด เพียงอย่างเดียว สำหรับการแก้ปัญหาเบื้องต้นนั้น ไม่จำเป็นที่ต้องมีการปรับปรุง แต่น่าที่จะสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือมากกว่า
โดยการแยกบัญชีของการรถไฟฯ ทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น บขส.ก็ไม่ได้สร้างถนนเอง ซึ่งรัฐเป็นผู้แบกภาระ การรถไฟก็เช่นเดียวกันทางรัฐก็ควรเข้ามาแบกภาระในช่วงของโครงสร้างพื้นฐานโดยตัดจากต้นทุนออกไป ควรเข้ามาปรับปรุงขนาดของเส้นทางให้มีมาตรฐาน คือขนาด 1.435 ซึ่งเป็นมาตรฐานทั่วโลก และสามารถให้บริการกับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป